Athena Pheromone ทางเลือกใหม่ของสาววัยทอง

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2548

48-7-1

สุทธิพงษ์ พงษ์วร

                    คงไม่มีสาวโสด (โดยไม่ตั้งใจ) วัย 40 คนไหนจะคาดคิด ว่าวิทยาศาสตร์จะทำให้โอกาสของความน่าจะเป็นในการมีชีวิตคู่เพิ่มขึ้นได้ขนาดนี้ จุดเริ่มต้นของงานวิจัยก็คือความสงสัย อันนี้ทุกคนก็รู้ๆ กันอยู่ จากนั้นความสงสัยนี่แหล่ะก็จะทำให้เกิดคำถาม และสำหรับคำถามของงานวิจัยในเรื่องนี้มันเริ่มมาจากความจริงที่ปรากฏต่อสายตาเราๆ ท่านๆ ก็คือ… หญิงสาวมีแรงดึงดูดทางเพศมากกว่าหญิงที่หมดประจำเดือน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเข้าวัยชราตอนต้นกันแล้ว) ก็เนื่องมาจากฟีโรโมนในตัวที่มีอยู่แล้วถ้าเราสกัดเอาฟีโรโมนจากตัวหญิงสาวที่มีแรงดึงดูดทางเพศสูงๆ มาใช้กับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน มันจะมีผลสร้างแรงดึงดูดทางเพศให้กับเพศชายเพิ่มขึ้นไหม? 

                    ฟีโรโมนเอเทนา (Athena Pheromone) – ในปี 1986 นักวิทยาศาสตร์พบว่าฟีโรโมนของมนุษย์ก็มีผลต่อการครองชีวิตคู่และอยู่รวมกันของหญิงชาย เหมือนกับฟีโรโมนในสัตว์อื่นๆ เช่นกัน พอปี 1993 ก็สังเคระห์ฟีโรโมนเอเทนา (Athena Pheromone 10:13) ได้ในห้องทดลอง และสร้างสูตรสำหรับการนำไปผสมในเครื่องสำอางของผู้หญิงพร้อมวางขาย และในปีต่อมา เพื่อไม่ให้น้อยหน้ากันฟีโรโมนเอเทนาสำหรับผู้ชายก็ถูกนำมาใช้เช่นกันในชื่อว่า “Athena Pheromone 10X ” โดยนำเอาไปผสมในผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ทาหลังการโกนหนวด และก็ทำการวิจัยและทดลองใช้มาเรื่อยๆ โดยในระยะแรกของการทำวิจัยในเรื่องผลิตภัณฑ์และการตลาดจะจับกลุ่มเป้าหมายไปที่คนหนุ่มสาวเท่านั้น 

                    ต่อมา คุณ Joan Friebely นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และ Susan Rako เพื่อนร่วมงานก็ได้นำสารสกัดฟีโรโมนที่เรียกว่า “Athena Pheromone 10:13tm” ซึ่งสกัดได้จากต่อมเหงื่อใต้รักแร้หญิงสาว นำมาผสมกับน้ำหอม และนำมาทดลองใช้กับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 44 คน โดยจะนำเอาฟีโรโมนไปผสมกับน้ำหอมของคน 22 คน และอีก 22 คน จะได้รับสารที่เป็นตัวหลอกว่าเป็นฟีโรโมน โดยทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้วิจัยหรือหญิงวัยหมดประจำเดือนที่เข้ามาร่วมทดลองในครั้งนี้จะไม่มีใครรู้เลยว่าใครบ้างที่ได้รับฟีโรโมนไป จนกว่าผลการทำลองจะเสร็จสิ้น

48-7-2

                    เมื่อ 6 อาทิตย์ผ่านไป ไดอารี่ของผู้หญิงวันหมดประจำเดือนทั้งหมดก็จะถูกนำมาวิเคราะห์ พบว่า 41 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ใช้ฟีโรโมนมีความรู้สึกถึงความต้องการทางเพศของสามีที่มีมากขึ้น มีการจูบกันมากขึ้น แต่กลุ่มที่ไม่ได้ใช้ฟีโรโมนได้ผลในเชิงบวกเพียงแต่ 14 เปอร์เซ็นต์ แล้วพอมาดูภาพรวมในทุกๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นการนัดเที่ยว และรวมไปถึงการมีกิจกรรมอย่างว่าไปด้วย พบว่า 68 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ใช้ฟีโรโมนมีรายงานถึงในเรื่องดังกล่าว และกลุ่มที่ใช้สารหลอกมีรายงานเพียงแค่ 41 เปอร์เซ็นต์ 

                    ถ้าใครอยากรู้ว่า Athena Pheromone มีสูตรโครงสร้างอย่างไร ก็คงต้องรอกันไปก่อน เพราะเจ้าของสูตรเขายังไม่ยอมเปิดเผยเรื่องนี้ จนกว่าทางสถาบันวิจัยเอเทนาเขาจะขายสิทธิบัตรนี้ได้ ดังนั้นทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า สารนี้คืออะไร และมีโครงสร้างเป็นอย่างไร ถูกใส่ผสมไปในเครื่องสำอางหรือน้ำหอมในปริมาณเท่าใด ฟังๆ ดูแล้วก็ทำให้คิดถึงน้ำมันพรายของไทยเรา หรือว่าจะเป็นสารตัวเดียวกัน คุณผู้อ่านว่าไหม 

 

แปลและเรียบเรียงจาก 

1. NewScientist. 29 Jan. 2005, No.2484. หน้า 17 
2. Athena Institute–Athena Pheromones, Books and Biomedical Research. (Online). 
    Available : http://www.athenainstitute.com/ (Retrieved 18/04/05)
 

Last updated 12/22/2009 17:35:22 

 2,752 total views,  1 views today