วิกฤต”แล้ง” วันน้ำโลก

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2548

48-5-1

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

                    วันที่ 22 มีนาคม เป็นวัน “น้ำ” โลก ผมจำได้ว่า เรื่อง “การขาดแคลนน้ำ” เป็นประเด็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่พูดกันมาตั้งแต่ปี 2545 ทั้งในที่ประชุม World Summit ที่นครโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ และในปี 2546 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ว่า “Water – Two Billion People are Dying for It”เพราะทั้งองค์กรสหประชาชาติ และองค์กรอนามัยโลก ได้คาดการณ์ว่า ภายในกลางศตวรรษนี้ ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ ก็คือเรื่องการคลาดแคลนน้ำ ได้มีการประเมินว่า หากปัญหาขาดแคลนน้ำไม่รุนแรงนัก จะมีประชากรโลกประสบปัญหานี้กว่า 2 พันล้านคนใน 40 ประเทศ แต่หากปัญหารุนแรงและขยายวงกว้างออกไป ภาวะขาดแคลนน้ำอาจเกิดขึ้นกับประชากรกว่า 7 พันล้านคนใน 60 ประเทศ

48-5-2

                    ดังนั้น ปัญหาภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ที่จริงก็คือส่วนหนึ่งของปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกนั่นเอง 
 

                    กว่า 40 ปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำของไทยก็ย่ำอยู่กับวิธีการทางวิศวกรรมศาสตร์ด้วยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล พร้อมกับที่มีเสียงคัดค้าน และสาปแช่งจากครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างที่ผ่านๆ มา เพราะจนถึงเวลานี้ชีวิตของผู้ถูกบังคับให้เสียสละ ยังหาที่ทำกินใหม่ไม่ได้ก็มี บ้างก็ยังหาวิธีจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมไม่ได้ 
                    
                    ผมเคยตั้งคำถามว่า “เรากำลังทำโจทย์ผิดข้อหรือเปล่า?” 
                    เพราะคำถามว่า “หาน้ำอย่างไรให้พอใช้?” กับคำถามว่า “ใช้น้ำที่มีอย่างไรให้เพียงพอ?” 

                    มีคำตอบที่ต่างกัน ทำนองเดียวกับที่ต้องเข้าใจว่า “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ” เป็นคนละเรื่องกับ “การจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำ” และทั้งสองเรื่องก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำ” ซึ่งหมายถึงการบริหารจัดการเชิงระบบนิเวศ และการบูรณาการเชิงพื้นที่ (Integrated area approach) ที่ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำเป็นขอบเขต 

                    การทำโจทย์ถูกข้อ หรือการมองให้ออกว่าเรื่องใดเป็นหลัก เรื่องใดเป็นรอง รวมทั้งการจัดลำดับว่าจะทำโจทย์ข้อไหนก่อน แล้วจึงค่อยทำโจทย์อีกข้อทีหลัง คือการกำหนดนโยบายบนฐานความรู้ หรือ Knowledge based policy 

                    ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องกลับมาทบทวนความคิดหลักในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง และต้องยอมรับความจริงว่า การแก้ปัญหานี้ไม่ง่าย ต้องใช้เวลา ต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน แต่หากไม่เริ่มทำวันนี้ แล้วใช้เพียงวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นรายปี ปัญหาจะยิ่งขยายวงกว้างขึ้น และแก้ยากขึ้น

48-5-3

                    ยกตัวอย่าง เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผมไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ทราบว่า น้ำตกเหวสุวัตและน้ำตกเหวนรก ซึ่งเป็นต้นน้ำลำพระเพลิง แห้งขอดเมื่อเข้าหน้าแล้งมา 2 ปี ติดต่อกันแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้น้ำตกทั้งสองแห่งจะมีน้ำไหลตลอดปีแม้ในหน้าแล้ง ผมจึงไม่สงสัยว่า ทำไมปีนี้อ่างเก็บน้ำที่เขื่อนลำตะคองจึงไม่มีน้ำเช่นกัน 
 
                    สิ่งที่นักนิเวศวิทยาสามารถอธิบายได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือ ภายในลุ่มน้ำเดียวกัน เมื่อใดที่ยังคงมีน้ำไหลอยู่ตามลำห้วย ลำธาร หรือแม่น้ำ ก็คือปรากฏการณ์ที่แสดงว่าระดับน้ำใต้ดินอยู่สูงกว่าระดับผิวดินนั่นเอง เพราะไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน น้ำใต้ผิวดิน หรือน้ำบาดาล โดยทั่วไปก็คือแอ่งน้ำเดียวกันในลุ่มน้ำเดียวกัน ดังนั้น การขยายตัวของเมือง รีสอร์ต อุตสาหกรรม รวมทั้งพื้นที่เกษตรจำนวนมาก รอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ต่างก็สูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้โดยไร้ขอบเขต และเกินกว่าศักยภาพของป่าเขาใหญ่จะดูซับน้ำลงไปทดแทนได้ทัน น้ำตกก็แห้ง อ่างเก็บน้ำก็ไม่เหลือน้ำให้เก็บ ปรากฎการณ์อย่างนี้พบได้ทั่วไปในเขตเศรษฐกิจทั่วประเทศ ยังไม่นับถึงปัญหาการแย่งชิงน้ำผิวดินของชาวบ้าน เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว 

                    และหากพื้นที่นั้นมีความซับซ้อนของปัญหามากกว่านี้ เช่น ความเกี่ยวพันกับน้ำจืด-น้ำเค็ม ชั้นเกลือใต้ดิน และสภาพทางธรณีวิทยา การแก้ปัญหาก็จะยิ่งซับซ้อน และไม่ง่าย ลำพังความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์แม้จะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาระบบนิเวศได้อย่างเบ็ดเสร็จ อันที่จริงยังมีรูปธรรมของความผิดพลาดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกมาก 

                    อย่างไรก็ตาม สูตรสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเชิงระบบนิเวศ ในประเทศไทยก็ยังไม่เคยมีเช่นกัน ดังนั้น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอให้ใช้ ลุ่มน้ำแม่ปิง เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อบูรณาการการจัดการเชิงพื้นที่ (Area integrated management) เพราะลุ่มน้ำแม่ปิงเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ มีสภาพปัญหาครอบคลุมเกือบครบทุกปัญหา แต่พร้อมกันนั้น ก็ยังเป็นพื้นที่ที่คนลุ่มน้ำมีศักยภาพสูงมากเช่นกัน ทั้งคนของรัฐที่อยู่ส่วนต้นน้ำ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มีภูมิปัญญาล้านนาที่สั่งสมองค์ความรู้ในการจัดการน้ำมาตั้งแต่สมัยพระยาเม็งราย รวมทั้งมีองค์กรชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทั่วโลกยอมรับ ปัญหาคือที่ผ่านมาเราไม่เคยมีเวทีให้บุคคลเหล่านี้ได้ใช้ศักยภาพที่แต่ละส่วนมีอยู่มาใช้แก้ปัญหาร่วมกัน 

                    กระบวนการจัดทำแผนแม่บทการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือสร้างความร่วมมือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เพราะทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องมาตั้งแต่ต้น รวมทั้ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เคยไปร่วมประกาศเจตนารมณ์กับคนลุ่มน้ำปิงมาแล้ว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2546


                    แม้เวลาจะผ่านมากว่าปี โดยที่ภาครัฐยังไม่ได้ขยับไปไหนเลย แต่ภาคประชาชนคนลุ่มน้ำปิงที่ถูกปลุกให้ตื่นตัว ก็ยังคาดหวังและรอคอยการสานต่อกิจกรรมร่วมกับภาครัฐ 

                    หากกระบวนการที่ลุ่มน้ำปิงขับเคลื่อนได้ ทำไมลุ่มน้ำอื่นจะทำไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะทำหรือไม่เท่านั้นเอง

 

เอกสารอ้างอิง 

ที่มา  : ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้า 10 วันพุธที่ 23 มีนาคม 2548 
ภาพประกอบ : สุทธิพงษ์ พงษ์วร สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 

Last updated 12/22/2009 18:34:59 

 1,532 total views,  1 views today