เร่งเพาะพันธุ์ไส้เดือนดิน ให้เทศบาลกำจัดขยะ

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2548

48-2-1

เรื่อง: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน

                    เร่งเพาะพันธุ์ ‘ไส้เดือนดิน’ ให้เทศบาลกำจัดขยะ เผย ‘อียู-จีน’ ฮิตซื้อทำยานักวิชาการหันมาค้นคว้า ‘ไส้เดือน’ หวังลุยตลาดโลก เผย ‘อียู-จีน’ รับซื้อทำยาบำรุง รักษาโรคหัวใจ กิโลกรัมละ 350 บาท ระบุคุณประโยชน์มหาศาล และบ่งชี้ชัดว่ายังเป็นตัวกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพสูง 

                    เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2547 ดร. อาณัฐ ตันโช อาจารย์ภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการหลวง และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำโครงการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนจากขยะชุมชนที่ย่อยสลายได้ กล่าวว่า จากการทำโครงการนี้ ทำให้ได้ศึกษาพฤติกรรมการดำรงชีวิตของไส้เดือนดิน พบว่าสัตว์ชนิดนี้มีคุณประโยชน์มหาศาล คือ สามารถกำจัดขยะที่ย่อยสลายได้ โดยเฉพาะเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ หรือแม้กระทั่งกระดาษชำระและหนังสือพิมพ์ ได้เร็วที่สุดในโลก โดยไส้เดือน 1 กิโลกรัม หรือประมาณ 1,200 ตัว จะกำจัดขยะ 1 กิโลกรัม ได้ภายในเวลา 4 วัน ขยะจะถูกย่อยสลายโดยการดูดกินของไส้เดือน และไส้เดือนจะถ่ายออกมากลายเป็นปุ๋ยหมัก ที่นำไปบำรุงรักษาต้นไม้ได้อีกต่อหนึ่ง ทั้งนี้ขยะ 100 กิโลกรัมจะถูกไส้เดือนดูดกินเหลือออกมาเป็นปุ๋ยได้ถึง 70 กิโลกรัม ในขณะที่การใช้วิธีอื่นเพื่อกำจัดขยะประเภทนี้ต้องใช้เวลานานกว่านี้มาก บางวิธียังส่งผลข้างเคียง เช่น เกิดมลภาวะ มีกลิ่นเหม็นอีกด้วย

 48-2-2


                    “วิธีการที่ทำคือเอาดินที่มีไส้เดือนอาศัยอยู่ ใส่ลงไปในวัสดุที่หาได้โดยทั่วไป แล้วเอาเศษผัก ผลไม้ เศษอาหารใส่ลงไป ไส้เดือนจะดูดกินขยะเหล่านี้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และจะได้ปุ๋ยหมักคุณภาพดีอีกด้วย ที่สำคัญคือ ระหว่างการทำงานของไส้เดือนนั้นจะไม่มีการส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และทำลายบรรยากาศรอบข้างเลย” ดร. อาณัฐ กล่าว

48-2-3

                    ดร. อาณัฐ กล่าวอีกว่า หลักการทำงานดังกล่าวนี้ กำลังได้รับความสนใจจากเทศบาลต่างๆ ทั่วประเทศ และได้เดินทางมาดูงานที่มหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมนำหลักการนี้ไปใช้ในพื้นที่ตัวเองจำนวนมาก เพราะหลายพื้นที่กำลังมีปัญหาเรื่องขยะล้นเมือง แต่จากปัญหามลภาวะที่เป็นผลมาจากการดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณไส้เดือนในประเทศลดจำนวนลง ขณะนี้จึงได้คิดเพาะพันธุ์ไส้เดือนเพิ่มมากขึ้น พันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณภาพดีที่สุดดูดกินเก่งที่สุดเวลานี้ คือ พันธุ์คิตะแร่ อย่างไรก็ตามได้สั่งไส้เดือนที่ดูดกินเก่งอีก 8 สายพันธุ์ จากต่างประเทศเข้ามาเพื่อทดลองเลี้ยงและปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้การทำงานด้านนี้มีประสิทธิภาพดีขึ้นแล้ว คาดว่าจะเริ่มประมาณต้นปีหน้า 

 
                    “ไส้เดือนอาจจะเป็นสัตว์ที่หลายคนรังเกียจ เพราะรูปร่างหน้าตา แต่ความจริงแล้วเขามีประโยชน์ต่อแผ่นดินอย่างมาก โดยพื้นฐานแล้วไส้เดือนจะเป็นตัวดัชนีวัดคุณภาพของดิน ที่ใดที่มีไส้เดือนมาก แสดงว่าบริเวณนั้นดินดี อุดมสมบูรณ์ และล่าสุดตำราการแพทย์จากต่างประเทศมีงานวิจัยออกมาชัดเจนว่า ไส้เดือนมีสารเคมีบางชนิดช่วยในการรักษาโรคหัวใจ ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น ส่วนตามตำรายาจีนระบุว่าไส้เดือนเป็นอาหารที่ใช้บำรุงกำลัง แก้โรคช้ำใน คนจีนจะกินไส้เดือนที่ปรุงสำเร็จตามสูตรแล้ว เป็นอาหารเช้าคู่กับน้ำเต้าหู้ ทั้งนี้ตามหลักการแล้ว เนื้อไส้เดือนก็คือโปรตีนอย่างหนึ่งนั่นเอง ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวคนไทยกินไส้เดือนผมก็ติดตามข่าวนี้พบว่าจากการตรวจร่างกายของคนคนนั้น เขาก็ไม่ได้เป็นอะไรแข็งแรงดี ร่างกายก็ไม่มีเชื้อโรคหรือเชื้อพยาธิแต่อย่างไร” ดร. อาณัฐกล่าว 

                    ดร.อาณัฐกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนี้หลายประเทศเริ่มทำอุตสาหกรรมเพาะพันธุ์ไส้เดือนเพื่อส่งออกอย่างจริงจังขณะนี้ไส้เดือนมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 350 บาท จุดประสงค์หลักการนำเข้า คือ เพื่อผลิตปุ๋ยหมักจากมูล เพื่อทำอาหาร และเพื่อผลิตยา ประเทศที่นำเข้าไส้เดือนมากที่สุดคือกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศจีน ส่วนประเทศที่ส่งออกไส้เดือนมากที่สุดคือประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะประเทศนี้ใช้เทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ไส้เดือนทำให้มีคุณสมบัติในการดูดกินเศษอาหารมากว่าไส้เดือนพันธุ์อื่น รองลงมาคืออินเดียและประเทศไทย สำหรับประเทศไทยนั้น หลายพื้นที่หันมาเพาะพันธุ์ไส้เดือนเพื่อส่งออกโดยเฉพาะที่จังหวัดนครพนม จังหวัดอุบลราชธานี ทางภาควิชาทรัพยากรดินฯ แม่โจ้ กำลังหาวิธีการเพื่อขยายและปรับปรุงพันธุ์ไส้เดือน เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ และใช้ในการลดปริมาณขยะและแปลงสภาพเป็นปุ๋ยให้ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะยังไม่ได้ใช้วิธีตัดต่อพันธุกรรมอย่างเด็ดขาด เพราะยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ … 
 

เอกสารอ้างอิง 

บอกเล่าเรื่องราว – หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2547 
ภาพประกอบ – สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 

 

 
Last updated 12/22/2009 19:09:01 

 2,537 total views,  1 views today