สรีรวิทยากับออฟฟิศซินโดรม (Physiology and office syndrome)

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ ครู, ชีววิทยา, นักเรียน, บทความปี 2560, บุคคลทั่วไป, วิทยาศาสตร์

สรีรวิทยากับออฟฟิศซินโดรม       

(Physiology and Office syndrome)

นางสาวสุดาวดี ยศอาลัย

                 ออฟฟิศซินโดรม คือ กลุ่มอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่ไม่เหมาะสมในท่าใดท่าหนึ่งซ้ำๆ เป็นเวลานาน ทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น หรือเส้นประสาท ส่งผลให้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้อรัง และอาจส่งผลให้มีความผิดปกติของร่างกายส่วนอื่นๆ ร่วมด้วย ออฟฟิศซินโดรมอาจมีชื่อเรียกอื่นตามสาเหตุของโรค เช่น คอมพิวเตอร์ซินโดรม (Computer syndrome) หรือ ไอแพดซินโดรม (Ipad syndrome) กลุ่มอาการปวดที่พบได้บ่อยได้แก่

1. การกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) มักมีสาเหตุมาจากการใช้แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ และเม้าส์ ในการทำงานเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณข้อมือ ทำให้ช่องทางที่เส้นประสาทและเส้นเอ็นผ่านเข้าสู่มือเกิดการตีบแคบและกดทับเส้นประสาท median nerve ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ผ่านบริเวณข้อมือ ทำให้เกิดความรู้สึกปวดหรือชาบริเวณฝ่ามือ นิ้วโป้ง ชี้ กลาง และนิ้วนางครึ่งซีก เกิดอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อฝ่ามือ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วโป้ง ทำให้กำมือไม่แน่น 

2. การกดรัดเส้นประสาทและหลอดเลือด บริเวณทางออกทรวงอก (Thoracic outlet syndrome) ทางออกทรวงอก (Thoracic outlet) หมายถึง ทางผ่านเข้าออกของหลอดเลือดและเส้นประสาท ซึ่งอยู่บริเวณระหว่างคอและไหล่ เหนือทรวงอกและใต้กระดูกไหปลาร้า การเคลื่อนไหวของข้อไหล่และแขนต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือการยกแขนลักษณะยกแขนเหนือศีรษะ จนเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณดังกล่าวซ้ำๆ เช่น พนักงานจัดเรียงสินค้า เป็นต้น การกดทับดังกล่าวทำให้เกิดการบีบรัดหลอดเลือดแดงและดำ (Subclavian artery และ vein) และร่างแหเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขน (Brachial plexus) ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณหัวไหล่ คอ และแขน ร่วมกับอาการชาที่แขนด้านใน มือ และนิ้วมือรวมถึงภาวะซีด มีอาการเย็นตามปลายแขนเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง

3. โรคนิ้วล็อก (Trigger finger) เกิดจากการบาดเจ็บของเส้นเอ็นที่ผ่านด้านหน้าของฝ่ามือ (Flexor tendons) บริเวณข้อต่อตรงสันกำปั้นเรียกว่า metacarpophalangeal joint เนื่องจากการเคลื่อนไหวของนิ้วมือในการทำงานซ้ำๆ มักพบในพนักงานที่ต้องพิมพ์คอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้เส้นเอ็นดังกล่าวที่ไถลอยู่ในปลอกหุ้มเอ็นขณะมีการเคลื่อนไหว เกิดภาวะบาดเจ็บหรืออักเสบเรื้อรังของเส้นเอ็นและอาจลุกลามไปยังปลอกหุ้มเอ็นด้วย เกิดเป็นพังผืดยึดรั้ง ทำให้มีอาการปวด เมื่อมีการเคลื่อนไหวนิ้วมือ มีอาการนิ้วล็อก งอและเหยียดนิ้วได้ลำบาก

4. อาการปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) เนื่องจากกระดูกสันหลังเป็นส่วนที่รับน้ำหนักส่วนหนึ่งของร่างกาย การนั่งหรือยืนในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งไขว้ห้าง การนั่งหลังค่อมหรือแอ่นเกินไป ส่งผลให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลังเป็นเวลานาน เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังและเอว นอกจากนี้แรงกดที่กล้ามเนื้อและน้ำหนักตัวกระทำต่อหมอนรองกระดูก อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังคด ผิดรูป หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาจากกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท โดยเฉพาะกระดูกสันหลังบริเวณสะโพก เป็นสาเหตุของอาการปวด ชาร้าว และกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง 

5. กลุ่มอาการปวดของกล้ามเนื้อและพังผืด (Myofascial pain syndrome) มักเกิดจากอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม หรือการที่กล้ามเนื้อทำงานมากเกินไป การออกแรงอย่างกะทันหัน ทำให้กล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ หรือมีการหดเกร็งกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดความตึงตัวของพังผืดหุ้มกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอาการอ่อนเพลีย ส่งผลให้มีอาการปวดและชาร้าวไปตามบริเวณใกล้เคียง โดยกล้ามเนื้อที่พบอาการปวดได้บ่อย คือ กล้ามเนื้อบริเวณสะบักและหลัง กล้ามเนื้อคอและไหล่  

           ออฟฟิศซินโดรมจัดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มักพบในกลุ่มคนวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ทำงานในสำนักงาน อายุระหว่าง 16-24 ปี ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย มีการทำงานเร่งรีบแข่งขันกับเวลา จากการสำรวจในประเทศไทยพบผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่ออาการออฟฟิศซินโดรมร้อยละ 60 (สำนักงานสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง, 2558) และพบว่ามีแนวโน้มของการเพิ่มของผู้ป่วยด้วยอาการนี้มากขึ้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อออฟฟิศซินโดรม ได้แก่

1. ปัจจัยด้านบุคคล เช่น อายุ ความเสื่อมถอยของร่างกาย น้ำหนักตัว บุคลิกภาพ การเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม

2. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ทำงานมีความคับแคบ อากาศในสถานที่ทำงานถ่ายเทไม่สะดวก แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ อุปกรณ์สำนักงานไม่เหมาะสม ลักษณะของงานที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายในท่าเดิมซ้ำ เช่น อาชีพแม่บ้าน นักกีฬา 

3. ปัจจัยด้านสภาพจิตใจ เช่น ความตึงเครียดจากการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน และภาวะความเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิต

สำหรับการป้องกันออฟฟิศซินโดรมสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอิริยาบถในการทำงาน เช่น การจัดโต๊ะทำงานและปรับท่านั่งให้เหมาะสม โดยเลือกใช้เก้าอี้ที่มีพนักพิง ปรับระดับให้พอดีกับโต๊ะ ปรับระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้พอดีกับระดับสายตา ปรับการใช้แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์และเม้าส์ให้ถูกต้อง ปรับอิริยาบถให้เหมาะสม เช่น ไม่นั่งหลังค่อม ไม่นั่งไขว้ห้าง หรือกอดอก 

          การรักษาออฟฟิศซินโดรม ทำได้โดยหาสาเหตุของอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท หรือหลอดเลือด หากอาการไม่รุนแรง อาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเคลื่อนไหว หรือการทำงานตามความเหมาะสม เช่น หยุดพักจากการทำงานเป็นระยะเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ควรออกกำลังกายหรือยืดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ หากมีอาการปวดรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยการยืดคลายกล้ามเนื้อให้ปรึกษาแพทย์

 

เอกสารอ้างอิง

1. สำนักงานสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง. 2558. ข่าวแจก กรมอนามัยเผยวัยทำงาน ร้อยละ 60 เสี่ยงโรคออฟฟิศซินโดรม แนะปรับสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงานให้ถูกหลัก. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (ข้อมูลออนไลน์) ค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2559, จาก http://www.anamai.moph.go.th/ewt_news.php?nid=8547

2. ศศิพิมพ์ ปรีชม. 2556. ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้พื้นที่เปิดโล่งบริเวณรอบอาคารสำนักงานกับอาการออฟฟิศซินโดรม. การค้นคว้าอิสระ. ภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง. บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยศิลปากร,กรุงเทพฯ.

3. Moore, K. L., Agur, A. M.R. and Dalley, A. F. 2011. Essential clinical anatomy. 4th ed. LippincottWilliams & Wolters Kluwer business, Philadelphia.

4. Snell, R. S. 2004. Clinical anatomy. 7th ed. Lippincott Williams & Wolters Kluwer business,Philadelphia.

 25,677 total views,  3 views today

Tags: , ,