มอยเจอร์ไรเซอร์กับความชุ่มชื้นของผิว

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ ครู, ชีววิทยา, นักเรียน, บทความปี 2560, บุคคลทั่วไป, วิทยาศาสตร์

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวนอกจากอากาศที่หนาวเย็นซึ่งทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายแล้วสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายคือ อาการผิวแห้ง หรือเรียกว่าผิวแตก

และมีการหลุดลอกเป็นขุยสีขาวที่เห็นได้บ่อยและชัดเจนในฤดูหนาวนั่นเองผลิตภัณฑ์บำรุงผิวส่วนใหญ่มักมีส่วนผสมของมอยส์เจอไรเซอร์ (moisturizer) ซึ่งเป็นสารที่

ช่วยให้ผิวหนังยังคงรักษาความชุ่มชื้นไว้ และทำให้ผิวหนังเนียนเรียบ ดูเต่งตึงอยู่เสมอ   โดยสารเหล่านี้มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงโครงสร้าง

ของผิวและความสำคัญของมอยเจอร์ไรเซอร์ที่ทำให้ผิวหนังยังคงรักษาความชุ่มชื้นไว้ได้

โครงสร้างผิวหนัง

          ผิวหนังมนุษย์แบ่งตามโครงสร้างได้เป็น 2 ชั้น คือ ชั้นหนังกำพร้า (epidermis) เป็นผิวชั้นนอกสุด เซลล์ในชั้นนี้ส่วนใหญ่เป็นเซลล์เคอราติโนไซต์

(keratinocyte) เรียกตามส่วนประกอบหลักของโปรตีนที่เป็นเคอราติน (keratin) ซึ่งจะมีการเพิ่มจำนวนเซลล์และเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปทำหน้าที่เฉพาะ

โดยเซลล์ที่ถูกสร้างก่อนจะถูกดันออกไปด้านนอกและกลายเป็นเซลล์ที่ไม่มีชีวิตเรียกว่าเซลล์คอร์นีโอไซต์ (corneocyte) ซึ่งท้ายสุดจะหลุดลอกออกไปตาม

ธรรมชาติ   ชั้นถัดมาคือชั้นหนังแท้ (dermis) เป็นชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเส้นใยคอลลาเจน (collagen fiber) แต่ก็พบ

เส้นใยอิลาสติก(elastic fiber)  เส้นใยร่างแห (reticular fiber) เซลล์สร้างเส้นใย (fibroblast)  และเซลล์ของเนื้อเยื่อเส้นใยอื่นๆ และมีเซลล์ประสาทรับสัมผัส

ชนิดต่างๆ อยู่ในชั้นนี้ ถัดจากชั้นหนังแท้จะเป็นบริเวณที่มีเนื้อเยื่อสะสมไขมันอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกว่า hypodermis หรือ เนื้อเยื่อไขมัน (subcutaneous tissue)  

โครงสร้างผิวหนังมนุษย์แสดงได้ดังภาพที่ 1   ทั้งนี้ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเป็นบริเวณที่เกิดการหลุดลอกซึ่งจะได้ศึกษาโครงสร้างกันต่อไป

skin

โครงสร้างของผิวหนังชั้นหนังกำพร้า

          หนังกำพร้าเป็นเซลล์เคอราทิโนไซต์ที่ไม่มีหลอดเลือด แต่ได้รับสารอาหารที่แพร่ผ่านจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในชั้นหนังแท้ อาจแบ่งได้ตามความหนา-บางของผิว 

โดยผิวหนังส่วนบาง (thin skin) จะมีพื้นที่ครอบคลุมร่างกายเป็นส่วนใหญ่ขณะที่ผิวหนังส่วนหนา (thick skin) จะพบอยู่บางบริเวณของร่างกาย  เช่น  บริเวณฝ่ามือ

ฝ่าเท้า    แต่ถ้าพิจารณาจากโครงสร้างแล้วจะพบว่าหนังกำพร้าจำแนกได้เป็น 5 ชั้น จากชั้นนอกสุดไปชั้นในสุด ได้แก่

1. ชั้น stratum corneum ประกอบด้วยเซลล์คอร์นีโอไซต์หรือขี้ไคล เป็นเซลล์ที่ไม่มีชีวิต มีลักษณะแบนเรียงตัวอัดกันค่อนข้างแน่น หนาประมาณ 30 ชั้น

2. ชั้น stratum lucidum เป็นบริเวณบางๆ เซลล์มีเรียงตัวกันค่อนข้างแน่นเห็นเป็นบริเวณใส รูปร่างไม่แน่นอน อยู่ใกล้ชั้น stratum granulosum  พบเฉพาะ

    บริเวณผิวหนังส่วนหนา

3. ชั้น stratum granulosum ประกอบด้วยเซลล์เคอราทิโนไซต์เรียงตัวหนา 3-5 ชั้น ภายในมี lamellar granule ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างลิพิด

    แล้วปล่อยออกไปกลายเป็นสารระหว่างเซลล์ (intercellular matrix)

4. ชั้น stratum spinosum ประกอบด้วยเซลล์เคอราทิโนไซต์หลายชั้น เซลล์ที่เรียงตัวอยู่ด้านล่างสุดยังคงมีสมบัติในการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส (meitosis) อยู่

5. ชั้น stratum basale ประกอบด้วย basal cell หรือเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) เรียงตัวชั้นเดียว มีการแบ่งตัวแบบไมโทซิสและพัฒนากลายเป็น

    เซลล์เคอราทิโนไซต์ ในชั้น stratum spinosum ต่อไป   

การสร้างเคอราตินและสารที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนัง

            ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจะมีการหลุดลอกออกทุกๆ 26-42 วัน ซึ่งเกิดจากกระบวนการสร้างเคอราทิน (keratinization) ที่มีการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส

ของเซลล์เคอราทิโนไซต์ในชั้น stratum basale ซึ่งในระหว่างการแบ่งเซลล์และเพิ่มจำนวนนี้เซลล์เคอราทิโนไซต์จะเจริญและพัฒนาไปตามแต่ละชั้น

ชั้นที่สร้างอยู่ก่อนแล้วจะค่อยๆ ถูกเบียดแน่นและดันออกไปด้านนอกจนสุดท้ายกลายเป็นชั้นนอกสุดเรียกว่าคอร์นีโอไซต์ (ขี้ไคล)  รอการลอกหลุดต่อไป

นอกจากนี้การเกิดบาดแผลที่ผิวหนังหรืออาการเครียดยังสามารถเร่งการแบ่งตัวของเคอราทิโนไซต์ให้เร็วกว่าปกติได้

              เมื่อพิจารณาที่ชั้นคอร์นีโอไซต์จะพบว่าโครงสร้างของเยื่อหุ้มเซลล์เป็นสารประเภทโปรตีนและไขมัน  เซลล์คอร์นีโอไซต์เปรียบได้กับก้อนอิฐ

มีการเรียงตัวกันแน่นลักษณะเหมือนกำแพงอิฐ  (brick and mortar structure)  (ภาพที่ 4) โดยมีของเหลวระหว่างเซลล์เปรียบได้กับปูนแทรกอยู่

ของเหลวระหว่างเซลล์นี้มีส่วนใหญ่เป็นไขมันและอาจพบโปรตีนบ้างเล็กน้อยซึ่งถูกหลั่งออกมาจาก lamellar granule  ไขมันนี้เองที่ช่วยเก็บกักโมเลกุล

ของน้ำไว้ในเซลล์ผิวไม่ให้ระเหยออกไป    เซลล์คอร์นีโอไซต์แต่ละเซลล์เชื่อมติดกันด้วย corneodesmosome  ซึ่งภายในเซลล์มีโมเลกุลขนาดเล็ก

ที่เรียกว่า Natural Moisturizing Factor (NMF) บรรจุอยู่  NMF เป็นส่วนสำคัญที่ให้ความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นของผิวชั้น stratum corneum โดย NMF

ได้มาจากการสลายตัวของโปรตีน filaggrin ที่อยู่ในชั้น stratum granulosum  ตัวอย่างของสารในกลุ่ม  NMF เช่น ยูเรีย, pyrrolidone , carboxylic acid (1,2),

กรดกลูตามิก และกรดอะมิโนอื่นๆ   

          การผลัดเซลล์ของผิว  (desquamation) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดเวลา  เมื่อมีความชื้นในชั้น stratum corneum น้อย   coreneodesmosome

ที่เปรียบเสมือนสะพานคอยเชื่อมยึดระหว่างเซลล์คอร์นีโอไซต์อื่นๆ ไว้ด้วยกันจะสลายตัวเนื่องจากเอนไซม์บางชนิดไม่สามารถทำงานได้และเกิดการสะสม

ของเซลล์คอร์นีโอไซต์ขึ้น ผิวจึงมีลักษณะแห้งและลอกออกเป็นขุย  

มอยเจอร์ไรเซอร์ (Moisturizer)

          แม้ว่าผิวหนังชั้น stratum corneum มีสมบัติในการเก็บกักและป้องกันการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย  แต่กลับพบว่าในแต่ละวันมีการสูญเสียน้ำผ่าน

การระเหยของน้ำออกจากชั้นผิว  (transepidermal water loss) โดยเฉลี่ยประมาณ 400 มิลลิลิตร และอาจจะสูญเสียเพิ่มมากกว่าปกติโดยมีปัจจัยต่างๆ เช่น

ปริมาณความชื้นในอากาศ โดยในช่วงฤดูหนาวที่มีความชื้นสัมพัทธ์ค่อนข้างต่ำ ผิวหนังจะสูญเสียความชุ่มชื้นง่ายกว่าปกติ   การชำระล้างต่างๆ ได้แก่ การฟอกสบู่

การใช้แชมพูสระผม การใช้น้ำยาล้างจาน ล้วนแต่เป็นการเร่งให้ผิวชั้น stratum corneum สูญเสีย NMF และไขมันที่มีอยู่ในชั้นนี้ไป ทำให้เกิดอาการผิวแห้งหรือ

กรณีผู้ป่วยโรคผิวหนังบางโรค ผิวหนังชั้น stratum corneum จะลอกหลุดออกบ่อยกว่าปกติ ดังนั้นจึงได้เกิดการนำสารที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหรือที่เรียกว่า

มอยเจอร์ไรเซอร์ซึ่งมีสมบัติในการป้องกันหรือเก็บกักน้ำไว้ในผิวหนังชั้นนี้

สารที่มีสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

1. Occlusives คือ สารที่มีสมบัติไม่ให้น้ำซึมผ่านชั้นผิว เช่น petroleum jelly, wax, paraffin, lanolin เป็นต้น โดยเคลือบผิวเป็นชั้นฟิมล์บางๆ ป้องกันไม่ให้

   น้ำระเหยออกจากชั้น stratum corneum

2. Humectants คือ สารที่มีสมบัติเก็บกักน้ำไม่ให้ระเหยออกไปจากผิว เช่น glecerin ,urea, pyrrolidone,carboxylic acid (PCA) เป็นต้น โดยสารนี้จะดึงน้ำที่

อยู่ในชั้นหนังแท้ขึ้นมายังชั้น stratum corneum และยังสามารถดึงน้ำจากความชื้นที่มีในอากาศมาเก็บกักไว้ในชั้น stratum corneum

3. Emollients คือ สารที่ปรับสภาพผิวให้เนียนเรียบและนุ่มโดยไปเติมช่องว่างระหว่างเซลล์คอร์นีโอไซต์ เช่น Glycerol, isopropyl myristate, เคอราติน,

   คอลลาเจน, อิลาสติน เป็นต้น

          สารที่มีสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว 3 ประเภทนี้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางในปริมาณที่แตกต่างกันไปตามสูตรของแต่ละบริษัทผู้ผลิต

แต่การที่สารเหล่านี้จะสามารถดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้นั้นจะต้องคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อการดูดซึมของผิว ตามที่วารสารผิวหนัง สถาบันผิวหนัง ฉบับที่ 2 เดือน

ตุลาคม 2549 กล่าวถึงต่อไปนี้

1. ตำแหน่งของผิวหนังมีค่าการดูดซึมไม่เท่ากัน เช่น ที่ใบหน้าจะดูดซึมได้ดีกว่าฝ่ามือหรือฝ่าเท้า

2. ความแตกต่างระหว่างบุคคล เชื้อชาติ เช่น ความหนาของผิวหนัง ปริมาณเลือดที่ไหลเวียน ปริมาณและชนิดของไขมัน จำนวนเส้นขน hair follicle

   และอัตราเมแทบอลิซึม  

3. สภาพของผิวหนัง เช่น การเปียก  การชุ่มน้ำ (hydration) อุณหภูมิ โรค การบาดเจ็บ การกระทบกระแทก

4. การปิดทับ หุ้มผิวหนัง หรือการปกคลุมผิวหนังด้วยน้ำมัน ยาขี้ผึ้ง หรือครีมที่จะทำให้ผิวหนังเกิดภาวะชุ่มน้ำทำให้สารซึมผ่านผิวหนังได้มากกว่าปกติ

5. ความเข้มข้นของสารและขนาดของพื้นที่ ซึ่งหากสารหรือยามีความเข้มข้นหรือพื้นที่สัมผัสมากขึ้นก็จะสามารถซึมผ่านผิวหนังได้มากขึ้น

ส่วนสารอื่นๆ ที่แสดงในฉลากจะใส่ลงไปเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมของสาร โดยมีผลต่อการปลดปล่อยสารเข้าสู่ผิวหนังหรืออาจมีผลโดยตรงต่อผิวชั้น

stratum corneum หรือช่วยในการคงสภาพและสมบัติของสารที่ออกฤทธิ์หลัก เช่น dimethyl sulfoxide (DMSO), dimethylacetamide (DMA)  แอลกอฮอล์

อะซีโทน สารลดแรงตึงผิว (surfectant)    

   ตัวอย่างฉลากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง แสดงได้ดังภาพที่ 6

  

                เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของชั้นหนังกำพร้าแล้วจะเห็นว่าผู้ผลิตผลิตภัณฑ์รักษาความชุ่มชื้นของผิว จะใส่มอยเจอร์ไรเซอร์ลงในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ

ที่มีสมบัติเหมือน NMF และสารระหว่างเซลล์ (ไขมัน)  ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรจะมีความรู้เกี่ยวกับผิวหนังของตนเอง รวมทั้งการอ่านส่วนประกอบของสารต่างๆ ที่ปรากฏ

อยู่ในฉลากผลิตภัณฑ์ว่าสารที่เติมลงไปนั้นมีฤทธิ์ตามที่ได้อ้างไว้หรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่ถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาเกินจริงจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ

และสูญเสียทรัพย์สินเกินความจำเป็น

 

เอกสารอ้างอิง

1. ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน.  กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อเสริมศักยภาพวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เล่ม 2

   พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ :  บริษัท พัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) จำกัด,  2558.

2. Saladin, Kenneth S. Anatomy & physiology : the unity of form and function 5th ed. (pp. 190-192).  McGraw-Hill Companies,

   New York.  2010.

3. รสญา เหล่าเรืองธนา.  (ม.ป.ป.).  Basic concepts of skin science. สืบค้นจาก http://www.med.nu.ac.th/pathology/405314/book54/skin.pdf.

   เข้าถึงเมื่อวันที่  20 ตุลาคม 2559.

4. อรัญญา มโนสร้อย. (2549).  ผิวหนังและกลไกการดูดซึมสารผ่านผิวหนัง (skin and percutaneous absorption mechanism). วารสารผิวหนัง,

   11, 124-126.  สืบค้นจาก http://58.137.211.174/news/journal/myfile/85785024a7c961a27_fil.%2007- Review%203.pdf. 

   เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559.

5. J. N. Kraft, C. W. Lynde.  Moisturizers: What They Are and a Practical Approach to  Product Selection.

    (Online) Available: http://www.skintherapyletter.com/download/stl_10_5.pdf.  (Retrieved October 7, 2016)

 19,625 total views,  3 views today

Tags: , ,