การศึกษาสปอร์ของเห็ดราอย่างง่าย

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2556

          ดร.สุนัดดา  โยมญาติ

          สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรฟังไจ (Kingdom Fungi)  มีทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เช่น ยีสต์ และสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ที่ยังไม่พัฒนาเป็นเนื้อเยื่อ เช่น ราและเห็ดชนิดต่างๆ โดยที่ราส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเส้นใย เรียกว่า ไฮฟา (hypha)  กลุ่มของไฮฟา เรียกว่า ไมซีเลียม (mycelium) ซึ่งไมซีเลียมของราบางชนิดจะรวมกลุ่มและพัฒนาเป็น     โครงสร้างที่เรียกว่า ฟรุตติ้งบอดี (fruiting body)

56-7-1

ภาพที่ 1 ฟรุตติ้งบอดีของเห็ด

หมายเหตุ : สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับส่วนประกอบของเห็ดได้ที่บทความเรื่องเกร็ดความรู้เรื่องเห็ด http://biology.ipstweb.com/index.php/about-the-year-2555/320-knowledge-about-mushrooms.html

การศึกษาสปอร์ของราที่อยู่บนอาหาร

          การทำปฏิบัติการเพื่อจะศึกษาลักษณะสปอร์ของราส่วนใหญ่จะใช้เชื้อบริสุทธิ์ที่เจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อในจานเพาะเชื้อ ดังภาพที่ 2 ก.   ซึ่งครูผู้สอนอาจจะหาตัวอย่างราที่เป็นเชื้อบริสุทธ์ได้ยาก แต่ก็สามารถนำราที่เจริญบนอาหาร เช่น ขนมปัง ผลไม้ มาศึกษาได้ เนื่องจากราจะเจริญเป็นโคโลนีขนาดใหญ่ สังเกตได้ด้วยตาเปล่าและแต่ละสปีชีส์จะมีสีของไฮฟาและสีของสปอร์ที่แตกต่างกัน ดังภาพที่ 2 ข.

56-7-256-7-3

                                              ก.                                                                       ข.

ภาพที่ 2 ก. เชื้อบริสุทธิ์ของราเจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อ

          ข. สปอร์ของราสปีชีส์ต่างๆ ที่เจริญบนผลไม้

          การศึกษารูปร่างและลักษณะของสปอร์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ สามารถทำได้โดยการเตรียมสไลด์อย่างง่ายด้วยการใช้เทปใสแบบเหนียวแตะลงบนเส้นใยราเบาๆ สปอร์และเส้นใยจะติดขึ้นมาบนเทปใส ดังภาพที่ 3 ข. จากนั้นนำเทปใสไปติดลงบนแผ่นสไลด์โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้กระจกปิดสไลด์ ดังภาพที่ 3 ค. แล้วนำไปศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ จะเห็นรูปร่างสปอร์ของรา ดังภาพที่ 4 ในกรณีที่สปอร์ของราที่ศึกษามีลักษณะใสหรือสีอ่อน ควรหยดสีย้อม เช่น อะนิลีนบลูหรือเมทิลลีนบลู ลงบนแผ่นสไลด์ก่อน แล้วจึงติดเทปใสที่มีสปอร์ของราติดอยู่ลงไปบริเวณที่หยดสีย้อมไว้แล้ว

56-7-4

ก.

56-7-5

ข.

ภาพที่ 3 เตรียมสไลด์โดยใช้เทปใสแบบเหนียว

                                                                    ก. แปะเทปใสลงบนเส้นใยรา    

                                                                    ข. นำเทปใสติดลงบนแผ่นสไลด์

56-7-6

ภาพที่ 4 สปอร์ราที่มองเห็นภายใต้กล้องจุลทรรศน์

 

การศึกษาสปอร์ของราที่อยู่บนใบไม้

          นอกจากราที่เจริญบนอาหารแล้ว ยังพบว่ามีราที่เจริญอยู่บนใบไม้ที่สังเกตเห็นได้ทั่วไป เช่น ราที่เจริญบนใบลีลาวดีก็สามารถนำมาศึกษาได้เช่นเดียวกัน รากลุ่มนี้เป็นราที่ก่อให้เกิดโรคในพืช เช่น ราสนิม (Coleosporium plumeriae Pat.  ) โดยจะพบทั้งด้านหลังใบและท้องใบของใบลีลาวดี  แต่จะพบที่ท้องใบมากกว่า มีลักษณะเป็นจุดสีส้มเหลืองกระจายอยู่ตามผิวใบ ดังภาพที่ 5 ก. ศึกษาสปอร์ได้โดยเคาะใบลงบนจานเพาะเชื้อ สปอร์ก็จะหลุดลงมาหรือใช้พู่กันจิ้มที่จุดสีส้มเหลืองและนำมาวางบนสไลด์ที่หยดน้ำกลั่นหรือสีย้อมไว้แล้ว ปิดทับด้วยกระจกปิดสไลด์ หรืออาจใช้เทปใสแบบเหนียวแตะที่ผิวใบแล้วนำไปปิดทับลงบนกระจกสไลด์ก็ได้  เมื่อนำไปศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์จะเห็นสปอร์ของราสนิม มีสีเหลืองรูปร่างกลมรีหรือรูปไข่ ดังภาพที่ 5 ข. หรืออาจพบสีอื่น เช่น สีขาว สีเหลืองอ่อน หรือสีเหลืองอมส้ม ขึ้นอยู่กับอายุของสปอร์

56-7-756-7-8

                                              ก.                                                                        ข.

ภาพที่ 5 ก. ใบลีลาวดีที่เป็นโรคราสนิม   ข. สปอร์ของราสนิม

 

 56-7-9

 

 

การศึกษาสปอร์ของเห็ด

          นอกจากจะศึกษาสปอร์ของราแล้ว สามารถศึกษาสปอร์ของเห็ดได้เช่นเดียวกัน โดยทั่วไปการศึกษาสปอร์ของเห็ดมีวิธีการคือ นำเห็ดที่เริ่มบาน ฉีกตามความยาวของครีบ แล้วใช้มีดโกนตัดครีบเห็ดตามขวาง นำไปวางบนสไลด์ที่หยดน้ำหรือสีย้อมไว้ เห็ดที่นิยมใช้ศึกษาในห้องปฏิบัติการมักจะเป็นเห็ดที่เพาะเลี้ยงได้ เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหอม เนื่องจากสามารถหาซื้อได้สะดวก แต่เห็ดบางชนิดที่เป็นเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเฉพาะในฤดูฝน ไม่สามารถหามาทำปฏิบัติการได้สะดวกในช่วงฤดูอื่นๆ ก็สามารถเก็บเห็ดไว้ศึกษาได้โดยการทำให้แห้ง อาจจะนำไปตากแดดให้แห้ง นำไปอบในตู้อบอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส หรือทำให้แห้งโดยใส่เห็ดลงในกล่องที่บรรจุซิลิกา    เจลเพื่อดูดความชื้นออก ดังภาพที่ 6 ก. แล้วใส่ซิลิกาเจลลงไปให้คลุมเห็ด ดังภาพที่ 6 ข.  ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน จากนั้นเมื่อเห็ดแห้งนำไปเก็บไว้ในกล่องหรือถุงปิดสนิท เมื่อจะนำมาศึกษาก็ตัดครีบเห็ดที่มีสปอร์วางบนสไลด์ที่หยดน้ำกลั่นหรือสีย้อมไว้แล้ว

56-7-11

                            ก.                                                 ข.                                                    ค.

ภาพที่ 6 ก. และ ข. การทำเห็ดแห้งในซิลิกาเจล

                                                          ค. ภาพสปอร์ของเห็ดที่ศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์

          ถ้าไม่ต้องการเก็บดอกเห็ดไว้ทั้งดอกเนื่องจากใช้พื้นที่ในการจัดเก็บ สามารถเก็บเฉพาะสปอร์ไว้ศึกษาได้ เรียกว่า การทำลายพิมพ์สปอร์ (spore print) โดยเลือกเห็ดที่เริ่มบาน ไม่ควรเลือกเห็ดที่บานมากเกินไปเนื่องจากสปอร์จะแก่เกินไปและหลุดไปแล้ว นำมาตัดก้านเห็ดออก แล้ววางหมวกเห็ดลงบนกระดาษขาว ใช้ถ้วยหรือแก้วครอบไว้เป็นเวลา 10-12 ชั่วโมง ดังภาพที่ 7 ก. แต่ถ้าสปอร์ไม่มีสีหรือสีอ่อน การวางบนกระดาษสีขาวอาจจะทำให้มองเห็นสปอร์ไม่ชัด สามารถใช้กระดาษสีดำได้ ในกรณีที่เป็นดอกเห็ดที่ไม่ทราบสีของสปอร์มาก่อน อาจใช้กระดาษที่มี 2 สี คือสีขาวและสีดำสีละครึ่งแล้ววางดอกเห็ดไว้ตรงกลาง ดังภาพที่ 7 ข. สปอร์จะหลุดลงมาจากดอกเห็ดและติดแน่นอยู่บนแผ่นกระดาษ ดังภาพที่ 7 ค. หลังจากทำลายพิมพ์สปอร์ของเห็ดแล้ว เก็บกระดาษใส่ไว้ในซองใสหรือซองสีน้ำตาล เมื่อต้องการนำสปอร์ของเห็ดมาศึกษา ให้ใช้เข็มเขี่ยสปอร์ลงบนแผ่นสไลด์ที่หยดน้ำหรือสีย้อม ปิดด้วยกระจกปิดสไลด์ แล้วนำไปศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์

56-7-13 56-7-1456-7-15

                                 ก.                                                  ข.                                   ค.                                 

ภาพที่ 7 การทำลายพิมพ์สปอร์ของเห็ดบนกระดาษ

                                                            ก. ตัดและวางเห็ดลงบนกระดาษแล้วครอบแก้ว

                                                            ข. วางเห็ดบนกระดาษสีขาวและดำ

                                                            ค. ลายพิมพ์สปอร์บนกระดาษ

            จากกิจกรรมแนะนำมานี้เป็นกิจกรรมอย่างง่าย สามารถหาตัวอย่างเห็ด ราทั่วๆ ไปมาศึกษาได้ ครูผู้สอนจะเลือกกิจกรรมใดมาจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความรู้ของผู้เรียน รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ด้วย

เอกสารอ้างอิง

ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน. กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค. จัดพิมพ์ จำหน่าย. 2554.

Alexopoulos, C.J., Charles, W. and Blackwell, M. 1996. Introductory Mycology. 4th ed. Wiley, John & Sons

Michael, K. Making Spore Prints. (Online). Avaiable: http://www.mushroomexpert.com/spore_print.html. (Retrieved 15/01/2013).

The North American MycologicalAssociation. (Online). Avaiable: http://www. http://namyco.org/education/index.html. (Retrieved 15/01/2013).

 

 

 46,386 total views,  8 views today