แพนด้ายักษ์และแพนด้าแดงจัดเป็นหมีหรือไม่

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2555

 

แพนด้ายักษ์ (giant panda) และแพนด้าแดง (red panda) จัดเป็นหมีหรือไม่

ยุวศรี    ต่ายคำ 

          หากพูดถึง “แพนด้ายักษ์” หลายคนคงนึกถึงหมีขนาดใหญ่ที่มีขนสีขาวดำปกคลุมลำตัว ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยมีให้ชมได้ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ มีอยู่ 3 ตัวคือ หลินปิง ช่วงช่วง และหลินฮุ่ย แต่หากพูดถึง “แพนด้าแดง” บางคนอาจจะยังนึกไม่ออกว่าแพนด้าแดงมีรูปร่าง หน้าตาเป็นอย่างไร และอาจสงสัยว่ามีลักษณะเหมือนแพนด้ายักษ์หรือไม่ เนื่องจากเป็นแพนด้าเช่นเดียวกัน

         การอ้างอิงจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าทั้งแพนด้ายักษ์ (giant panda) และแพนด้าแดง (red panda) จัดเป็นสัตว์ที่อยู่ในไฟลัมคอร์ดาตา (phylum chordata) คลาสแมมมาเลีย (class Mammalia) ออร์เดอร์คาร์นิวอรา (order Canivora) แต่มีวงศ์ (family) ที่ต่างกัน

         นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่าแพนด้าแดงมีสายวิวัฒนาการเดียวกับแรคคูนจึงจำแนกแพนด้าแดงให้อยู่ในวงศ์ Procyonidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับแรคคูน เนื่องจากพบว่าแพนด้าแดงมีลักษณะทางกายภาพหลายอย่างที่เหมือนกับแรคคูน เช่น ลักษณะลำตัวสั้น มีหางยาว มีรูปหน้า และลวดลายคล้ายกับแรคคูน นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมการออกหากินในช่วงเวลากลางคืน และใช้เวลาส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนต้นไม้คล้ายกับแรคคูนอีกด้วย

55-6-1

                                                 ก.                                                                                        ข.

 

ภาพถ่ายเปรียบเทียบระหว่างแรคคูนและแพนด้าแดง

ก. แรคคูน   ข. แพนด้าแดง

 

         อย่างไรก็ตามเมื่อมีการศึกษาลงไปถึงระดับโมเลกุลของสารพันธุกรรม ได้แก่ การหาลำดับเบสของ DNA (DNA sequencing) และการทดสอบเปรียบเทียบตำแหน่งของเบสในสิ่งมีชีวิตเพื่อจำแนกเป็นสายวิวัฒนาการ ทำให้ทราบว่าแพนด้าแดงมีสารพันธุกรรมที่มีความแตกต่างจากแรคคูน และมีสายวิวัฒนาการแยกออกมาจากสายวิวัฒนาการของแรคคูนมาเป็นเวลานานกว่า 30 ล้านปีแล้ว จึงได้จำแนกแพนด้าแดงออกมาจากวงศ์ Procyonidae และจัดอยู่ในวงศ์เฉพาะคือ วงศ์ Ailuridae

         ปัจจุบันแพนด้าแดงแบ่งออกเป็น 2 ซับสปีชีส์ (subspecies) คือ Ailurus fulgens fulgens ซึ่งมีขนาดตัวเล็ก และขนที่ใบหน้ามีสีจาง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียในรัฐอัสสัมและสิขิม หรือประเทศภูฎาน ประเทศเนปาล และบางส่วนของประเทศจีน เป็นต้น ส่วนอีกซับสปีชีส์หนึ่งคือAilurus fulgens styani มีขนาดตัวที่ใหญ่และมีลายที่หน้าสีเข้มกว่าAilurus fulgens fulgens ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศจีนแถบมณฑลยูนาน และเทือกเขาในมณฑลเสฉวน และทางตอนเหนือของประเทศพม่า อาหารหลักคือใบไผ่ บางครั้งอาจกินลูกสน รากไม้ เห็ด ไข่นก หรือลูกนก เป็นต้น ชอบออกหากินเวลาใกล้ค่ำ อาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่

55-6-3

                                                      ก.                                                                                     ข.

ภาพแพนด้าแดง 2 ซับสปีชีส์

ก. Ailurus fulgens fulgens  ข. Ailurus fulgens styani

 

         ส่วนแพนด้ายักษ์หรือมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ailuropoda melanoleuca ซึ่งแปลว่าสัตว์ที่มีขนสีขาวดำและมีเท้าเหมือนแมว มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางแถบตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนและประเทศทิเบต อาหารหลักของแพนด้ายักษ์ร้อยละ 99 คือ ไผ่ ที่เหลืออีกร้อยละ 1 คืออาหารประเภทน้ำผึ้ง ไข่ ปลา หรือมันเทศ เป็นต้น แพนด้ายักษ์ชอบอาศัยอยู่บนพื้นดินมากกว่าบนต้นไม้

 55-6-5

 

ภาพแพนด้ายักษ์

         นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่าแพนด้ายักษ์มีสายวิวัฒนาการก้ำกึ่งระหว่างแพนด้าแดง แรคคูน หรือหมี แต่เนื่องจากแพนด้ายักษ์และแพนด้าแดงมีลักษณะร่วมกันอยู่แค่ 2 ประการคือ ชนิดของอาหารที่กินซึ่งได้แก่ ไผ่ และถิ่นที่อยู่อาศัยเท่านั้น ประกอบกับแรคคูนกับแพนด้าแดงไม่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน จึงไม่สามารถจัดแพนด้ายักษ์ให้อยู่ในวงศ์เดียวกับแพนด้าแดงและแรคคูนได้

         ส่วนแพนด้ายักษ์และหมี (bear) อาจดูเหมือนว่ามีลักษณะทางกายภาพภายนอกที่คล้ายกัน แต่ถ้าศึกษาลึกลงไประดับกายวิภาคจะพบว่า แพนด้ายักษ์มีโครงสร้างของกระดูกที่แตกต่างจากหมี เช่น กระดูกฟันกรามที่มีขนาดใหญ่และพัฒนามากกว่าหมีทั่วไป และกระดูกเซซามอยด์ (radial sesamoid bone) ซึ่งเป็นกระดูกแบบสั้นที่ฝังตัวอยู่ในเอ็นพบบริเวณโคนนิ้วที่มีการพัฒนาและทำหน้าที่คล้ายนิ้วหัวแม่มือ (pseudo thumb) ทำให้แพนด้ายักษ์มี 6 นิ้ว ซึ่งกระดูกนิ้วหัวแม่มือนี้เป็นวิวัฒนาการที่ช่วยให้แพนด้ายักษ์สามารถใช้มือหยิบ หรือจับกิ่งไผ่กินได้อย่างสะดวก ในขณะที่ในหมีชนิดอื่นๆ กระดูกดังกล่าวไม่มีการพัฒนา

 55-6-6 

 

                ภาพ pseudo thumb ของแพนด้ายักษ์                      ภาพเปรียบเทียบลักษณะ radial sesamoid bone

                                                                                                              ของ grizzly bear และ giant panda 

         นอกจากนั้นยังพบว่าผนังทางเดินอาหารของแพนด้ายักษ์จะมีความหนามากกว่าของหมีชนิดอื่นทั้งนี้เพื่อป้องกันเนื้อเยื่อไม่ให้ถูกเสียดสีจากกิ่งไผ่ที่มีความคม อีกทั้งมีผนังกระเพาะอาหารที่หนามากและทำหน้าที่คล้ายกับกึ๋น (gizzard) ที่พบในนก แต่อย่างไรก็ตามทางเดินอาหารของแพนด้ายักษ์ยังไม่สามารถพัฒนาให้ดูดซึมสารอาหารจากเส้นใย (fiber) ได้ดีเท่ากับสัตว์กินพืชชนิดอื่น ดังนั้นในแต่ละวันแพนด้ายักษ์จึงต้องกินอาหารในปริมาณที่มากเพื่อให้ได้พลังงานเพียงพอต่อการดำรงชีวิต นอกจากนี้ความแตกต่างทางด้านพฤติกรรมพบว่าแพนด้ายักษ์จะไม่มีการจำศีล (hibernation) ในช่วงฤดูหนาวเหมือนหมีทั่วไป

         นอกจากลักษณะทางกายวิภาคที่มีความแตกต่างจากหมี แรคคูน และแพนด้าแดงแล้ว นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดสอบระดับโมเลกุล 4 แบบ ได้แก่ การตรวจสอบการจับคู่เบสอย่างจำเพาะของ DNA (DNA hybridization) albumin immunological distance, isozyme genetic distance และการเปรียบเทียบ  คาร์ริโอไทป์ (karyotype) เพื่อนำไปวิเคราะห์ถึงสายวิวัฒนาการของแพนด้ายักษ์ ซึ่งผลปรากฏว่าแพนด้ายักษ์มีสายวิวัฒนาการที่ใกล้เคียงกับหมีมากกว่าแรคคูน และแพนด้าแดง แต่เนื่องจากแพนด้ายักษ์มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากหมีทั่วไปดังที่กล่าวไว้แล้วนักวิทยาศาสตร์จึงจำแนกแพนด้ายักษ์ให้อยู่ในวงศ์เฉพาะคือ วงศ์Ailuropodidae

         อาจกล่าวได้ว่าทั้งแพนด้าแดงและแพนด้ายักษ์มีแบบแผนของกระบวนการวิวัฒนาการ (pattern of evolution) เป็นแบบ divergent คือรูปแบบของวิวัฒนาการที่สิ่งมีชีวิต 2 สปีชีส์ หรือมากกว่า 2 สปีชีส์ มีวิวัฒนาการแยกสายออกไปจากบรรพบุรุษเดียวกัน เนื่องจากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นต้องมีการปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง โครงสร้าง และอื่นๆ ให้เหมาะกับการใช้งาน นอกจากนั้นยังพบว่าบรรพบุรุษของแพนด้ายักษ์ได้แยกสายวิวัฒนาการออกมาจากหมีเมื่อประมาณ 15-20 ล้านปี ส่วนแพนด้าแดงได้แยกสายวิวัฒนาการออกมาจากแรคคูนเมื่อประมาณ 40 ล้านปี ดังแผนภาพ

 55-6-7

 

แผนภาพแสดงแบบแผนวิวัฒนาการของแพนด้าแดง แพนด้ายักษ์ และหมี โดยใช้การเปรียบเทียบลำดับ

DNA ของไมโทคอนเดรีย

         สรุปได้ว่าทั้งแพนด้าแดง และแพนด้ายักษ์ต่างก็มีวิวัฒนาการที่แยกออกมาจากสายวิวัฒนาการของบรรพบุรุษดั้งเดิม และมีเอกลักษณ์เฉพาะของสายพันธุ์ตนเอง

 

 

********************************************

 

เอกสารอ้างอิง

1.Red Panda vs Giant Panda – difference between.com (online) available: http://www.differencebetween.com/difference-between-red-panda-and-vs-giant-panda/(retrieved on 28 December 2011)

2. How are giant pandas different from red pandas? – ehow discover the expert in you (online) available: http://www.ehow.com/about_6636926_giant-pandas-different-red-pandas_.html

(retrieved on 28 December 2011)

3.panda – new world encyclopedia (online) available: http://www.newworldencyclopedia.org/entry/Panda / (retrieved on 28 december 2011)

4. about the red panda – red panda network (online) available: http://redpandanetwork.org/red_panda/about-the-red-panda/ (retrieved on 28 December 2011)

5.evolution and adaptation of giant panda – Reocities (online) available: http://www.reocities.com/RainForest/Vines/2695/genetics.html (retrieved on 28 December 2011)

6.panda evolution and classification – biology the unity and diversity of life book online (online) available: http://science.jrank.org/pages/5005/Pandas-Evolution-classification.html

(retrieved on 28 December 2011)

7. red panda – national geographic (online) available: http://animals.nationalgeographic.com/animals/mammals/red-panda/ (retrieved on 28 December 2011)

8. red pandas and giant pandas – bear planet (online) available: http://www.bearplanet.org/red-panda.shtml bear planet/ (retrieved on 28 December 2011)

9. red pandas – WWF (online) available: http://www.wwfnepal.org/our_solutions/thematic_solutions_nepal/species_nepal/red_panda/ (retrieved on 28 December 2011)

10. the giant panda debate: bear or raccoon – howstuff works discovery company (online) available: http://animals.howstuffworks.com/mammals/panda-hibernation2.htm (retrieved on 28 December 2011)

11. red pandas – globio (online) available:http://www.globio.org/glossopedia/article.aspx?art_id=13&art_nm=Red+Pandas (retrieved on 28 December 2011)

12. red panda (Ailurus fulgens) – green nature  (online) available: http://greennature.com/article25.html (retrieved on 28 December 2011)

13. giant panda species survival plan – phylogenetics and systematics (online) available: http://www.giantpandaonline.org/naturalhistory/phylogenetics.htm (retrieved on 28 December 2011)

อ้างอิงรูปภาพ

1. ที่มาภาพแรคคูน: http://library.thinkquest.org/05aug/00690/PagesM/raccoon.html

2. ที่มาภาพแพนด้าแดง:http://gochina.about.com/od/chinaphotogalleries/ig/Panda-Breeding-Base/Red-Panda.htm

3. ที่มาภาพแพนด้า Ailurus fulgens fulgens :http://www.flickr.com/photos/leonvdn/5836350567/

4. ที่มาภาพแพนด้า Ailurus fulgens styani:http://silverfishattack.blogspot.com/2009/01/fur-patrol-red-panda.html

5. ที่มาภาพกระดูก radial sesamoid bone : http://www.athro.com/evo/pthumb.html

 

 18,063 total views,  2 views today