โรคติดเชื้ออุบัติใหม่-โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ (มี.ค. 54)

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2554

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ

(emerging-reemerging infectious disease)

                                                                                                                                                                                                             โดย … นายธีรพัฒน์  เวชชประสิทธิ์

          เชื้อโรคต่างๆ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อ แต่เชื้อโรคจะพัฒนาตนเองจนกลายเป็นเชื้อชนิดใหม่หรือกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งได้นั้นส่วนหนึ่งมีผลมาจากพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น พฤติกรรมการบริโภคที่ขาดโภชนาการที่ดีของเด็กมีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันพัฒนาได้ไม่ดี การที่ผู้ปกครองส่งบุตรหลานไปอยู่รวมกันในสถานรับเลี้ยงเด็กเป็นการเพิ่มโอกาสที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ได้ง่ายเนื่องจากเด็กเล็กๆ ยังไม่รู้จักวิธีดูแลตัวเองที่ดีพอ การคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยทำให้ผู้คนสามารถเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในแต่ละทวีปได้ง่ายขึ้น โอกาสที่โรคชนิดใหม่ๆ หรือโรคติดต่อที่ไม่เคยปรากฏในภูมิภาคอื่นๆ จะแพร่ระบาดไปยังภูมิภาคต่างๆ ในโลกจึงเกิดง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้ การค้าสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า การบริโภคสัตว์ป่า การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงและการทำลายระบบนิเวศ ก็เป็นการเพิ่มโอกาสการส่งผ่านเชื้อโรคชนิดใหม่ๆ จากเดิมที่เคยอยู่ในป่ามาสู่มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเมืองได้มากขึ้น

          54-6-1                       54-6-2

                      ภาพที่ 1 การค้าสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จาก                           ภาพที่ 2 การคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยทำให้มนุษย์เดินทางไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้ง่ายและเร็วขึ้น

               โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำมีการแพร่ระบาดในประเทศไทยอยู่เป็นระยะๆ ทั้งนี้โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ตามคำนิยามของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หมายถึงโรคติดเชื้อชนิดใหม่ๆ ที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา หรือโรคติดเชื้อที่มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมไปถึงโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในที่ใดที่หนึ่ง หรือโรคที่เพิ่งจะแพร่ระบาดเข้าไปสู่อีกที่หนึ่ง และยังรวมถึงโรคติดเชื้อที่เคยควบคุมได้ด้วยยาปฏิชีวนะแต่เกิดการดื้อยา และ โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ หมายถึงโรคติดเชื้อที่เคยแพร่ระบาดในอดีต และสงบไปแล้วเป็นเวลานานหลายปี แต่กลับมาระบาดขึ้นอีก ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างโรคเหล่านี้ดังนี้

โรคมือเท้าปาก (hand foot mouth disease) เป้นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Coxsackie หรือ ไวรัส Entero 71 พบการระบาดครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ในปีพ.ศ. 2512 และมีรายงานการระบาดรุนแรงในแถบภูมิภาคเอเชีย ในปีพ.ศ. 2540 (ประเทศมาเลเซีย และไต้หวัน) ผู้ป่วยส่วนมากมักจะเป็นเด็กเล็ก มีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บปากและทานอาหารไม่ค่อยได้ มักพบตุ่มหรือผื่นขึ้นบริเวณมือ เท้า และภายในช่องปาก

                ชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส chikungunya มียุงลายเป็นพาหะ พบการแพร่ระบาดครั้งแรกในปีพ.ศ. 2495 ที่ประเทศแทนซาเนียในทวีปแอฟริกาและแพร่ระบาดมายังภูมิภาคเอเชียใต้จนมาสู่ประเทศไทยซึ่งพบการระบาดครั้งแรกในปีพ.ศ. 2501 และมีการระบาดเป็นระยะๆ จนล่าสุดพบผู้ป่วยอีกครั้งในปีพ.ศ. 2552 ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออก คือมีอาการไข้สูง หนาวสั่น อาจพบผื่นขึ้นตามตัว แต่อาการสำคัญที่แตกต่างจากไข้เลือดออกคือ มีอาการปวดข้อ

ซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสพันธุ์ใหม่ ที่มาจากแฟมิลี coronavirus พบการระบาดครั้งแรกในปีพ.ศ.2545 ที่ประเทศจีน จากนั้นมีการแพร่ระบาดไปยังภูมิภาคต่างๆ เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แคนาดา เนื่องจากการคมนาคมขนส่งที่ทันสมัย

                ไข้หวัดนก (avian influenza) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส influenza H5N1 โดยไวรัสแพร่ระบาดจากสัตว์ปีกมาสู่คนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่นๆ เริ่มพบการระบาดของโรคในปีพ.ศ. 2546 ที่ประเทศจีนและเวียดนามจากนั้นมีการแพร่ระบาดของโรคมายังประเทศไทยและแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

                ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (new Flu) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส influenza H1N1 เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากการผสมทางพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดนก ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในหมู และไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคน พบการระบาดของโรคครั้งแรกในปีพ.ศ. 2552 ที่ประเทศเม็กซิโก จากนั้นในระยะเวลาอันสั้นพบรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสH1N1 ไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

ทั้งโรคซาร์ส ไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายๆ ไข้หวัดคือ มีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอ ไอแห้งๆ ปวดศีรษะ และปวดเมื่อย ผู้ป่วยที่เสียชีวิตมักพบภาวะติดเชื้อที่ปอดและปอดอักเสบอย่างเฉียบพลัน

ที่กล่าวมาแล้วเป็นตัวอย่างของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำซึ่งจะเห็นว่าโรคอุบัติใหม่ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไวรัสนั้นประกอบด้วยโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนมีองค์ประกอบหลักเป็นสารพันธุกรรม และโปรตีนห่อหุ้มสารพันธุกรรมไว้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่สารพันธุกรรมของไวรัสจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ เป็นไปได้โดยง่าย โดยที่ร่างกายมนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็อาจเป็นไปได้ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเองของไวรัส รวมทั้งสาเหตุต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้โลกของเรายังคงมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำขึ้นมาเสมอๆ และอาจจะกลายเป็นโรคที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นหากประชากรในโลกไม่ร่วมมือกันป้องกัน ดูแลสุขภาพของตนเอง และปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เมื่อมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น

แหล่งเรียนรู้

สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ http://beid.ddc.moph.go.th/th_2011/

                สำนักระบาดวิทยา http://www.boe.moph.go.th/

อ้างอิงภาพ

                ภาพที่ 1 http://www.thaiwildlife.org/main/news/news_2_10_201

                ภาพที่ 2 http://www.newgenstravel.com/webboard/wb_show.asp?Lang=&id=3411&ipagenum=1&xpagenum=4&idCat=3

 

 11,398 total views,  1 views today