กิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับชนิดพันธุต่างถิ่นที่รุกราน (ก.พ. 54)

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2554

           54-5-1                                                                                                                        

                                                                                                                                                 โดย… ดร.สิทธิชัย  วิชัยดิษฐ

               ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา หลายคนอาจได้ยินข่าวเกี่ยวกับความนิยมการให้กระต่ายพันธุ์ ฮอลแลนด์ ลอป (Holland Lop) เป็นของขวัญปีใหม่ โดยเชื่อว่าจะเป็นสัตว์นำโชคใน   ปีเถาะปีนี้ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจากหลายองค์กรได้ออกมาเตือนว่ากระต่ายพันธุ์ดังกล่าวจัดเป็น ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หากเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลยและปล่อยสู่ธรรมชาติ อาจส่งผลให้ระบบนิเวศเสียหายได้ เช่นเดียวกับที่ปลาซัคเกอร์หรือปลาเทศบาลถูกคนเลี้ยงปล่อยสู่ธรรมชาติ มีการเจริญ   แพร่พันธุ์และก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศมาแล้ว

                ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (alien species) คือ สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นในที่ที่แตกต่างจากพื้นที่การแพร่กระจายตามธรรมชาติ   จากรายงานมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น     ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2551) ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอยู่มากกว่า 3,500 ชนิด และยังมีผู้นำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่นำเข้ามาบางชนิดสามารถดำรงชีวิตได้ดีในสภาพธรรมชาติ และกลายเป็นชนิดพันธุ์ที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทย เช่น ชนิดพันธุ์ข้าวโพด อ้อย ยางพารา หรือสัตว์เศรษฐกิจและสัตว์เลี้ยงบางพันธุ์ เช่น ชนิดพันธุ์สุกร โค แกะ เป็ดเทศ สุนัข และปลาสวยงาม ในขณะที่บางชนิดเข้ามาแล้วสามารถแพร่พันธุ์รวดเร็ว และมีความสามารถในการปรับตัวแข่งขันได้ดี จนสามารถรุกรานและแทนที่สิ่งมีชีวิตพันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่เดิม เรียกสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species) เช่น ผักตบชวา หญ้าคา ไมยราพยักษ์ ปลาดุกรัสเซีย หอยเชอรี่ ปลาซัคเกอร์

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกๆของโลก และได้รับการกล่าวถึงในความตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2551)  ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหากับการระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานหลายครั้ง เช่น การระบาดของผักตบชวาทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำตาย และน้ำเน่าเสีย การระบาดของหอยเชอรี่ในนาข้าวที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวและความเสียหายทางเศรษฐกิจ การระบาดของปลาซัคเกอร์ที่ทำให้ปลาพันธุ์พื้นเมืองลดจำนวนลงอย่างมาก การแก้ไขปัญหาเมื่อชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมีการแพร่ระบาดแล้วนั้นเป็นไปได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง แม้ว่าประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมชนิดพันธุ์ต่างถิ่น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการนำสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประชาชนจำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงความเสียหายของสภาพแวดล้อมที่เกิดจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ดังนั้น การให้ความรู้แก่สาธารณชน และให้การศึกษากับเยาวชนโดยเฉพาะการเรียนการสอนในชั้นเรียนชีววิทยาจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ประชาชนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเกิดความเข้าใจและให้ความร่วมมือกับองค์กรของรัฐในการควบคุมชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เนื้อหาในบทความต่อไปจะนำเสนอกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนวิชาชีววิทยา เนื้อหาเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

            กิจกรรมนี้จะส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดที่ว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานจะมีลักษณะบางอย่างที่ทำให้สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เช่น ไม่มีศัตรูธรรมชาติในสิ่งแวดล้อมใหม่ แก่งแย่งปัจจัยทางธรรมชาติจากสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น และอาจทำลายสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น เช่น ในกรณีของปลาซัคเกอร์ที่สามารถดำรงชีวิตในน้ำที่ออกซิเจนต่ำ และกินอาหารได้หลายชนิด รวมทั้งไข่ของปลาชนิดอื่น ในขณะที่ผักตบชวาและไมยราพยักษ์ มีความสามารถในการแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว และเพิ่มจำนวนมากมาย รูปแบบของกิจกรรมเป็นการแสดงบทบาทสมมติ โดยให้นักเรียนแสดงเป็นพืชท้องถิ่น  พืชต่างถิ่นที่รุกราน และศัตรูในธรรมชาติ กิจกรรมนี้ดัดแปลงมาจากกิจกรรมการเรียนรู้ใน the Invasive Plant Species (IPS) Education Guide ที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัย Wisconsin-stout ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่รุกราน รายละเอียดของกิจกรรมมีดังนี้

 

 1. ใช้เทปกาวติดลงบนพื้นห้องเพื่อสร้างตารางสี่เหลี่ยมจำนวน 16 ช่อง ให้พื้นที่ของแต่ละช่องมีขนาดที่นักเรียน 1 คน สามารถยืนได้  ตารางสี่เหลี่ยมดังกล่าวแทนพื้นที่ในธรรมชาติ

          54-5-2

 2. ในการแสดงบทบาทสมมติ ครูอาจให้นักเรียนแต่ละคนหนีบกระดาษสีไว้ที่กระเป๋าเสื้อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนบทบาทที่ได้รับ เช่น สีเขียวเข้มแทนพืชท้องถิ่น   สีเขียวอ่อนแทนเมล็ดพืชท้องถิ่น สีส้มแทนพืชต่างถิ่นที่รุกราน สีแดงแทนเมล็ดพืชต่างถิ่นที่รุกราน สีดำแทนกวาง สีน้ำตาลแทนหนู หรืออาจเขียนป้ายติดกระเป๋าเสื้อของนักเรียนเลยก็ได้

3. ตัดกระดาษแข็งสีต่างๆ เป็นชิ้นๆ แทนปัจจัยทางกายภาพ เช่น ชิ้นกระดาษสีแดงแทนแสงอาทิตย์ ชิ้นกระดาษสีขาวแทนน้ำ ชิ้นกระดาษสีน้ำตาลแทนแร่ธาตุ และโยนชิ้นกระดาษปัจจัยทางกายภาพกระจายลงบนพื้นที่ตารางสี่เหลี่ยม ใช้จำนวนชิ้นกระดาษสีละประมาณ 30 ชิ้น

               54-5-3

 4. ให้นักเรียนที่แสดงเป็นพืชท้องถิ่นยืนในตารางสี่เหลี่ยม 15 ช่อง เหลือที่ว่าง 1 ช่องให้นักเรียนที่แสดงเป็นพืชต่างถิ่นที่รุกราน

            54-5-4

 5. บอกนักเรียนว่าพืชท้องถิ่นต้องการแสง น้ำ และแร่ธาตุ ให้นักเรียนที่แสดงเป็นพืชท้องถิ่นเก็บกระดาษสีแทนปัจจัยต่างๆ สีละ3ชิ้นภายในเวลา 10 วินาที ในขณะที่พืชต่างถิ่นที่รุกราน ให้เก็บกระดาษสีเพียงสีละ 1 ชิ้น ภายในเวลา 10 วินาที นักเรียนที่เก็บได้ไม่ครบถือว่าพืชได้รับปัจจัยทางกายภาพไม่เพียงพอและตาย ให้นักเรียนออกจากช่องสี่เหลี่ยม ทำให้มีพื้นที่ว่าง

            54-5-5

 6. แสดงศัตรูธรรมชาติของพืชท้องถิ่น เช่น การที่กวางเข้าไปกินพืชท้องถิ่น โดยให้นักเรียนที่แสดงเป็นกวางเข้าไปเลือกนักเรียนที่แสดงเป็นพืชท้องถิ่นออกไป 3 คน ทำให้มีที่ว่างมากขึ้น และแสดงการขยายพันธุ์พืชโดยให้พืชท้องถิ่นสามารถผลิตเมล็ดได้ 1 เมล็ด ในขณะที่พืชต่างถิ่นที่รุกรานสามารถผลิตเมล็ดได้ 4 เมล็ด โดยให้นักเรียนที่แสดงเป็นเมล็ดพืชยืนเตรียมพร้อมนอกตาราง

 54-5-6

 7. แสดงศัตรูธรรมชาติของพืชท้องถิ่น เช่น การที่หนูกินเมล็ดพืช โดยให้นักเรียนที่แสดงเป็นหนูเข้าไปเลือกนักเรียนที่แสดงเป็นเมล็ดพืชท้องถิ่นออกไปครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ให้นักเรียนที่แสดงเป็นเมล็ดพืชที่เหลือลงไปจับจองพื้นที่สี่เหลี่ยม และเปลี่ยนกระดาษสีที่ติดบนกระเป๋าเสื้อของนักเรียน เพื่อแสดงว่าพืชได้เจริญเติบโตเป็นต้นใหม่

              54-5-7

 8. ทำข้อ 5-7 อีก 3 รอบหรือจนเห็นว่านักเรียนที่แสดงเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเข้ายึดครองพื้นที่เกือบทั้งหมด

              54-5-8

 

               หลังกิจกรรมควรมีการอภิปรายในชั้นเรียนโดยนักเรียนควรสรุปได้ว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานมีความสามารถในการแย่งปัจจัยทางธรรมชาติจากสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น ขยายพันธุ์ได้ดีและไม่มีศัตรูธรรมชาติ ซึ่งมีผลทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันค่อยๆลดจำนวนลง  นอกจากนี้ นักเรียนควรมีโอกาสศึกษาโดยการสำรวจชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่รุกรานในชุมชนใกล้บ้าน หรือในโรงเรียน โดยสามารถสืบค้นรายละเอียดเกี่ยวกับชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นได้ในเวปไซต์ :

 http://chm-thai.onep.go.th/webalien/species.html

                ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานยังคงเป็นปัญหาทั้งในประเทศและหลายประเทศทั่วโลก สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตดังกล่าวนอกจากมาตรการต่างๆของภาครัฐ คือ การให้การศึกษาแก่ประชาชน และส่งเสริมให้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการนำสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นมาเลี้ยง และปล่อยสู่ธรรมชาติโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

 

เอกสารอ้างอิง

ข่าวมติชน. เตือนทิ้งขว้าง"กระต่ายแคระ"อาจสร้างปัญหาต่อระบบนิเวศ หมอดูแนะ"ปีไก่"ชงปี

             เถาะหาของมาเสริมดวงOnline available: http://www.matichon.co.th/

                 news_detail. php?newsid=1293589801&grpid=00&catid=00 Retrieved

                 21/1/2554

ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสถาบัน. กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียนสาระ    

                การเรียนรู้ พื้นฐานและเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 6. พิมพ์ครั้งที่ 3กรุงเทพฯ: องค์การค้า

                ของ สกสค. 2550.

สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

                กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. ชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่รุกรานในประเทศไทย.

                Online available: http://chm-thai.onep.go.th/webalien/species.html 

                Retrieved 21/1/2554

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2551. มาตรการป้องกัน ควบคุม

                และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Mason,Kevin; James, Krista; Carlson, Kitrina; and D’Angelo, Jean. 2010. The Invasive

            Plant Species Education Guide: A Series of Lessons to Engage Students in

            Community Science Projects. The Science Teacher. 77 (4)

 

 

 

update 14 March 2011

 

 

 

 5,141 total views,  1 views today