ไลเคน (ม.ค. 54)

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2554

 plants flowers ice rocks lichens 209

                                                                                                                                         โดย… ดร.สุนัดดา  โยมญาติ

        ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการดำรงชีวิตแบบภาวะพึ่งพากันระหว่างสาหร่ายสีเขียวและไซยาโนแบคทีเรียกับฟังไจ (fungi) โดยที่เรียกสาหร่ายสีเขียวหรือไซยาโนแบคทีเรียในไลเคนว่า โฟโตไบออนท์ (photobiont) และเรียกฟังไจว่าไมคอไบออนท์ (mycobiont) ฟังไจในไลเคนส่วนมากอยู่ในไฟลัมแอสโคไมโคตาและมีบางชนิดเป็นฟังไจในไฟลัมเบสิดิโอไมโคตาบ้างเรียกไลเคนที่เกิดจากฟังไจ 2ไฟลัมนี้ว่าแอสโคไลเคน (ascolichen) (ภาพที่ 1) และเบสิดิโอไลเคน (basidiolichen) (ภาพที่ 2)  ตามลำดับ รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในไลเคน อาจเป็นได้ 3 รูปแบบ คือ

1.       ฟังไจกับสาหร่ายสีเขียว

2.       ฟังไจกับไซยาโนแบคทีเรีย

3.       ฟังใจกับสาหร่ายสีเขียวและไซยาโนแบคทีเรีย

                            54-4-2

ภาพที่ 1 แอสโคไลเคน

(ทีมา  http://steveaxford.smugmug.com/Living-Things/Fungi-the-recyclers/Ascomycota-and-lichen/5040394_vkS5m/2/179222087_RLeo7/Small (retrieved 20/11/10)

 

54-4-3 

ภาพที่ 2 เบสิดิโอไลเคน Dictyonema glabratum 

ที่มา http://www.amjbot.org/content/vol94/issue8/cover.shtml (retrieved 20/11/10

)

การดำรงชีวิตของไลเคน

สาหร่ายสีเขียวและไซยาโนแบคทีเรียสามารถสร้างอาหารได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ฟังไจจึงได้รับอาหารนั้นด้วย ขณะเดียวกันเส้นใยหรือไฮฟา (hypha)ของฟังไจมีสมบัติในการเก็บความชื้นได้ดี ฟังไจจึงช่วยรักษาความชื้นให้กับสาหร่ายสีเขียวและไซยาโนแบคทีเรีย นอกจากนี้เส้นใยของฟังไจที่สานตัวกันแน่นจะช่วยป้องกันความร้อนและแสงแดดอีกด้วย

ไลเคนพบได้ทั่วไป ทั้งบริเวณที่มีอากาศหนาวแถบขั้วโลก หรือตามทะเลทรายที่ร้อนและแห้งแล้ง ตามชายหาดหิน ป่าในเขตอบอุ่นและเขตร้อนตั้งแต่พื้นราบจนถึงยอดเขาสูง แต่จะไม่พบไลเคนบริเวณที่มีมลพิษในอากาศ เช่น เขตอุตสาหกรรม เขตเมืองที่มีมลพิษ หรือบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น  ดังนั้นไลเคนจึงเสมือนเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของอากาศได้อีกด้วย

 

โครงสร้างของไลเคน

ฟังไจกับสาหร่ายสีเขียวหรือไซยาโนแบคทีเรียที่อยู่ร่วมกันเป็นไลเคน จะสร้างโครงสร้างที่เรียกว่าทัลลัส (thallus) เมื่อผ่าไลเคนตามขวางเพื่อดูโครงสร้างภายในทัลลัส พบว่าประกอบขึ้นจากไฮฟาของฟังไจกับสาหร่ายสีเขียวหรือไซยาโนแบคทีเรียเรียงตัวกันเป็น ชั้น ดังภาพที่ 3 ซึ่งประกอบด้วย

54-4-4

 

ภาพที่ 3 ภาพตัดตามขวางของไลเคน

ที่มา http://www.uoguelph.ca/~gbarron/MISC2006/lichen.htm (retrieved 20/11/10)

 

     1. ชั้นอัพเปอร์คอร์เทกซ์ (upper cortex) เป็นชั้นบนสุดที่เกิดจากไฮฟาของฟังไจสานตัวกันอย่างแน่น 
     2. ชั้นเมดูลลา (medulla) เป็นบริเวณที่โฟโตไบออนท์อาศัยอยู่ โดยไฮฟาของฟังไจพันไว้โดยรอบ เป็นชั้นที่เก็บน้ำและธาตุอาหารต่าง ๆ (ภาพที่ 4)

 

Lichen, Xanthoria flammea, cross section SEM 54-4-6

ภาพที่ 4 ภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอน แสดงเซลล์ของสาหร่ายในชั้นเมดูลา

ที่มา http://gallery.bestpicture.ch/bestpicture/series-5/picture-2443/?q7=en (retrieved 20/11/10)

     3. ชั้นโลเวอร์คอร์เทกซ์ (lower cortex) อยู่ด้านล่าง เป็นชั้นที่ไฮฟาของฟังไจสานกันแน่นและ     ไฮฟาบางส่วนพัฒนาเป็นไรซีน (rhizine) เพื่อใช้ยึดเกาะกับผิววัสดุ

                             54-4-7

ภาพที่ 5 ไรซีนทำหน้าที่ยึดไลเคนไว้กับผิววัสดุ

ที่มา http://allencentre.wikispaces.com/Mosses,+Lichens+and+Liverworts (retrieved 20/11/10)

ไลเคนสามารถแบ่งตามลักษณะของทัลลัสได้เป็น กลุ่ม คือ

1.       ครัสโตส (Crustose) มีลักษณะเป็นฝุ่นผงอัดเป็นแผ่นแบน (crusty) เกาะติดแน่นกระจายบนก้อนหิน เปลือกไม้ หรือกิ่งไม้ สามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ พบไลเคนกลุ่มนี้ได้ทั่วไป

54-4-8

ภาพที่ 6 ครัสโตสไลเคน

ที่มา http://www.thaigoodview.com/node/72944?page=0%2C5 (retrieved 20/11/10)

 

2.  โฟลิโอส (Foliose) มีลักษณะเป็นแผ่นแบนคล้ายแผ่นใบ (leafy) ด้านล่างมีไรซีนใช้เกาะติดกับก้อนหินหรือเปลือกไม้ พบได้บริเวณที่มีความชื้น

                         54-4-9

ภาพที่ 7 โฟลิโอส ไลเคน

ที่มา http://www.naturfoto-cz.de/tube-lichen:hypogymnia-physodes-photo-1610.html (retrieved 20/11/10)

 

3.      ฟรูติโคส (Fruticose) หรือฝอยลม มีลักษณะเป็นกิ่งก้านหรือเส้นคล้ายกิ่งไม้หรือไม้พุ่ม (shrubby) เกาะตามกิ่งไม้ทั่วไป มักพบตามบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น ภูเขาสูง น้ำตก ชายฝั่งทะเล

54-4-10

ภาพที่ 8 ฟรูติโคสไลเคน

ที่มา http://www.flickr.com/photos/45693831@N00/386266124 (retrieved 20/11/10)

4.      สะแควมูโลส (Squamulose) มีลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายเกล็ดปลา มีบางส่วนของทัลลัสเกาะติดกับผิววัตถุเพียงเล็กน้อย

54-4-11

ภาพที่ 9 สะแควมูโลสไลเคน

ที่มา http://website.nbm-mnb.ca/mycologywebpages/NaturalHistoryOfFungi/AlgalMutualisms.html (retrieved 20/11/10)

 

ประโยชน์ของไลเคน

          ในสมัยโบราณไลเคนนำมาใช้เป็นยาพื้นบ้าน ใช้ลดไข้ รักษาโรคผิวหนัง แผลติดเชื้อ บรรเทาอาการท้องเสีย นำมาผลิตเป็นน้ำหอม และสกัดสีสำหรับย้อมผ้าและใส่ในเครื่องดื่ม หรือใช้เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นกรด เบสของสารต่างๆ เช่น ลิตมัสสีน้ำเงิน (litmus) ซึ่งสกัดได้จากไลเคนหลายชนิด ปัจจุบันเมื่อมีการศึกษาสมบัติของไลเคนแล้ว พบว่าไลเคนสามารถสร้างสารประกอบประเภทฟีนอลหลายชนิด ซึ่งมีสมบัติดูดซับแสง UVB และมีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาสารประกอบทุติยภูมิที่สกัดจากไลเคนหรือฟังไจที่แยกจากไลเคน พบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพมากกว่า 1,000 ชนิด ซึ่งมีสมบัติยับยั้งจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ฟังไจและไวรัส ยังยั้งเซลล์มะเร็ง และช่วยลดไข้ เป็นต้น

     นอกจากนั้นไลเคนยังถูกใช้เป็นตัวบ่งชี้ในการวัดคุณภาพของอากาศได้อีกด้วย ซึ่งไลเคนแต่ละชนิดมีความสามารถในการทนทานต่อระดับมลภาวะได้ไม่เท่ากัน ไลเคนที่ใช้วัดคุณภาพอากาศมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกคือกลุ่มที่อ่อนไหวมาก เช่น ฟรูติโคส ซึ่งขึ้นเฉพาะบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์และมีความชื้นสูง กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่อ่อนไหว เช่น โฟลิโอส ที่ดำรงชีวิตในบริเวณที่มีอากาศดี และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่ทนทานต่ออากาศไม่ดีได้ การสำรวจพื้นที่ศึกษาว่ามีไลเคนกลุ่มใดบ้างและมีจำนวนมากน้อยเพียงใด จะสามารถบอกได้ว่าคุณภาพอากาศในบริเวณนั้นเป็นอย่างไร

—————————————————————

เอกสารอ้างอิง

Muller, K. 2001. Pharmaceutically relevant metabolites from lichens. Appl. Microbiol. Biotechnol. Vol. 56 (1-2) : 9-16.

Shukla, V.  Joshi, J.P., and Rawat M.S.M. 2010. Lichens as a potential natural source of bioactive compounds: a review. Phytochemistry ReviewsVol. 9 (2): 303-314.

หน่วยวิจัยไลเคน (Online). Available :  http://www.ru.ac.th/lichen/ (Retrieved 20/11/2010)

สำรวจไลเคนเมืองกรุงกับนักสืบสายลม (Online). Available :  http://www.oknation.net/blog/naturethai/2009/12/09/entry-1(Retrieved 20/11/2010)

Lichen (Online). Available :  http://en.wikipedia.org/wiki/Lichen (Retrieved 20/11/2010)

Lichen Transect Procedure (Online). Available :  http://www.concord.org/~btinker/gaiamatters/investigations/lichens/procedure.html (Retrieved 20/11/2010)

Mutualisms between fungi and algae (Online). Available :  http://website.nbm-mnb.ca/mycologywebpages/NaturalHistoryOfFungi/AlgalMutualisms.html (Retrieved 20/11/2010)

What is a Lichen (Online). Available :  http://www.earthlife.net/lichens/lichen.html (Retrieved 20/11/2010)

 44,355 total views,  1 views today