ไบโอมป่าสน (6 ต.ค. 2551)

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2552

         ป่าสน

โดย. ดร.วนิดา  ธนประโยชน์ศักดิ์

         ไบโอมป่าสน  จัดเป็นไบโอมบนบกที่สำคัญประเภทหนึ่ง พบกระจายอยู่ในเขตละติจูดเหนือ จึงเรียกว่า ป่าสนตอนเหนือ (Northern Coniferous Forest) หรือป่าไทกา (Taiga forest) หรือป่าบอเรียล (Boreal forest) ป่าประเภทนี้จัดเป็นป่าประเภทไม่ผลัดใบ มีพื้นที่ครอบคลุมในเขตทวีปอเมริกาเหนือจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก  รวมทั้งพื้นที่บริเวณยุโรปเหนือ สแกนดิเนเวีย รัสเซียและแถบเอเซียผ่านไซบีเรียและมองโกเลียไปทางตอนเหนือของประเทศจีนและตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น ลักษณะภูมิอากาศของไบโอมป่าสนจะหนาวเย็นและแห้ง โดยปกติจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าจุดเยือกแข็งนานถึง 6 เดือนต่อปี มีช่วงฤดูร้อนสั้น ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 25-75 เซนติเมตรต่อปี  ส่วนใหญ่ฝนจะตกในช่วงฤดูร้อน ไม้เด่นที่พบในป่าสน ได้แก่     จำพวกสพรูซ (spruces) เฮมลอค (hemlocks)  ไพน์ (pines) และเฟอ (firs) ไม้เหล่านี้เป็นไม้เนื้ออ่อนสามารถขึ้นได้ดีในสภาวะที่ดินเป็นกรด มีใบเขียวตลอดปี ใบมีขนาดเล็ก รูปเข็ม (needle-like) หรือบางชนิดมีลักษณะคล้ายเกล็ด (scale-like) มีสารจำพวกขี้ผึ้งเคลือบที่ผิวใบภายนอกทำให้สามารถป้องกันการสูญเสียน้ำในช่วงที่อากาศหนาวจนถึงจุดเยือกแข็งได้  ลำต้นมีกิ่งก้านที่อ่อนนุ่มและยืดหยุ่น ในฤดูหนาวที่มีหิมะตกหนักคุณสมบัติของการที่มีกิ่งก้านยืดหยุ่นจะทำให้หิมะที่เกาะร่วงหล่นไปตามพื้นดินซึ่งสามารถช่วยไม่ให้หิมะที่ตกมาเกาะจับหนามากจนอาจทำให้กิ่งหักได้และเนื่องจากใบสนมีสารจำพวกขี้ผึ้งเคลือบเมื่อร่วงหล่นตามพื้นดินจึงทำให้ยากต่อการสลายโดยจุลินทรีย์  จึงทำให้ดินบริเวณนั้นค่อนข้างเป็นกรดและมีอินทรียวัตถุน้อย พืชจำพวกสนในป่าประเภทนี้จะสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่า  โคน (cone)  ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า  coniferous forest  หมายถึงป่าที่มีพืชที่สามารถสร้างโคนได้นั่นเอง

สพรูซ  (Picea sp.)  มีทั้งหมดประมาณ 35 สปีชีส์   ลำต้นส่วนใหญ่มีรูปทรงพิรามิดและค่อนข้างสูง  ที่รู้จักและคุ้นเคยกันดีส่วนใหญ่นำมาจัดตกแต่งเป็นต้นไม้ในเทศกาลคริสต์มาส และนิยมนำมาทำเป็นไม้บอนไซเนื่องจากรูปทรงของกิ่งก้านเรียงกันเป็นวงซ้อนกันขึ้นไปดูสวยงามและใบรูปเข็มค่อนข้างสั้น โคนก้านที่ติดกับใบค่อนข้างแคบ มีโคนขนาดเล็ก โคนเพศผู้และเพศเมียอยู่ภายในต้นเดียวกัน  การจำแนกสปีชีส์ของสพรูซจะใช้ลักษณะของโคนในการจำแนก
52-13-1    52-13-2
ภาพที่ 1 ใบของ Spruce
 52-13-3
ภาพที่ 2 Canadian spruce ที่พบในประเทศแคนาดา

เฮมลอค (Tsuga sp.) เป็นพืชพื้นเมืองทางฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือและทางตะวันออกของทวีปเอเซีย  ลักษณะเด่นของพืชชนิดนี้คือ มีใบรูปเข็มแบน บนแผ่นใบมีเส้นสีขาว 2 เส้นขนานกัน ก้านใบสั้นและมีโคน (cone) ขนาดเล็กและสั้นอยู่ในตำแหน่งที่ห้อยลงจากกิ่งก้าน เปลือกไม้มีสารพวกแทนนิน เนื้อไม้อ่อนแต่มีความเหนียวและแข็ง จึงเป็นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจในการนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างต่าง ๆ  ทำกล่องบรรจุภัณฑ์และกระดาษ  เป็นต้น

   52-13-4   52-13-5 52-13-6
ภาพที่ 3  (บน)  ต้น hemlock  (ล่าง) ใบและโคนของ hemlock

 ไพน์  (Pinus sp.)  เป็นพืชที่มีลักษณะทางกายภาพที่กว้าง  สามารถเจริญได้ทุกแห่ง  คุณลักษณะ 2 ประการที่ใช้ในการจำแนกไพน์ออกจากสนสกุลอื่น  ประการแรกได้แก่  ใบสนรูปเข็มรวมอยู่กันเป็นกลุ่มจำนวน 2 ใบหรือมากกว่าสองใบโดยมีกาบเล็ก ๆ หุ้มที่รอบฐานของกลุ่ม  ประการที่สอง โคนของไพน์จะมีลักษณะเป็นเป็นเนื้อไม้และแข็งกว่าโคนของสนสกุลอื่น รูปทรงของลำต้นมีกิ่งก้านแผ่ออกเหมือนมงกุฎ ใบนิยมนำมาทำเป็นชาเนื่องจากมีรสกลมกล่อมไม่ขมและมีฤทธิ์ทางยาในการช่วยขับปัสสาวะ สารสกัดจากด้านในของเปลือกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคท้องร่วงและแก้ไอ  ยางสามารถนำมาอุดรอยรั่วของเรือหรือหลังคาได้

 52-13-7     52-13-852-13-9
  ภาพที่ 4  (บน) ต้น pine   (ล่าง) ใบและโคนของ pine
เฟอ (Abies sp.)  ลำต้นรูปทรงพิรามิดและแตกกิ่งก้านตามแนวราบโดยกิ่งที่อยู่ด้านล่างจะห้อยติดพื้นดิน  fir จะมีส่วนที่คล้ายกับ spruce แต่ต่างกันตรงที่โคนของ fir จะตั้งตรงแต่โคนของ spruce จะห้อยลง เอกสารอ้างอิง  The Coniferous Forest.  (Online). Available: http://ths.sps.lane.edu/biomes/coniferous3.html. Moist Temperate Coniferous Forest Biome. (Online). Available:http://www.fw.vt.edu/dendro/Forsite/mtcfbiome2.html. (Online). Available: http://www.nearctica.com/trees/conifer/picea/Pglauca.html. Picea sp. (Online). Available: http://www.bonsai-bci.com/species/spruce.html. Abies sp. (Online). Available: http://www.bonsai-bci.com/species/spruce.html. Pinus sp. (Online). Available: http://www.1.agric.gov.ab.ca/ Pine. (Online). Available: http://en.wikipedia.org/wiki/Pinus Pinus sp. (Online). Available: http://www.botany.ubc.ca/facilities/arboteum/UBC010.html Hemlocks. (Online). Available: http://www.reed.edu/trees/TreePages/TSUG.html  Retrived August 2008.

 92,965 total views,  1 views today