ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

เขียนโดย webmaster เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2552

52-9-1

                                                                                                                                 โดย    นายธีรพัฒน์   เวชชประสิทธิ์          

              ต้นปี พ.ศ. 2552 พบการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศเม็กซิโก จากนั้นไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้ได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ในประเทศไทยเองผู้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีลูกหลานในวัยเรียนต่างตื่นกลัวกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จนรัฐบาลต้องออกมาตราการป้องกันโดยการสั่งปิดโรงเรียนชั่วคราว รวมทั้งการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่ชุมชนและล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารหรือเอามือสัมผัสกับใบหน้า เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้    

               เพื่อให้เข้าใจไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มากขึ้นผู้เขียนจึงขอรวบรวมข้อมูลทางชีววิทยาของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานให้ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารและมีความเข้าใจและรู้ทันไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ดียิ่งขึ้น    

  ข้อมูลพื้นฐานไวรัสไข้หวัดใหญ่    

 52-9-2

                ไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ ชนิด A ชนิด B และชนิด C โดยไข้หวัดใหญ่ชนิด A เป็นชนิดที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น สัตว์ปีก หมู ม้า แมว สุนัข รวมทั้งมนุษย์ ไข้หวัดใหญ่ชนิด B เกิดการติดเชื้อเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น ส่วนไข้หวัดใหญ่ชนิด C เกิดการติดเชื้อได้ทั้งในหมูและมนุษย์ ซึ่งไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จัดเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A จึงมีชื่อว่า A (H1N1)                                                                                           

                 ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็น RNA ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 8 ท่อน โดย RNA ทั้ง 8 ท่อนจะมีหน้าที่ควบคุมการสร้างโปรตีนและส่วนประกอบต่างๆ ของอนุภาคไวรัส ใน RNA 8 ท่อนนี้มีอยู่ 2 ท่อนที่มีความสำคัญ คือ HA และ NA โดย HA จะควบคุมการสร้าง heamagglutinin ส่วน NA จะควบคุมการสร้าง neuraminidase ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโปรตีนที่ห่อหุ้มอนุภาคของไวรัสและเป็นตัวกำหนดความหลากหลายของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดต่างๆ เช่น H1N1 H3N2 และ H5N1 เป็นต้น
     
  ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำไมจึงเป็นชื่อนี้    

                ในช่วงแรกที่มีการแพร่ระบาด ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้ถูกเรียกว่าไวรัสไข้หวัดหมู (swine flu) เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มี heamagglutinin เป็น H1 และ neuraminidase เป็น N1 เช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดหมู ชนิด A(H1N1)    

                ต่อมาวันที่  29 เมษายน พ.ศ. 2552 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เปลี่ยนชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่  จากเดิมที่เคยเรียกว่า ไวรัสไข้หวัดหมู (Swine Flu) เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A(H1N1) เนื่องจากนักวิทยาศาตร์ได้นำไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ พบว่า สารพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีความแตกต่างกับทั้งไวรัสไข้หวัดหมู และไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคน ซึ่งยังไม่เคยตรวจพบไวรัสที่มีสารพันธุกรรมแบบนี้มาก่อน จึงจัดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็น 
“ โรคติดต่ออุบัติใหม่ ”  (emerging infectious diseases)    

                สารพันธุกรรมชนิด RNA ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้จากการผสมผสานระหว่าง RNA ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดต่าง ๆ  ที่เคยมีการแพร่ระบาดมาก่อนในอดีต ซึ่งไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นนี้พบว่าเกิดการแพร่จากคนสู่คน  ไม่ได้เป็นไวรัสที่แพร่จากหมูมาสู่คนแต่อย่างใด จึงต้องมีการเปลี่ยนชื่อจากไวรัสไข้หวัดหมูที่เคยเรียกกันในตอนแรก เพื่อลดการเข้าใจผิดอันจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้
   
                แต่กระทรวงสาธารณสุขของไทยใช้ชื่อว่า “ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ ชนิด A(H1N1)” และใช้ชื่อย่อว่า “ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009”  เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจตรงกัน  ไม่สับสนกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A(H1N1) ซึ่งเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแต่เป็นไวรัสคนละชนิดกัน
   
   กำเนิดไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009   

                ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2541  เกิดการผสมระหว่างสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดหมูสายพันธุ์ c H1N1 กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ของคนสายพันธุ์ H3N2  ได้เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคนสายพันธุ์ 2r H3N2  ซึ่งมีสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดหมูผสมอยู่
   
     
               จากนั้นในปีพ.ศ. 2541 เกิดการผสมระหว่าง ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคนสายพันธุ์ 2r H3N2 กับไวรัสไข้หวัดนกที่ระบาดในแถบอเมริกาเหนือแต่ไม่ทราบสายพันธุ์ที่แน่ชัด กลายเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคนสายพันธุ์ใหม่ 3r H3N2 ซึ่งเป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดหมู ไวรัสไข้หวัดนกและไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคนผสมกันอยู่

52-9-3

แอนิเมชันการผสมผสานระหว่างไวรัสไข้หวัดใหญ่จนกลายเป็น AH1H1 

                      ที่มา : http://www.fao.org/AG/AGAInfo/programmes/en/empres/AH1N1/Background.html
   
               เวลาผ่านไปเกือบทศวรรษไวรัสดังกล่าว (3r H3N2) ไม่ได้มีบทบาทในการแพร่ระบาดในสังคมโลกจนกระทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคนสายพันธุ์ 3r H3N2 ได้กลับมาผสมกับไวรัสไข้หวัดหมูสายพันธุ์ c H1N1 อีกครั้ง ได้เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ คือ r H1N1 และ r H1N2 ซึ่งไวรัสทั้ง 2 สายพันธุ์นี้มีสารพันธุกรรมทั้งจากไวรัสไข้หวัดหมู ไวรัสไข้หวัดนก และไวรัสไข้หวัดใหญ่ของคนผสมกันอยู่

                และในปีพ.ศ. 2552  ซึ่งเป็นปีที่พบการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น  คาดว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้น่าจะเกิดจากการผสมระหว่างไวรัสไข้หวัดหมูสายพันธุ์  Eurasian (ไวรัสไข้หวัดหมูสายพันธุ์ที่ระบาดในยุโรปผสมกับสายพันธุ์ที่ระบาดในเอเชีย)  กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ r H1N1 หรือ r H1N2 ตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งกล่าวได้โดยสรุปก็คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 A (H1N1) มีการผสมผสานของสารพันธุกรรมที่มาจากไข้หวัดหมูสายพันธุ์อเมริกาเหนือ ไข้หวัดหวัดหมูสายพันธุ์ Eurasian ไข้หวัดนกสายพันธุ์อเมริกาเหนือและไข้หวัดใหญ่ในคน
   
               
                สิ่งที่ควรติดตามคือ ถ้าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีโอกาสไปผสมกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดอื่นๆ จนได้ไวรัสที่มีความรุนแรงมากและไม่มียาที่จะสามารถต้านทานไวรัสดังกล่าวได้ เราจะมีมาตราการป้องกันไม่ให้เหตุการเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร 
 

 2,645 total views,  5 views today