ชิคุนกุนยา ชื่อนี้แปลกหู

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2552

52-7-1

                                                                                                                                               โดย…  ดร.สุนัดดา  โยมญาติ      

 
          ชิคุนกุนยา (chikungunya)  หลายคนคงเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้างจากข่าวการแพร่ระบาดของโรคนี้ทางภาตใต้ของประเทศไทย ด้วยชื่อเรียกที่แปลกหูทำให้บางคนคิดว่าเป็นโรคใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นโรคเก่าที่กลับมาระบาดอีกครั้ง สำหรับประเทศไทยก็เคยมีการแพร่ระบาดของโรคนี้มาแล้ว จากชื่อที่จำยากเรียกยากทำให้ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่าโรคกุนยาหรือโรคญี่ปุ่น เนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าชิคุนกุนยาเป็นภาษาญี่ปุ่น  ทั้งที่แท้จริงแล้วชิคุนกุนยาเป็นคำในภาษามากอนดี (Makonde) ซึ่งเป็นภาษาของคนพื้นเมืองในแอฟริกาที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่พบการระบาดของโรคครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศแทนซาเนียเมื่อปี พ.ศ.2495 ชิคุนกุนยาแปลว่าตัวโค้งงอ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อมากจนตัวโค้งงอ จึงตั้งชื่อโรคนี้ตามอาการของผู้ป่วย 

โรคชิคุนกุนยาเกิดจากสาเหตุใด  

           โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (chikungunya virus : CHIKV) ซึ่งเป็น RNA virus จัดอยู่ในสกุล Alphavirus วงศ์ Togaviridae จากการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสแบ่งได้เป็น 3 สายพันธุ์คืออาเซียน แอฟริกันตะวันออกและแอฟริกันตะวันตก

  52-7-2
  ภาพแบบจำลองแสดงโครงสร้างของไวรัสชิคุนกุนยา
(ภาพจาก http://www.chikungunya.in/chikungunya-virus.shtml : Retrieved 05/06/09) 

    
อะไรทำให้เกิดการติดต่อของโรค  

          พาหะของโรคคือยุงลายเช่นเดียวกับไข้เลือดออก หลังจากยุงลายกัดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสชิคุนกุนยาอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เชื้อไวรัสจะอยู่ในตัวยุงได้ตลอดอายุขัยของยุง (ประมาณ 8 วัน) และเมื่อยุงมากัดคนปกติก็จะถ่ายทอดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้
  
          ยุงลายที่เป็นพาหะของโรคชิคุนกุนยาในประเทศไทย คือยุงลายบ้านที่หากินภายในอาคารบ้านเรือนและยุงลายสวนที่ชอบหากินนอกบ้านบริเวณป่า   

 52-7-3
          ยุงลายบ้าน (ภาพบนซ้าย) และยุงลายสวน (ภาพบนขวา) มีรูปร่างลักษณะที่คล้ายกัน แต่ยุงลายสวนจะมีแถบสีขาวบริเวณด้านบนของลำตัว (ภาพล่างขวา)
  (ภาพจาก http://edis.ifas.ufl.edu/LyraEDISServlet?command=getScreenImage&oid=1396982 : Retrieved 05/06/09)

 
ผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการของโรคอย่างไร  

           ผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาจะมีอาการค่อนข้างเฉียบพลัน มีไข้ขึ้นสูงร่วมกับมีผื่นแดงบริเวณลำตัวและแขนขา ปวดบวมตามข้อ ผู้ป่วยบางรายอาการอาจจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้หรือไม่สามารถเดินได้ อาการปวดข้อจะหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ขณะที่บางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในวัยผู้ใหญ่ ปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิต สามารถหายได้เองและจะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต  จากลักษณะเด่นของโรคนี้คือมีอาการปวดข้อและสามารถติดต่อได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค จึงเรียกชื่อโรคนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “โรคปวดข้อยุงลาย” 

        52-7-4   52-7-5
ลักษณะผื่นที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา (ซ้าย)  ข้อนิ้วและข้อมือมีอาการบวม (ขวา)
  (ภาพจาก www.moph.go.th/ops/iprg/news_pic/Chikungunya19%20may%2009%20DMS.ppt : Retrieved 07/06/09)

 
  
โรคนี้มาจากไหนและทำไมถึงได้พบผู้ป่วยที่ภาคใต้  

           โดยทั่วไปเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาจะมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะ แต่จากการศึกษาการแพร่ระบาดของโรคครั้งล่าสุดบริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย (La Réunion Island) เมื่อปี พ.ศ.2547 พบว่าเชื้อไวรัสสามารถเปลี่ยนไปแพร่พันธุ์ในยุงลายสวน (Aedes albopictus)  ได้ เนื่องจากเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์แอฟริกันที่ตำแหน่งยีน E1  

            จากนั้นได้มีการระบาดเข้าสู่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซียและแหลมมลายู และเข้าสู่ประเทศไทยโดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มมีรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาในปลายเดือนกันยายน 2551 แล้วแพร่ระบาดเข้าสู่จังหวัดอื่นๆ ของภาคใต้ ข้อมูลการระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบันเชื่อว่ามีผู้ป่วยแล้วมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก และในประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยมากกว่า 2 หมื่นคน    
ทำไมโรคที่หลายปีจะพบในประเทศไทยสักครั้งถึงได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในภาคใต้ตอนนี้   

             แต่เดิมผู้ป่วยในประเทศไทยจะเกิดจากการติดเชื้อชิคุนกุนยาสายพันธุ์อาเซียน โดยมียุงลายบ้านเป็นพาหะ สำหรับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้เป็นสายพันธุ์แอฟริกัน ประชาชนจึงไม่มีภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยุงลายสวนซึ่งอาศัยอยู่ในสวนยางพาราและออกหากินได้ไกลกว่ายุงลายบ้าน ซึ่งในภาคใต้จะมีสวนยางพาราอยู่ใกล้บ้านและต้องไปกรีดยางตอนเช้ามืดโอกาสที่จะโดนยุงกัดจึงมีสูง  

             นอกจากนี้ภาคใต้มีฤดูฝนที่ยาวนานและฝนตกแทบตลอดปี ทำให้เกิดน้ำขังได้ง่าย และยุงมีวงจรชีวิตที่สั้นสามารถแพร่พันธุ์ได้เร็วจะเห็นได้ว่าจากปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวมาทั้งภูมิประเทศ ภูมิอากาศรวมทั้งพฤติกรรมในการประกอบอาชีพของคนในภาคใต้ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาได้ง่าย  

มียาที่สามารถป้องกันและรักษาโรคนี้หรือไม่  

            ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหรือยาที่ใช้รักษาโรคนี้โดยเฉพาะเจาะจง แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ โดยทั่วไปจะให้ยาแก้ปวดลดไข้ ยาทาหรือยากินลดอาการปวดข้อและแก้ผื่นคัน  
เราสามารถป้องกันไม่ให้มีการติดต่อหรือแพร่ระบาดได้อย่างไร 
 
            ในระยะ 1 สัปดาห์หลังมีไข้ ผู้ป่วยจะมีไวรัสในเลือด ควรป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงลายกัดเพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น โดยนอนกางมุ้งในเวลากลางวันและกลางคืน ผู้ที่จำเป็นต้องเข้าไปในสวนยางพาราหรือสวนผลไม้ที่มียุงชุกชุมควรป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าแขนยาวขายาวให้มิดชิด ทายากันยุง เป็นต้น รวมทั้งต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านและรอบบ้าน  

             นอกจากนี้สามารถพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายบริเวณกว้าง หรือใช้น้ำยาล้างจานหรือน้ำยาซักผ้า 1 ส่วน ผสมน้ำ 4 ส่วน ฉีดพ่นในบริเวณที่มืดทึบที่ยุงมักชอบอาศัยอยู่ในบริเวณบ้าน เป็นการหลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีที่จะเป็นอันตรายได้ 
 
 
สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดไปกรีดยางเพื่อป้องกันยุง 

 52-7-6
 (ภาพจาก http://news.mcot.net/_images/MNewsImages_82923.jpg : Retrieved 07/06/09)

 

  52-7-7
   การพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายบริเวณบ้าน
 (ภาพจาก http://www.thaimuslim.com/overview.php?c=1&id=2464 : Retrieved 07/06/09)

 
  
ทำไมโรคชิคุนกุนยาจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ  

            ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มีโอกาสปวดข้อเรื้อรังทำให้กลายเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต ไม่สามารถไปทำงานได้ ผู้สูงอายุอาจจะเจ็บปวดมากจนไม่สามารถเดินได้จำเป็นต้องมีผู้ดูแล ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัวและเศรษฐกิจโดยรวม 

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรคชิคุนกุนยาจะไม่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่เราก็ควรที่จะระมัดระวังป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดรวมทั้งทำลายแหล่งที่อยู่และแพร่อาศัยของยุงลาย นอกจากจะช่วยป้องกันโรคชิคุนกุนยาแล้วยังเป็นการป้องกันไข้เลือดออกได้อีกด้วย 
  

เอกสารอ้างอิง 
 
“ชิคุนกุนยา”
 ไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่จากยุงลาย. (Online). Available : http://www.thaihealth.or.th/node/6323. (Retrieved 01/05/09)  
โรคไข้ปวดข้อชิคุนกุนยา (Chikungunya Fever). (Online). Available : http://www.doctor.or.th/node/6806.  (Retrieved 01/05/09)  
โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya). (Online). Available : http://dpc5.ddc.moph.go.th/SRRTcenter/SRRT_news4.pdf). (Retrieved  01/05/09)  
เหตุมียุงมากขึ้น ไข้ปวดข้อระบาด. (Online). Available : http://blog.spu.ac.th/panichat/2009/03/08/entry-1. (Retrieved 01/05/09)  Chikungunya. (Online). Available : http://en.wikipedia.org/wiki/Chikungunya. (Retrieved 01/05/09) 
Powers, A. M., Brault, A. C., Tesh, R. B., and Weaver, S. C. (2000). Re-emergence of Chikungunya and O’nyong- nyong viruses: evidence for distinct geographical lineages and distant evolutionary 

relationships. Journal of General Virology. 81: 471–479. 
Powers, A. M., and Logue, C.H. (2007). Changing patterns of chikungunya virus: re-emergence of a zoonotic arbovirus. (Online). Available :http://www.sgm.ac.uk/jgvdirect/82858/82858ft.pdf). 
 

 11,678 total views,  2 views today