มารู้จักกับพืชสมุนไพร 13 ชนิดที่ประกาศว่าอันตราย ตอนที่ 1

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2552

52-4-1     

 โดย… นางสาวนภาพันธุ์  เรืองสเถียรทนต์

         จากกรณีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่สามารถนำไปใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุม วัชพืช โรคพืช แมลงศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืชซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา  ตะไคร้หอม  ขมิ้นชัน  ขิง  ข่า  ดาวเรือง  สาบเสือ  กากเมล็ดชา  พริก ขึ้นฉ่าย  ชุมเห็ดเทศ  ดองดึง  และหนอนตายหยาก จัดเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข. ซึ่งประกาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก  และในเวลาต่อมาได้มีการทบทวนวิธีการประกาศโดยมีข้อเสนอให้ถอนรายชื่อพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดออกมาก่อน  จากข่าวดังกล่าวคงทำให้หลายคนอยากทราบถึงลักษณะทั่วไป รวมไปถึงประโยชน์และสรรพคุณของสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด ซึ่งได้รวบรวมไว้ดังนี้ 
 
1. สะเดา     
  
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta siamensis   
วงศ์   MELIACEAE   
ชื่ออื่น Holy tree, Pride of China, Indian Margosa Tree, Neem Tree. กะเดา  สะเลียม  จะตัง  ไม้เดา

            สะเดาเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 8-15 เมตร ลักษณะเรือนยอดเป็นพุ่มกลม  ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ขอบใบหยัก  ลักษณะดอกเป็นช่อดอกมีขนาดเล็กสีขาว

            เนื้อไม้ของสะเดามีคุณสมบัติใกล้เคียงกับไม้สัก  มีการนำสะเดาไปใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ใช้ในการปลูกบ้านหรือทำเฟอนิเจอร์  สารสกัดจากใบสะเดามีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลง  น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดสะเดาสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสบู่  ยาสีฟัน  เป็นยารักษาโรคผิวหนัง  โรคปวดตามข้อ  นอกจากนี้ยอดอ่อนและดอกสะเดาสามารถนำมารับประทานได้

                                                                    52-4-2
                                                                               ภาพที่ 1 สะเดา
     
2. ตะไคร้หอม        
 
ตะไคร้หอมเป็นพืชตระกูลเดียวกับตะไคร้บ้าน (ตะไคร้แกง)
           
ชื่อวิทยาศาสตร์  Cymbopogon nardus Rendle.  
วงศ์  GRAMINEAE  
ชื่ออื่น   Citronella grass  ตะไคร้แดง  จะไคมะขูด หรือตะไคร้มะขูด 
              ตะไคร้หอมจัดเป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 1-2 เมตรมีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นตั้งตรง ขึ้นเป็นกอประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน  ลักษณะคล้ายกับตะไคร้บ้านแต่ใบยาวกว่าและลำต้นมีสีแดง  มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว  ลักษณะดอกเป็นช่อดอกแยกออกเป็นแขนง  

          น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากใบและกาบ   ของตะไคร้หอมสามารถไล่ยุงและแมลงบางชนิดได้  นอกจากนี้ยังใช้แต่งกลิ่นในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง   เช่น สบู่  แชมพู  ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก  

                                                                52-4-3
                                                                            ภาพที่ 2 ตะไคร้หอม
 
3.  ขมิ้นชัน   

ชื่อวิทยาศาสตร์  Curcuma longa L.              
วงศ์  ZINGIBERACEAE  
ชื่ออื่น Turmeric ขมิ้น  ขี้มิ้น ขมิ้นทอง ขมิ้นดี ขมิ้นแกง ขมิ้นหยวก  
            ขมิ้นชันจัดเป็นพืชล้มลุก  สูงประมาณ 30 -90 เซนติเมตร มีเหง้ารูปไข่อยู่ใต้ดิน  มีแขนงแตกออกด้านข้างทั้งสองด้าน  เนื้อในเหง้ามีสีเหลืองส้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว  ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงซ้อนสลับกัน ใบรูปรี  ผิวใบเรียบ  ลักษณะดอกเป็นช่อดอกแทงตรงออกมาจากเหง้าแทรกอยู่ระหว่างภายในกลีบดอกรูปกรวยสีขาวนวล  
            ขมิ้นชันมีสารสีเหลืองหรือสารเคอร์คิวมิน (curcumin) ใช้แต่งสีอาหารได้  ในทางยาใช้ผงเหง้าขมิ้นชันทาแก้โรคผิวหนังผื่นคัน และใช้กำจัดแมลงบางชนิดได้อีกด้วย 
                                                               52-4-4-
                                                                              ภาพที่ 3 ขมิ้นชัน
 
      
4. ขิง  

ชื่อวิทยาศาสตร์  Zingiber officinale Roscoe  
วงศ์   ZINGIBERACEAE 
ชื่ออื่น  Ginger  ขิงแกลง  ขิงแดง  ขิงเผือก  สะเอ ขิงแครง 
             ขิงจัดเป็นพืชล้มลุก  มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในมีสีขาวแกมเหลือง หน่อหรือลำต้นขึ้นเป็นกอประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน  ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นสองแถว  ใบมีลักษณะคล้ายใบไผ่  ปลายใบเรียวแหลม  ลักษณะดอกเป็นช่อดอกสีขาว  ขิงจัดเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับข่า ขมิ้น กระชาย 

              ขิงเป็นทั้งพืชสุมนไพรและเครื่องเทศ มีสารที่ให้รสเผ็ดคือสารจิงเจอรัล (gingerol) และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวจากน้ำมันหอมระเหย  ขิงที่นำมาประกอบอาหารมีหลายรูปแบบ เช่น ขิงสด ขิงดอง ขิงแห้ง ขิงผง รวมทั้งน้ำขิงที่เป็นเครื่องดื่ม  มีสรรพคุณ เช่น รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน รักษาอาการไอที่มีเสมหะ  เหง้าขิงสดตำละเอียดผสมน้ำใช้ฉีดพ่นกำจัดแมลงได้  
 
                                                           52-4-5
                                                                               ภาพที่ 4 ขิง
    
5. ข่า 
  
      
ชื่อวิทยาศาสตร์  Alpiniagalanga L. 
วงศ์  ZINGIBERACEAE 
ชื่ออื่น Galingale, Galanga กฏุกกโรหินี  ข่าหยวก  ข่าหลวง  
           ข่าจัดเป็นพืชล้มลุก ขึ้นเป็นกอ  ต้นสูงประมาณ 1.5-2.5 เมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เหง้ามีสีน้ำตาลอมแสด  มีข้อและปล้องชัดเจน  เนื้อในเหง้ามีสีขาวมีรสเผ็ดและกลิ่นหอมเฉพาะตัว  ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ  รูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแกมใบหอก  ลักษณะดอกเป็นช่อดอกสีขาวนวล ดอกออกที่ปลายยอด  

          ข่าเป็นเครื่องเทศที่ใช้แต่งกลิ่นอาหารเพิ่มรสชาติ  ดอกและลำต้นอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด  สารสกัดจากข่ามีสรรพคุณด้านการรักษาโรค เช่น รักษากลากเกลื้อน  รักษาโรคปวดบวมตามข้อ  รักษาโรคหลอดลมอักเสบ  ใช้เป็นยาถ่ายและยาขับลม  นอกจากนี้พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากเหง้ามีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงเช่นเดียวกับขิง 
                                                    52-4-6
                                                                                   ภาพที่ 5 ข่า
 

6. ดาวเรือง 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Tagetes erecta L. 
วงศ์ COMPOSITAE 
ชื่ออื่น Marigold  ดอกคำพู่จู้  พอทู   
            ดาวเรืองจัดเป็นพืชล้มลุกทรงพุ่ม มีความสูงตั้งแต่  30–60 เซนติเมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตรงข้ามกัน ใบรูปรี ลักษณะดอกเป็นช่อดอกกระจุกอยู่ที่ปลายยอด มีสีเหลืองหรือสีส้ม  มีกลิ่นหอม  

        ดอกดาวเรืองใช้ประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม  มีการนำสารสกัดจากดอกดาวเรืองมาใช้รักษาอาการอักเสบของผิวหนังและแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก  ในกลีบดอกดาวเรืองมีสารสีเหลืองที่เรียกว่าแซนโทฟิลล์ (xanthophyll) สูง จึงมีการปลูกเพื่อเก็บดอกนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารไก่ไข่เพื่อให้ไข่แดงมีสีแดงสวยทดแทนสารสังเคราะห์   นอกจากนี้ภายในรากของดาวเรืองมีสารชนิดหนึ่งคือ แอลฟ่า เทอร์เธียนิล (& – terthienyl) ซึ่งเป็นสารที่สามารถควบคุมปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้เป็นอย่างดี  

                                                                       52-4-7
                                                                                    ภาพที่ 6 ดาวเรือง
   

7. สาบเสือ  
   
ชื่อวิทยาศาสตร์ Eupatorium odoratum L. 
วงศ์ COMPOSITAE 
ชื่ออื่น Bitter bush, Siam weed ผักคราด ฝรั่งรุกที่ หญ้าค่าพั้ง หญ้าดงร้าง หญ้าดอกขาว หญ้าฝรั่งเศส  
           สาบเสือจัดเป็นพืชล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขามากมายจนดูเป็นทรงพุ่ม  ลำต้นและกิ่งก้านปกคลุมด้วยขนอ่อนนุ่ม  ก้านและใบเมื่อขยี้จะมีกลิ่นแรงคล้ายสาบเสือ มีลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นที่ข้อแบบตรงกันข้าม รูปรี ขอบใบหยัก  ปลายใบแหลม ใบมีสีเขียวอ่อน มีขนปกคลุมผิวใบทั้งสองด้าน  ลักษณะดอกเป็นช่อดอกสีขาวหรือฟ้าอมม่วง กลีบดอกมีลักษณะเป็นหลอด  ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ผลมีขนาดเล็ก รูปร่างเป็นห้าเหลี่ยมสีน้ำตาลหรือดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล  ส่วนปลายผลมีขนสีขาวช่วยพยุงให้ผลและเมล็ดปลิวไปตามลม 

           สาบเสือเป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่หาง่าย มีอยู่ทั่วไป  ใช้ป้องกันและกำจัดแมลง  ต้นสาบเสือเมื่อนำมาสกัดด้วยไอน้ำจะได้สารที่มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการงอกของเมล็ดพืชได้หลายชนิด เช่น ข้าว โสน พริก ข้าวโพด  นอกจากนี้ต้นสาบเสือยังใช้เป็นดรรชนีชี้วัดความแห้งของอากาศ เพราะต้นสาบเสือจะออกดอกเมื่อมีสภาพอากาศที่แห้ง  
                                                      52-4-8
                                                                               ภาพที่ 7 สาบเสือ
 

 10,393 total views,  2 views today