เรื่องของปลา

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2551

51-5-1

                                                                                                                                               โดย … สุทธิพงษ์  พงษ์วร

         คุณเคยนั่งทอดอารมณ์ นั่งชมปลา แหวกว่ายธาราอยู่ไหวๆ หรือไม่ คาดว่าส่วนใหญ่คงต้องเคยทำแบบนี้มาแล้ว เอาน่า…ถ้าคุณยังไม่เคย ก็อยากให้คุณได้ลองทำดูสักครั้ง และลองสังเกตดูวิธีการว่ายน้ำของปลาเหล่านี้ เพื่อดูว่าทำไมปลาแต่ละชนิดถึงมีวิธีการว่ายน้ำแตกต่างกันไปได้ อาทิ เช่น ทำไมปลาเทวดา (Pterophyllum sp.) ถึงว่ายน้ำด้วยท่าทางแบบนั้น  ทำไมปลาทอง (Carassius sp.) ถึงว่ายน้ำด้วยท่าทางแบบนี้ ถ้ายกตัวอย่างเจ้าสองชนิดนี้ขึ้นมา เชื่อว่าผู้อ่านจะต้องเห็นความแตกต่างและสามารถหาคำตอบมาอธิบายได้คร่าวๆ บ้าง ว่าทำไมเจ้าปลาทั้งสองชนิดถึงได้มีลีลาท่าทางของการว่ายน้ำที่แตกต่างกัน และทำไมมันไม่เคยว่ายน้ำชนกันโครมครามเหมือนเวลาที่คนขับรถชนกันบนท้องถนนสักที นอกจากมันจะตั้งใจว่ายน้ำมาต่อสู้กับศัตรู หรือเข้ามาสีกับคู่รักของมันเท่านั้น
 
ความเหมือนในความแตกต่าง    
         ความเหมือนก็คือปลาทั้งสองชนิดที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้ก็คือมันต่างก็มีครีบหาง ครีบหลัง ครีบอก ครีบท้อง ครีบก้น เหมือนๆ กัน ความแตกต่างก็คือ ลักษณะของครีบ และรูปทรงของลำตัวปลาทั้งสองชนิดแตกต่างกัน รูปทรงของลำตัวและรูปร่างของครีบนี่เองที่เป็นตัวกำหนดลักษณะของการเคลื่อนไหว และการเลือกที่อยู่อาศัย และแหล่งหากินของปลาแต่ละชนิด ลองนึกเล่นๆ ถ้าคุณเกิดเป็นปลาที่มีรูปร่างเทอะทะ ครีบยาวรุงรัง อย่างเจ้าปลาทอง แล้วยังเลือกที่จะเข้าไปอยู่ในรูในดินโคลน ในโพรงดินใต้น้ำ มันก็กระไรอยู่ ครั้นจะเข้าออกจากโพรงแต่ละทีก็จะทำให้เก้งก้าง เกะกะและในที่สุดก็จะตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าไปในที่สุด สุดท้ายก็จะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ก่อนเวลาอันควร ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะไม่เห็นปลาที่มีรูปร่างสวยงามประหนึ่งนางแบบนายแบบปลา ว่ายน้ำร่อนไปร่อนมาอวดโฉมให้ชมกันง่ายๆ ถ้ามีให้เห็น ก็ต้องอาศัยอยู่ใกล้ๆ ที่หลบซ่อนสักหน่อย หรือโพรงที่พร้อมจะให้ว่ายหลบเข้าไปยามที่มีภัยมาได้ (พลันให้นึกถึงการคัดเลือกทางธรรมชาติขึ้นมาในทันที หนังสือเรียนชีววิทยา เล่ม 5 หน้า 125-127 )
 
           จริงๆๆ แล้ว ปลาทองในธรรมชาติไม่ได้มีครีบยาวดูรุงรังแบบที่เราเห็นขายกันตามร้านขายปลาทอง  แต่ดูเผินๆ ออกจะคล้ายปลาตะเพียนด้วยซ้ำไป สามารถดูรูปได้จากhttp://www.thejump.net/id/wild-goldfish.htm หรือที่ http://web.ukonline.co.uk/mark.smith/instp.html เลื่อนลงมาดูรูปที่ห้านะครับ  
           ผู้อ่านลองพิจารณาถึงรูปทรงของปลานิลและปลาดุก รวมถึงลักษณะของการว่ายน้ำ และแหล่งที่อยู่อาศัยของปลานิล ปลาดุก ดังภาพข้างล่าง ก็จะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะต้องพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดกับระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป (ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือที่มนุษย์พยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น)
 

51-5-2

51-5-3

51-5-451-5-5 

ภาพที่ 1 แสดงครีบปลาแต่ละชนิด

หน้าที่และการทำงานของครีบแต่ละชนิดของปลา 
         นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาหน้าที่และการทำงานของครีบปลาแต่ละชนิดไว้ และสามารถอธิบายได้คร่าวๆ ดังต่อไปนี้
 
         ครีบปลาเป็นรยางค์สำหรับช่วยในการเคลื่อนที่ ลอยตัวหยุดนิ่งหรือหยุดการเคลื่อนที่  ครีบปลาที่จะได้รู้จักโดยทั่วไป ก็มีครีบหลัง (dorsal fin)ครีบหาง (caudal fin)ครีบก้น (anal fin)ครีบอก (pectoral fin)และครีบเอว (pelvic fin หรือ ventral fin)สำหรับปลาไม่มีเกล็ด (catfish)จะมีติ่งเนื้อด้านหลังครีบหลัง เราเรียกว่า ครีบไขมัน (adipose fin หรือ fat fin)
         ครีบหลังและครีบก้นจะช่วยไม่ให้ตัวปลาเกิดการควงสว่านในขณะที่ว่ายน้ำไปข้างหน้า ส่วนครีบหางก็จะเป็นครีบหลักที่ช่วยทำให้ปลาว่ายน้ำเคลื่อนที่ไปด้านหน้า ส่วนครีบคู่อื่นๆ จะช่วยในการลอยตัวอยู่กับที่ ลอยตัวขึ้นด้านบนผิวน้ำ หรือหยุดการเคลื่อนที่ไปด้านหน้า

คลิกเพื่อดูแอนิเมชั่นประกอบบทความ
http://www.ipstweb.com/biology/LearningObjects/FishSwimming/intro.swf

 
ลักษณะอื่นๆ ที่พึงสังเกตได้ของปลา 
         รูปร่างของปาก จะบอกได้ถึงลักษณะของอาหารที่ปลากินเข้าไปเบื้องต้น เช่น ปลาที่มีปากขนาดใหญ่ก็น่าจะกินอาหารที่มีขนาดใหญ่ตามไปด้วย (แต่ก็ไม่เป็นเช่นนี้ในทุกกรณี)
 
         เส้นข้างลำตัว(lateral line)จะมีถุงบรรจุเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเรียงตัวอยู่ตามเส้นข้างลำตัวของปลา และถุงนี้จะมีรูเปิดออกด้านนอกเพื่อตรวจจับแรงดันของคลื่นน้ำต่างๆ ที่อยู่รอบตัวปลา ทำให้ปลาสามารถรับรู้ได้ว่า มีใครไปใครมาหรือมีวัตถุอะไรอยู่ข้างๆ ตัวหรือไม่ 
 
        รูเปิดของทางเดินอาหาร ท่อกำจัดของเสียจากไตและระบบสืบพันธุ์ เป็นท่อเปิดร่วมกันอยู่ด้านหน้าของครีบก้น
        แผ่นปิดเหงือก มีโครงสร้างแข็งเพื่อป้องกันเหงือกที่อยู่ภายใน และใช้เป็นทางออกของน้ำที่ไหลผ่านออกมาจากเหงือกหลังจากที่มีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว 
 
มหัศจรรย์เซ็นเซอร์บอกการเคลื่อนไหว
         มาตอบคำถามที่เกริ่นไว้ในตอนต้นกันดีกว่า คำตอบที่ได้ บางคนอาจจะตอบว่าที่ปลาว่ายน้ำไม่ชนกัน ก็เพราะปลามีตา ก็สามารถมองเห็นได้ แต่….ตาของปลาอยู่ด้านข้าง แถมยังไม่มีคอให้หมุนได้เหมือนคนหรือสัตว์อื่นๆ ทั่วๆ ไป ทำให้มุมมองของภาพที่เห็นไม่กว้างพอที่จะระวังภัยได้รอบตัว 
 
         ปลาจึงต้องอาศัยประสาทสัมผัสส่วนอื่นมาช่วยเสริมการรับรู้ของสิ่งต่างๆ รอบตัว เจ้าสิ่งที่มาช่วยทำให้ปลารับรู้ความเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ รอบตัวก็คือเส้นข้างลำตัว หรือ lateral line ที่เส้นข้างลำตัวปลาจะมีประสาทรับรู้แรงสั่นสะเทือนของคลื่นน้ำ ทำให้ปลากะระยะ และทิศทางการเคลื่อนที่เพื่อจะไม่ให้ว่ายน้ำชนกันได้ ปลาจะกะระยะทางของสิ่งต่างๆ ได้จากระดับความแรงของคลื่นน้ำ ซึ่งเมื่อกระทบกับปลายเส้นประสาทที่อยู่บริเวณเส้นข้างลำตัวแล้ว แรงสั่นสะเทือนก็จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานเคมีและถูกส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาท แปรผลข้อมูลออกมาเป็นระยะทางของสิ่งต่างๆ ตามความแรง และทิศทางของการสั่นสะเทือนของคลื่นน้ำ

51-5-6

ภาพที่ 3 ภาพวาดแสดงเส้นข้างลำตัวและการรับรู้แรงสั่นสะเทือนของคลื่นน้ำ

เอกสารอ่านเพิ่มเติม 
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544. 2548. พิมพ์ครั้งที่ 1. 255 หน้า. 

http://www.floridaconservation.org/fishing/Fishes/anatomy.html  Fish Anatomy

 76,627 total views,  8 views today