ปลิงกับบทบาททางการแพทย์

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2551

51-3-1 

โดย…นางสาวยุวศรี ต่ายคำ

หลายคนอาจจะรู้จักปลิงในฐานะของปรสิตที่ดูดเลือดกินเป็นอาหารและคิดว่าปลิงเป็นสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ทราบหรือไม่ว่าที่จริงแล้วปลิงถูกนำมาใช้ช่วยรักษาโรคได้ ปลิงจัดอยู่ในไฟลัมแอนนิลิดา (Annelid)  subclass Hirudinea มีสองเพศในตัวเดียว (Hermaphrodite) คือมีทั้งอันฑะและรังไข่อยู่ในตัวเดียวกัน ผสมพันธุ์ภายในตัวเองโดยใช้ clitellum ในการเก็บไข่ ปลิงอาศัยอยู่ทั้งบนบกและในน้ำ มีขนาดลำตัวอยู่ระหว่าง 5 – 45 มิลลิเมตร ปลิงบางชนิดเป็นปรสิตที่กินเลือดสัตว์จำพวกปลาไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและมนุษย์ โดยปลิงจะใช้อวัยวะที่เรียกว่าแว่นดูดหรือ sucker ซึ่งภายในจะมีขากรรไกรที่มีลักษณะเป็น 3 แฉกแต่ละแฉกจะมีฟันซี่เล็กๆอยู่จำนวนมากใช้สำหรับเกาะที่ตัวเหยื่อ นอกจากนั้นในน้ำลายของปลิงยังมีสาร Hirudin ที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดบริเวณที่ถูกปลิงกัดนั้นมีการไหลเวียนได้ตลอดเวลา และนี่คือเหตุผลที่แพทย์เลือกปลิงมาใช้เป็นการแพทย์ทางเลือก

51-3-2 

ที่มา : http://cache.eb.com/eb/image?id=26996&rendTypeId=4

           เมื่อ 2500 ปีก่อน ปลิงเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงการแพทย์สมัยโบราณ โดยปลิงถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคและช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ ซึ่งประวัติการนำปลิงมาใช้รักษาโรคนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ อ้างอิงได้จากภาพวาดบนฝาผนังที่พบบริเวณหลุมศพในช่วงราชวงศ์ฟาโรห์ เนื่องจากวงการแพทย์สมัยนั้นยังไม่เจริญแพทย์ชาวอียิปต์จึงนำปลิงไปใช้รักษาอาการโรคไขข้ออักเสบ ช่วยบรรเทาอาการไข้ และช่วยในการผ่าตัดหลอดเลือดดำ คนอิยิปต์โบราณเชื่อว่าการที่คนเราเจ็บป่วยหรือเป็นโรคนั้นเกิดจากความไม่สมดุลในร่างกายและหากต้องการทำให้อาการป่วยนั้นหายไปจะต้องปฏิบัติดังนี้คือ ให้ผู้ป่วยขับสารพิษออกจากร่างกายโดยการถ่ายอุจจาระ หรืออาเจียนออกมา หรือให้ผู้ป่วยอดอาหารเพื่อรอให้ร่างกายขับสารพิษออกมาและวิธีสุดท้ายคือการเอาเลือดเสียออกจากร่างกาย ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำปลิงมาช่วยรักษาโรคนั่นเอง

51-3-3 

ที่มา : http://brevity.biz/images/leech.jpg

               ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ได้มีการค้นคว้าและทำงานวิจัยเพื่อนำปลิงมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบ ปวดบวมหรือมีอาการทางสมองเช่น ปวดศีรษะหรือเลือดคั่งในสมอง โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องใช้การปลูกผิวหนังหรือเนื้อเยื่อรวมไปถึงการผ่าตัดอวัยวะต่างๆ เช่น การต่อกระดูกนิ้วเท้า ต่อแขน ขา โดยปลิงจะถูกนำมาช่วยรักษาอาการเลือดคั่งตามผิวหนังบริเวณที่เพิ่งได้รับการปลูกถ่ายใหม่ตลอดจนช่วยฟื้นฟูระบบการหมุนเวียนของเลือดบริเวณที่ผ่าตัดได้ ดังจะเห็นได้จากผลการวิจัยของ Essen – Mitte Clinic ในเยอรมันที่นำปลิงมาใช้รักษาคนไข้จำนวน 16 คน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีอายุเฉลี่ย 68 ปีและได้รับความเจ็บปวดจากโรคข้อต่อกระดูกอักเสบ ซึ่งวิธีการรักษานั้นเริ่มจากการนำปลิงจำนวน 4 ตัวไปวางไว้ตรงบริเวณที่ผู้ป่วยมีอาการปวด เช่น บริเวณหัวเข่า จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วจึงนำปลิงออก ทำเช่นนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอาการปวดนั้นบรรเทาลง ถ้าสังเกตจากขั้นตอนการรักษาแล้วดูเหมือนว่าปลิงจะมีส่วนช่วยทำให้อาการปวดนั้นบรรเทาลงได้ แต่ความจริงแล้วที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดนั่นอาจเป็นเพราะผู้ป่วยได้รับสาร Hirudin ในน้ำลายของปลิงที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกชา นั่นหมายความว่าปลิงไม่ได้ช่วยทำให้อาการของโรคข้อต่อกระดูกอักเสบหายไปเพียงแต่ช่วยทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดในขณะที่ทำการรักษามากกว่า ส่วนข้อควรระวังของการนำปลิงมาใช้รักษาโรคคือ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้สาร Hirudin ที่ได้รับจากปลิง อาจทำให้เกิดอาการแพ้จนเกิดเป็นผื่นคันตามผิวหนัง และอาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย ดังนั้นแพทย์จึงต้องทำการทดสอบผู้ป่วยก่อนทุกครั้งก่อนที่จะนำปลิงมาใช้รักษาทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง

51-3-4 

ที่มา : http://img187.imageshack.us/img187/5619/leech2rz5.jpg

 
เอกสารอ้างอิง 
1. Medical Leeches BBC news http://news.bbc.co.uk/1/hi/health/6940832.stm 
2. The humble leech’s medical magic BBC news http://news.bbc.co.uk/1/hi/health 
3. About leeches research institute of regeneration http://www.frb.spb.ru/eng/leeches.htm 
4. Leeches definition medical encyclopedia: leeches http://www.answers.com/topic/leech?cat=health 

5. Leeches ‘reduce arthritis pain’ BBC news http://news.bbc.co.uk/1/hi/health/1543325 
6. FDA approves leeches as medical devices Msnbc Health http://www.msnbc.msn.com/id/5319129/#storyContinued 
7. The Practice of leeching throughout history Science in Africa http://www.scienceinafrica.co.za/2003/july/leech.htm.
8. Leech Wikipedia http://www.en.wikipedia.org/wiki/Leech    
9. The return of the leech Health perspectives http://pubs.acs.org/subscribe/journals/tcaw/10/i10/html/10health.html

 10,816 total views,  2 views today