โป่ง (saltlick) แหล่งแร่ธรรมชาติที่ขาดไม่ได้ของสัตว์ป่า

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2551

                                  โดย…นางสาววิลาส  รัตนานุกูล

เมื่อพูดถึงโป่งหลาย ๆ คนคงจะรู้จักดี โดยเฉพาะคนที่ชอบเดินป่า และศึกษาธรรมชาติ 

         โป่ง คือ บริเวณหรือพื้นที่ที่สามารถพบแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ เช่น แคลเซียม (Ca) ฟอสฟอรัส (P)  โปแตสเซียม (K) โซเดียม (Na) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S) โคบอลล์ (Co) ทองแดง (Cu) ไอโอดีน (I) เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) และสังกะสี (Zn) เป็นต้น  ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นต่อร่างกายและการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่กินพืชเป็นอาหาร (herbivore) เช่น กวาง เก้ง กระทิง วัวแดง นก และช้างป่า เป็นต้น เนื่องจากพืชที่สัตว์กินเข้าไปไม่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุดังกล่าว สัตว์จึงต้องทดแทนโดยการกินดินหรือดื่มน้ำจากโป่งแทน

         โป่งที่พบโดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน  คือ โป่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และโป่งที่มนุษย์สร้างขึ้น  (เรียกว่าโป่งเทียม) โป่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ โป่งดิน กับโป่งน้ำ

  1. โป่งดิน (Dry licks) คือ บริเวณพื้นดินที่ประกอบด้วย แร่ธาตุต่าง ๆ โดยสัตว์มักจะใช้ปากขุดดิน เพื่อกินดินเหล่านั้น โดยจะเริ่มกินที่บริเวณผิวดินก่อนแล้วค่อย ๆ กินลึกลงไปเรื่อย ๆ จนเรามองเห็นเป็นแอ่งหรือเป็นบ่อ ซึ่งส่วนใหญ่มีความลึกไม่เกิน 1 เมตร  ในฤดูฝนโป่งดินอาจจะถูกน้ำท่วมขังสัตว์จะไม่กินส่วนที่เป็นดิน แต่จะกินน้ำที่ขังอยู่ในบริเวณโป่งดินแทน ส่วนในช่วงฤดูร้อนโป่งดินจะมีลักษณะแข็งจนสัตว์ไม่สามารถขุดดินเพื่อกินได้
  2. โป่งน้ำ  (Wet licks)  เป็นบริเวณที่เป็นต้นกำเนิดของลำธารหรือเป็นต้นน้ำ  มีน้ำไหลซึมตลอดทั้งปี  พบได้ในพื้นที่ที่เป็นน้ำซึมหรือน้ำซับหรือที่ไหลออกมาจากภูเขา แอ่งหรือบ่อที่เป็นโป่งดินมาก่อน โดยจะมีน้ำขังตลอดปี

         ทั้งโป่งดินและโป่งน้ำพบเห็นได้ในป่าค่อนข้างราบ โดยโป่งแต่ละแห่งจะมีแร่ธาตุที่แตกต่างกันออกไปดังนั้นสัตว์จึงมักจะกินดินโป่งจากหลาย ๆ โป่ง เพื่อจะได้รับแร่ธาตุต่าง ๆ ตามที่ร่างกายต้องการอย่างครบถ้วน โป่งสามารถพบได้ในป่าเบญจพรรณ  ป่าเต็งรัง และป่าดงดิบ

คลิกที่นี่เพื่อชม VDO โป่ง

         โป่งเทียมเป็นโป่งที่มนุษย์สร้างขึ้นส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นโป่งดิน โดยการขุดดินในบริเวณที่เลือกไว้ให้เป็นแอ่งแล้วนำเกลือสมุทรลงไปผสมกับดินบริเวณที่ขุดขึ้น เมื่อมีฝนตกหรือความชื้นจากน้ำค้างเกลือก็จะละลายทำให้ดินบริเวณนั้นเค็ม สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ก็จะพากันมากินดินเหล่านี้  โดยบริเวณที่นิยมเลือกทำโป่งเทียม คือ

  1. บริเวณพื้นที่ที่เคยเป็น "ดินโป่ง" มาก่อน แต่ดินเริ่มเสื่อมความเค็มลง และยังมีสัตว์ป่าลงมากินอยู่
  2. บริเวณพื้นที่ที่เป็น "โป่งร้าง" ซึ่งดินเสื่อมสภาพ และไม่มีสัตว์ป่าลงมากินหรือมาใช้ประโยชน์แล้ว
  3. บริเวณพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายกับดินโป่งธรรมชาติ
  4. บริเวณพื้นที่ที่เป็นด่านสัตว์ หรือใกล้กับด่านสัตว์ที่สัตว์ต้องเดินผ่านเป็นประจำอยู่แล้ว

         การใช้ประโยชน์ในพื้นที่โป่ง สามารถใช้ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม การใช้ประโยชน์ทางตรงพบได้ในสัตว์ป่าที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น เก้ง  กวาง  ช้าง  โดยสัตว์เหล่านี้จะกินดินจากโป่งดิน  หรือดื่มน้ำจากโป่งน้ำเพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุหรือสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายได้ครบถ้วน  ส่วนการใช้ประโยชน์ทางอ้อมก็คือสัตว์ที่กินสัตว์เป็นอาหาร (Carnivores) หรือผู้ล่า เช่น สิงโต เสือและหมาใน จะได้ประโยชน์จากโป่งในทางอ้อมโดยการใช้เป็นพื้นที่ในการซุ่มโจมตีเหยื่อหรือล่าสัตว์กินพืชที่ลงมากินดินโป่ง ซึ่งการล่าเหยื่อจากบริเวณนี้เป็นคำตอบว่าเหตุใดผู้ล่าจึงไม่จำเป็นต้องกินดินโป่งก็สามารถได้รับแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายได้ ซึ่งประโยชน์จากการกินต่อกันเป็นทอด ๆ นี้ทำให้เกิดการถ่ายทอดพลังงานในสิ่งมีชีวิต (energy flow) เกิดขึ้นในระบบนิเวศซึ่งส่งผลให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุลอีกด้วย

         มนุษย์เองก็ใช้ประโยชน์จากโป่งโดยทางอ้อมเช่นกัน เช่นใช้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติโดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ป่าโดยสังเกตจากรอยเท้าหรือร่องรอยที่ทิ้งไว้บริเวณโป่ง  ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเพื่อการล่าสัตว์โดย มนุษย์มักจะดักยิงสัตว์ที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากโป่ง

เอกสารอ้างอิง

http://www.deramakot.sabah.gov.my/English/wildlife.htm

http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi2/salt/saltn.htm

http://www.khaoyai.org/touristsite_8.html

 13,262 total views,  5 views today