โรคมะเร็งร้าย … ทำลายชีวิต

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2551

โดย…นางสาวยุวศรี  ต่ายคำ

         ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในประเทศไทย หากตรวจสอบจากสถิติการตายของประชากรในประเทศไทยจะพบว่าสาเหตุการตายด้วยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากประชาชนขาดความเอาใจใส่ต่อสุขภาพของตนเองเช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารไม่ถูกสุขอนามัย เป็นต้น โรคมะเร็งมีด้วยกันหลายชนิดแต่ที่รู้จักกันดีได้แก่ โรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งในลำไส้ โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงและโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย เป็นต้น  จะเห็นได้ว่าโรคมะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอวัยวะ ในร่างกาย ซึ่งโดยปกติเนื้อเยื่อของร่างกายจะมีการสร้างเซลล์ขึ้นมาทดแทนในส่วนที่ชำรุดหรือตายไป โดยกลไกดังกล่าวมีไว้ควบคุมให้การสร้างทดแทนนี้อยู่ในภาวะที่สมดุล  และเมื่อใดก็ตามที่กลไกในการควบคุมนี้เสียเนื้อเยื่อตรงส่วนนั้นก็จะเจริญอย่างผิดปกติ หากก้อนเนื้อที่ผิดปกตินี้โตขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ลุกลามไปไหน เรียกว่า เนื้องอกธรรมดาก็จะไม่เกิดอันตรายใดๆ แต่ถ้าก้อนเนื้อดังกล่าวเจริญผิดปกติและลุกลามไปยังเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆหรือที่เรียกว่าเนื้อร้าย ซึ่งเนื้อร้ายดังกล่าวจะขยายตัวไปทำลายโครงสร้างและหน้าที่ของอวัยวะใกล้เคียงจากนั้นอาจแพร่กระจายไปในเส้นน้ำเหลืองและเส้นเลือด ไปยังส่วนต่างๆของร่างกายและนั่นคือเหตุผลที่ว่าเหตุใดเซลล์มะเร็งจึงสามารถแพร่กระจายไปยังตำแหน่งต่างๆในร่างกายได้ภายในเวลาเดียวกัน  

51-2-1
มะเร็งกระเพาะอาหาร ที่มาภาพ http://www.thaiclinic.com/pu.html

51-2-2
 มะเร็งปอด ที่มาภาพ http://www.robertsreview.com/cancer_pictures.html 

          สาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งนั้นอาจเกิดจากปัจจัยภายในร่างกายเช่นเกิดจากการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมหรือสภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนั้นปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมก็อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้เช่น การได้รับสารเคมี  รังสี เชื้อไวรัสและพยาธิบางชนิด  เชื่อว่าแต่ละคนมีภูมิต้านทานที่ต่างกันซึ่งหากร่างกายได้รับสิ่งกระตุ้นหรือบางครั้งที่เราเรียกว่าสารก่อมะเร็ง ในปริมาณที่น้อยแต่ได้รับติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อและกลไกการควบคุมต่างๆภายในร่างกายจนก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้  ซึ่งปัจจัยบางอย่างที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ แต่เราสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้โดยการปฏิบัติตนให้มีสุขอนามัยที่ดีโดยการรับประทานอาหารให้ครบทั้ง  5 หมู่หรืออาหารที่มีสารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบเช่น

1. B-carotene (Carotenoid) คือเม็ดสีที่สามารถละลายได้ในไขมันพบมากในอาหารจำพวกผักและผลไม้ที่มีสีเหลืองหรือสีแดง

51-2-3


2. vitamin E คือหนึ่งในองค์ประกอบของสารอาหารที่ส่งเสริมระบบต้านทานปฏิกริยา oxidation ของร่างกาย แหล่งที่พบในธรรมชาติคือ น้ำมันพืชจาก wheat germ ข้าว และเมล็ดฝ้าย

3. Glutathione พบในเซลล์พืช เซลล์สัตว์และแบคทีเรียเป็นตัวต้านทานสารพิษหลักในเซลล์ 

4.Vanillin เป็นองค์ประกอบสำคัญของฝักวานิลลาที่ใช้สำหรับปรุงแต่งอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด

5. Cinnamaldehyde เป็นสารปรุงแต่งกลิ่นในลูกกวาด เครื่องดื่ม อาหารชนิดที่เป็นน้ำมันสีเหลืองมีกลิ่นแรง เป็นองค์ประกอบหลักของน้ำมันอบเชยมีฤทธิ์ต้านทานการกลายพันธุ์ (สารก่อมะเร็ง)

6. Vitamin C เป็นสิ่งที่จำเป็นในกระบวนการ oxidation ต่างในสิ่งมีชีวิต แหล่งสำคัญของวิตามินซีได้แก่ ผักและผลไม้สด ซึ่งผักหลายชนิดเช่น กะหล่ำปลี ขิง ชาเขียว ผักขม ผักกาดหอมและกะหล่ำดอก มีสารต้านทานการกลายพันธุ์ได้

51-2-4 


7. โยเกิร์ตและนมสามารถช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารได้

 51-2-5

ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะมักมีสารก่อมะเร็งอยู่ เช่น

     1. การบริโภคขนมขบเคี้ยว ขนมกรุบกรอบที่ทำจากแป้งหรือพืชประเภทที่ให้คาร์โบไฮเดรทสูงแล้วนำมาทอดหรืออบโดยใช้ความร้อนสูงเกิน 120 °C พบว่ามีสารจำพวกอะคริลาไมด์  (สารก่อมะเร็ง)สะสมอยู่

     2. การบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีการเติมสารไนไตรด์และสารเคมีอื่นๆ เพื่อถนอมเนื้อสัตว์ให้มีสีที่แดงสด สารเคมีเหล่านี้ล้วนเป็นตัวการทำให้เกิดโรคมะเร็งในลำไส้ได้

     3. การบริโภคไข่ น้ำนมสัตว์ หรือเนยในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้ร่างกายได้รับสารไดออกซิน (สารก่อมะเร็ง)ได้ เนื่องจากสารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหารสามารถละลายได้ดีในไขมัน ซึ่งสารดังกล่าวส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ได้

     4. อาหารประเภทหมักดอง  อาหารที่ใส่สารกันบูด อาหารกระป๋องที่หมดอายุแล้วหรืออาหารที่ใส่สีผสมอาหารที่มีสีสันสวยงามซึ่งส่วนใหญ่มักทำมาจากสีย้อมผ้า

     5. เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองตั้งแต่ในช่องปากไปจนถึงระบบทางเดินอาหารได้ อีกทั้งยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลงอีกด้วย 

         นอกจากปัจจัยเรื่องการบริโภคอาหารที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังควรหลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ เช่น การสูดดมควันบุหรี่หรือการสูดดมควันจากท่อไอเสียรถยนต์ เขม่าควันจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มี”สารไทรโคซาน” เป็นองค์ประกอบ ซึ่ง สารดังกล่าวจะทำปฏิกิริยากับคลอรีน (สารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำประปา) เกิดเป็นแก๊สคลอโรฟอร์ม และเมื่อร่างกายได้รับแก๊สนี้ในปริมาณที่มากอาจส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งได้

         วิธีการตรวจหาโรคมะเร็งทำได้โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหา Tumor maker หรือสารที่อาจพบในกระแสเลือด ในปัสสาวะหรือตามเนื้อเยื่อต่างๆ ในระดับที่มากกว่าปกติ ซึ่งสารเหล่านี้ถูกสร้างโดยเนื้อมะเร็งหรือเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อเซลล์มะเร็ง ที่จริงโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีแนวทางป้องกันและสามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น ซึ่งวิธีการสังเกตอาการของโรคมะเร็งสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองดังนี้คือ

  1. หากเป็นแผลเรื้อรัง แผลหายช้า ซึ่งส่วนมากจะเป็นนานมากกว่า 2 สัปดาห์และมักเป็นแผลที่ไม่ค่อยรู้สึกเจ็บโดยเฉพาะแผลในช่องปากที่เกิดการระคายเคือง
  2. คลำพบก้อนเนื้อผิดปกติหรือก้อนที่มีอยู่เดิมแต่โตเร็วขึ้นซึ่งตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบและบริเวณเต้านม
  3. มีอาการเจ็บคอ เวลากลืนอาหารที่เป็นของแข็ง เช่น ข้าวสวย จะรู้สึกเหมือนติดคอแต่ถ้ากลืนอาหารเหลวๆเช่น ข้าวต้มหรือโจ๊กจะรู้สึกคล่องคอมากขึ้น
  4. มีอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารย่อยยาก ท้องอืด ขับถ่ายผิดปกติ หรือมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย เป็นต้น
  5. ไอเรื้อรังและมีเสมหะปนเลือดหรือมีเสียงแหบเรื้อรัง
  6. หูด ไฝ ปานหรือตุ่มใต้ผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น มีขนาดใหญ่ขึ้น สีเปลี่ยน มีอาการคัน เจ็บหรือเป็นแผลอักเสบเกิดขึ้น
  7. มีน้ำเหลือง น้ำหนองหรือเลือดไหลออกมาจากทวารต่างๆของร่างกาย เช่น ตา หู จมูก ปาก หัวนม ทางเดินปัสสาวะ และทวารหนัก
  8. ในผู้หญิงกรณีที่มีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอดซึ่งอาจเป็นเลือดประจำเดือนหรือไม่ใช่ก็ได้ หรืออาการขาดประจำเดือนในผู้หญิงวัยที่ยังไม่ควรหมดประจำเดือน  

         สัญญาณต่างๆเหล่านี้อาจเป็นอาการที่บ่งบอกว่าเราป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ ซึ่งหากท่านพบว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีไม่ควรทิ้งไว้นานเพราะหากได้รับการรักษาที่รวดเร็วและถูกวิธี ก็มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้

 เอกสารอ้างอิง

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (….) สารก่อนมะเร็ง อะคริลาไมล์(online).(Available):
http://www.dmsc.moph.go.th/webroot/secretary/Homepage/news48/november/6.htm (Retrieved 15/02/09).

2. เส้นทางสุขภาพ (….) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคมะเร็ง (online).(Available):
http://www.yourhealthyguide.com/article/topic-cancer-basic.htm (Retrieved 16/02/09).

3. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (….) ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคมะเร็ง (online).(Available):
http://www.nci.go.th/Knowledge/index_cancer.html (Retrieved 16/02/09)

4. ฝ่ายแผนงานและสถิติ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (….) สถิติโรคมะเร็งของประเทศไทย (online). (Available):
http://www.thailabonline.com/sec7castat.htm(Retrieved 16/02/09).

5. ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน โรงเรียนราษฎร์นิยม ( …. )วิธีการสังเกตอาการโรคมะเร็ง (online). (Available):
http://ratniyom.net/modules.php?name=News&file=article&sid=7(Retrieved 16/02/09).

 1,555 total views,  1 views today