ความบกพร่องทางการเรียนรู้

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2550

 

ความบกพร่องทางการเรียนรู้

(Learning disabilities , LD)

นางสาวนภาพันธุ์  เรืองสเถียรทนต์  

            ความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning disabilities) หรือที่รู้จักกันในชื่อแอลดี (LD) เป็นความ บกพร่องในกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกมาในรูปของปัญหาการอ่าน หรือการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน (เรียกว่า Dyslexia) การเขียนหรือความบกพร่องที่เกิดจากทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อมือที่ใช้เขียน (Dysgraphia) การคำนวณและเหตุผลเชิงตรรกะ (Dyscalculia) หรือมีความบกพร่องหลายๆ ด้านร่วมกัน หลายคนมีความเข้าใจผิดว่าเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ คือเด็กที่เรียนช้า หรือมีความฉลาด น้อยกว่าคนอื่น ความจริงแล้วเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้มีระดับสติปัญญา และความเฉลียวฉลาด เป็นปกติ หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยด้วยซ้ำ เด็กกลุ่มนี้ไม่มีความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ ร่างกายสมบูรณ์ เหมือนเด็กปกติ แต่เขาจะมีปัญหาก็คืออ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ เด็ก LD จะมีความบกพร่อง ในด้านการเขียนและการสะกดคำ เช่นเขียนพยัญชนะหรือตัวเลขสลับกัน เช่น ม-น , ด-ค , b-d , p-q , 6-9 เขียนเลข 3 เป็น £ เขียนพยัญชนะ ก-ฮ ไม่ได้ แต่บอกให้เขียนเป็นตัวๆได้ และมีความบกพร่องด้านการอ่าน เช่น อ่านช้า มีความยากลำบากในการอ่าน อ่านคำต่อคำ จะต้องสะกดคำจึงจะอ่านได้ อ่านข้ามคำ อ่านออก เสียงไม่ชัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ จับใจความสำคัญหรือเรียงลำดับเหตุการณ์ของเรื่องที่อ่านไม่ได้ นอกจากนี้อาจมีความบกพร่องในการคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ เช่น ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข ได้แก่ หลักหน่วย สิบ ร้อย พัน หมื่น… นับเลขไปข้างหน้าหรือนับเลขย้อนหลังไม่ได้ จำสูตรคูณไม่ได้ ไม่สามารถทำ ตามขั้นตอนการคูณ/หารได้โดยเฉพาะตัวเลขหลายหลัก เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ถ้าไม่ได้รับ การดูแลก็จะมีปัญหาเรื่องของสมาธิสั้นร่วมด้วย ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมองว่าเด็กเหล่านี้ขี้เกียจ เหลวไหล ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจทำการบ้าน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากความผิดปกติทางการรับข้อมูลหรือการสื่อสาร ออกมาไม่ได้ของเด็ก

 

50-5-150-5-2

50-5-3

 

             สาเหตุที่ทำให้เด็กมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ยังไม่มีใครระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจาก สาเหตุใด แต่จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพอสรุปได้ว่าเกิดจากสาเหตุหลัก ดังนี้

            1. ความผิดปกติของสมองซีกซ้าย ซึ่งโดยปกติสมองซีกซ้ายจะควบคุมการแสดงออกทางด้านภาษา และสมองซีกซ้ายจะมีขนาดโตกว่าซีกขวา แต่เด็ก LD จะมีขนาดของสมองซีกซ้ายและซีกขวาเท่ากัน มีการ ศึกษาพบว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐานมาก และเด็กที่มีไข้สูง หรือ ขาดออกซิเจน ทำให้มีผลต่อสมองและมีความเสี่ยงในการเป็น LD

            2. นอกจากความผิดปกติของสมองแล้ว ในด้านพันธุกรรมก็พบว่าเด็กที่มีปัญหาการอ่านบางราย มีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 15 และมีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็น LD โดยที่พ่อแม่บางคนเล่าว่า เมื่อ ตอนเด็กๆ ตนเคยมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ใช้ความพยายามจึงผ่านมาได้

             3. ผลจากสิ่งแวดล้อม เช่น แม่ได้รับสารพิษขณะตั้งครรภ์ที่พบมากได้แก่ สารตะกั่ว หรือเมื่อเด็ก คลอดมา ได้รับประทานอาหาร น้ำดื่มที่มีสารตะกั่วเจือปน ซึ่งสารตะกั่วเหล่านี้อาจได้รับการปนเปื้อนมาจาก สีทาบ้าน ไอเสีย รถยนต์ หรือท่อน้ำประปาเก่าๆ ที่มีสนิม สารตะกั่วนี้จะเข้าไปทำลายเซลล์สมองบางส่วน นอกจากสารพิษที่ได้รับใน ชีวิตประจำวันแล้ว  การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ พัฒนาการทางสมองของเด็กไม่สมบูรณ์และเสี่ยงต่อการเป็น LD ได้ 

            ส่วนการให้ความช่วยเหลือเด็ก LD นั้น อาจทำได้โดยฝึกให้เด็กอ่านและเขียนพยัญชนะหรือคำ ควบคู่ไปกับการดูภาพ จะช่วยให้เด็กสามารถจำคำที่สอดคล้องกับเสียงและภาพได้ ให้เด็กสนุกกับการอ่าน การเขียน สอนให้เด็กรักการอ่านโดยเริ่มต้นจากหนังสือนิทานหรือหนังสือการ์ตูน ฝึกให้เด็กอ่านข่าวหรือ สารคดีเพื่อจับใจความสำคัญและฝึกคิดหาเหตุผลบ่อยๆ ใช้ศิลปะ หรือเกมต่างๆ มาช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิด การเรียนรู้ และที่สำคัญคือการสร้างกำลังใจและแรงจูงใจในการเรียนให้แก่เด็ก โดยการให้รางวัลหรือ ชมเชย เมื่อเด็กทำได้สำเร็จ ทำได้ถูกต้อง หรือได้พยายามทำในสิ่งนั้น ทั้งนี้เด็ก LD จำเป็นต้องได้รับการ ดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้เขาสามารถเรียนรู้ได้ตามศักยภาพของเขาและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมี ความสุข

 

เอกสารอ้างอิง

แพทย์หญิงเบญพร ปัญญายง. คู่มือ “ ช่วยเหลือเด็กบกพร่องด้านการเรียนรู้”. กองสุขภาพจิตสังคมกรมสุขภาพจิตสังคม         กระทรวงสาธารณสุข, 2547

Stanberry, K.,, Raskind,M.(2007) “Assistive Technology for Kids with Learning Disabilities.” 

http://www.kidshealth.org/teen/diseases_conditions/learning/learning_disabilities.html 

 

 4,648 total views,  1 views today