อยู่ใกล้คนสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสเสี่ยวเป็น “เบาหวาน”

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2549

49-6-1

                                                                                                                                                                  สุทธิพงษ์ พงษ์วร

                    แต่เดิมเราก็ตั้งแง่กับคนสูบบุหรี่อยู่แล้ว ไม่อยากอยู่ใกล้ หรือท่าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง เพราะควันบุหรี่เป็นสาเหตุให้คนที่ไม่สูบเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ มาครั้งนี้รายงานล่าสุดก็พบว่า ควันบุหรี่ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอีกด้วย (เบาหวานมี 2 แบบ คือที่เกิดจากพันธุกรรม และเกิดขึ้นภายหลังจากสภาวะแวดล้อมต่างๆ รวมไปถึงการกินอาหารอีกด้วย) 
 

                    "ต่อไปนี้ดูท่าทางคนสูบบุหรี่จะยิ่งดูแปลกแยกและเดียวดายมากยิ่งขึ้น หากยังเลิกบุหรี่ไม่ได้"


                    ก็ใครเล่าอยากจะเป็นโรคเบาหวาน เรามักจะเห็นและได้ยินเป็นประจำว่าโรคเบาหวาน เป็นโรคที่ทำให้หลายคนต้องสูญเสียอวัยวะอย่างแขน หรือขา สาเหตุก็เนื่องมาจากเมื่อเป็นแผลแล้วแผลไม่หายสักที แล้วก็จะเป็นแผลเรื้อรังจนทำให้ต้องตัดอวัยวะดังกล่าวทิ้งไป 
 

 49-6-2

 

                    คนที่เป็นโรคเบาหวานจะมีสภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือที่เรียกว่า Hyperglycemia สภาวะดังกล่าวจะเกิดผลอย่างไรต่อกลไกของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายบ้าง เรามาลองดูกัน จากการศึกษาวิจัยขอนักวิจัยต่างๆ ทั่วโลกพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการทำลายเชื้อโรคของเม็ดเลือดขาว (Leukocyte – อ่านเพิ่มเติมในหนังสือเรียนชีววิทยา เล่ม 2 หน้า 85-87 หน้าปกกีฬาตะกร้อ) โดย Phagocytic capabilities ของเม็ดเลือดขาวจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ กิจกรรมที่ได้รับผลกระทบก็จะรวมไปถึงการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวเข้าหาเป้าหมายเพื่อทำลายเชื้อโรค (migration and chemotaxis) การโอบล้อมเซลล์เชื้อโรค (ที่เรียกว่า Phagocytosis) การทำลายเซลล์เชื้อโรคภายในเซลล์เม็ดเลือดขาว นอกจากนี้สภาวะที่เลือดที่ระดับน้ำตาลสูง (ความเข้มข้นของเลือดก็จะสูงขึ้น) จะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดในระบบเส้นเลือดฝอย (microcirculation) ซึ่งทั้งหมดจะเป็นปัจจัยที่มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้แผลหายช้าลง นอกจากนี้ยังมีรายงานทางการแพทย์เรื่องการทำงานของไตผิดปกติทำให้ระดับน้ำตาลในปัสสาวะเพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้อีกทาง 

ทำไมเมื่ออยู่ใกล้คนสูบบุหรี่แล้วจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงทำให้เป็นโรคเบาหวาน

                    หัวหน้าทีมวิจัยในอเมริกา คุณ Thomas Houston จากศูนย์การแพทย์ทางทหาร Birmingham รัฐ Alabama ได้ศึกษาและเก็บผลการวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครชาย-หญิง 4572 คน (จริงๆ แล้วจำนวนอาสาสมัครเริ่มต้นคือ 5115 แต่ก็มีหนีหายตายจากหรือไม่ก็ย้ายที่อยู่ไปบ้าง หลากหลายสาเหตุ) จากเมือง Birmingham, Alabama, Chicago and Minneapolis, Minnesota and Oakland, และ California ตั้งแต่ปี 1985 โดยคัดเลือกคนช่วงอายุ 18-30 ปี โดยการสุ่มจากเบอร์โทรศัพท์จากนั้นก็เลือกมาครอบครัวละ 1 คน แล้วก็นัดมาทำการตรวจสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นความดันเลือด วัดสัดส่วน ตรวจเลือด ตรวจฉี่ ตรวจการทำงานของปอด ซักประวัติครอบครัว พฤติกรรมการกินอาหาร และเก็บข้อมูลพฤติกรรมการสูบบุหรี่จากกลุ่มอาสาสมัครทั้งหมด หลังจากนั้นก็จะมีการติดต่อกับอาสาสมัครผ่านทางโทรศัพท์ทุกปี และมีการนัดมาพบในปีที่ 2, 5, 7, 10 และ 15 ว่าง่ายๆ ก็รอเก็บข้อมูลกันจนครบ 15 ปีให้หลัง (ปี ค.ศ. 2000) แล้วก็กลับมาตรวจสุขภาพกลุ่มตัวอย่างอีกครั้ง พบว่า 22% ของกลุ่มคนที่สูบบุหรี่มีสภาวะ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง (glucose มากกว่าหรือเท่ากับ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าร่างกายเริ่มจะสร้างฮอร์โมนอินซูลินมาไม่พอที่จะใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว (ทางการแพทย์จะเรียกว่า Glucose Intolerance) และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคเบาหวาน 

                    และ 17% สำหรับกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย แต่อยู่ใกล้กับคนที่สูบบุหรี่บ่อยครั้งและได้รับควันบุหรี่ไปด้วย เริ่มจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่เคยสูบบุหรี่ และได้เลิกสูบไปแล้วกลับมีแค่เพียง 14% ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เห็นได้ว่าคนที่อยู่ใกล้คนสูบบุหรี่ได้รับผลกระทบกับสุขภาพมากกว่า เหมือนกับที่เคยมีรายงานมากก่อนหน้านี้แล้วในหลายๆ โรคภัยอันเกิดจากการสูบบุหรี่ และกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงน้อยที่สุดก็คือกลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่และไม่ได้อยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่ด้วย ในกลุ่มหลังนี้มีแค่ 11.5% ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (glucose มากกว่าหรือเท่ากับ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) 

เมื่อตับอ่อน (Pancreas) ถูกทำลาย

49-6-3

                    ตับอ่อนมีเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทุกๆ ครั้งที่เรากินอาหารเข้าไป อินซูลินจะถูกสร้างขึ้นและปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นก็เดินทางไปตามกระแสเลือดกระตุ้นให้เนื้อเยื่อต่างๆ ภายในร่างกาย โดยเฉพาะเจ้ากล้ามเนื้อในร่างกายเราให้รีบเก็บเอาน้ำตาลกลูโคสที่อยู่ในกระแสเลือดเข้าไปเก็บไว้ในเซลล์ เพราะว่าถ้ากลูโคสล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดนานเกินไปจะสามารถเข้าจับกับโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็น Receptor หรือตัวรับสารต่างๆ ของเซลล์ (เมื่อจับกับโปรตีนที่เยื่อหุ้มเซลล์ ก็จะกลายเป็นไกลโคโปรตีน คงคุ้นกับคำนี้ในหนังสือเรียนชีววิทยาดี) ทำให้การทำหน้าที่ของ receptor ต่างๆ ของเซลล์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกายได้ 

                    หัวหน้าทีมวิจัยในอเมริกา คุณ Thomas Houston จากศูนย์การแพทย์ทหารเบอร์มิ่งแฮม รัฐอลาบามา ตั้งข้อสังเกตว่าสารพิษต่างๆ จากควันบุหรี่น่าจะสะสมอยู่ในตับอ่อนซึ่งเป็นอวัยวะที่มีการสร้างอินซูลิน และเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคเกี่ยวกับตับอ่อนและมะเร็งในตับอ่อน แต่อย่างไรก็ตามต้องทำการศึกษาเพื่อยืนยันสมมุติฐานข้อนี้ให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน 

                    สำหรับผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่จากคนที่สูบใกล้ๆ นอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ มะเร็ง ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ก่อนหน้านี้พบว่าการสูบบุหรี่จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการที่ทำให้คุณมีน้ำหนักมากขึ้น และสัดส่วนของเอวกับสะโพกก็จะเพิ่มขึ้นด้วย 
                    โอ้โห.. พอรู้เรื่องขนาดนี้แล้ว คุณจะยังยอมให้ควันบุหรี่มาเพิ่มโอกาสให้คุณเป็นโรคเบาหวานอีกเหรอครับ และหลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวนี้นะครับ “Good circulation is 50%-of-good-health” หมายถึงเมื่อระบบหมุนเวียนโลหิตเราทำงานได้ดีสุขภาพก็จะดีตามไปด้วยครับ ก็ลองหาโอกาสออกกำลังกายกันบ้างนะครับเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บครับ 

 เอกสารอ้างอิง 

1. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 2 
        กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544. 2546. พิมพ์ครั้ง 
        ที่ 1. 113 หน้า. 
2. NewScientist.com news service. Passive smoking linked with diabetes for first time. 
        (Online). Available: http://www.newscientist.com/article.ns?id=dn8965 
        (Retrieved 20/04/06). 
3. Edward J. Boyko and Benjamin A. Lipsky. Diabetes in America – Chapter 22 Infection 
        and Diabetes. 2nd Edit. (Online). Available: 
        http://diabetes.niddk.nih.gov/dm/pubs/america/contents.html (Retrieved 20/04/06). 
4. Thomas K Houston, Sharina D Person, Mark J Pletcher, Kiang Liu, Carlos Iribarren, 
        and Catarina I Kiefe. Active and passive smoking and development of glucose 
        intolerance among young adults in a prospective cohort: CARDIA study. 
        BMJ Online First. (Online). Available: file:///D:/daeng/sawinee/Sep%202007/biology/Bio-Articles/www.bmj.com (Retrieved 20/04/06). 

 2,235 total views,  2 views today