เจ้าตูบก็ยังติดหวัดนก

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2549

49-3-1

                                                                                                                                                      โดย …สุทธิพงษ์  พงษ์วร 

                    เนื่องจากในช่วงนี้ประเด็นข่าวใหญ่ๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยคงจะหนีไม่พ้นข่าวการเมืองไปเสียส่วนใหญ่ ทำให้ข่าวเรื่องไข้หวัดนกไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ในขณะที่วารสาร Nature (volume 439 number 733) วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ได้รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับไข้หวัดนกไว้ในตอนท้ายของเล่ม เลยทำให้นึกถึงข่าวเรื่องการยืนยันผลการตรวจเรื่องไข้หวัดนกสามารถติดต่อมาถึงแมวได้ โดยผลการศึกษาครั้งนี้ประกาศอย่างเป็นทางการในเว็บไซต์ของ The Scientist เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา (อ่านได้ใน Bio-Article ปี 2547 “เมื่อแมว…ติดไข้หวัดนก”) 

                    ขอย้อนกลับมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 หลังจากที่ไทยเราประกาศว่าพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 และพิสูจน์พบในเนื้อไก่มีเชื้อไข้หวัดนก กระแสความตื่นตระหนกก็ได้เข้าครอบงำประชาชนทั้งประเทศ เป็นผลเนื่องมาความความไม่เข้าใจและขาดข้อมูลทางวิชาการ พอวันที่ 26 มกราคม 2547 เด็กหญิงอายุ 6 ขวบก็เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดนกเป็นรายแรก ในระยะแรกทุกคนต่างวิตกกังวลและกลัวกันว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกจะกลายพันธุ์และสามารถติดต่อจากคนไปสู่คนได้ 

                    เชื้อไข้หวัดนกยังคงทำงานของมันอย่างต่อเนื่อง ค่อยๆ ลองทดลองเข้าไปอยู่ในร่างกายสัตว์ชนิดต่างๆ เริ่มแรกก็ทดลองแพร่พันธุ์ไปในนกแต่ละชนิดก่อน ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะยากเย็นนักสำหรับการเปลี่ยนแปลงลำดับเบสของสารพันธุกรรมเพียงเล็กน้อย หรืออาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย จากนั้นเชื้อไข้หวัดนกก็ลองพยายามที่จะเข้าไปในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเสือ หมู แมว ตามที่เป็นข่าวไปแล้ว 
 

49-3-2


                    และรายงานล่าสุด คือการที่นักวิทยาศาสตร์ของไทย ตรวจพบแอนติบอดี้ของเชื้อไข้หวัดนกในสุนัขและแมวในชุมชน* ทำให้ผู้เชี่ยวชาญต่างวิตกกังวลเป็นอย่างมาก และพยายามศึกษาว่าสุนัขและแมวเหล่านี้จะสามารถแพร่เชื้อโรคไข้หวัดนกไปสู่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ได้หรือไม่ 

                    ทีมนักวิจัยจากกลุ่มงานไวรัสวิทยา สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งนำโดย ดร.สุดารัตน์ ดำรงวัฒนโภคิน ได้ทำการตรวจสุนัข 629 ตัว และแมว 111 ตัว ในจังหวัดสุพรรณบุรี ผลการตรวจหาแอนติบอดี้ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก พบว่าสุนัข 160 ตัว และ แมว 8 ตัวมีแอนติบอดี้ของ H5N1 อยู่ แสดงให้เห็นว่าพวกสัตว์เหล่านี้เคยติดเชื้อไวรัส หรือได้รับเชื้อไวรัสมาก่อนหน้านี้แล้ว 

                    หลังจากที่ Albert Osterhaus นักไวรัสวิทยาจาก The Erasmus University ในกรุง Rotterdam ประเทศเนเทอร์แลนด์ ได้ทราบข้อมูลดังกล่าว ก็พูดว่า “มันเป็นจำนวนที่มากจริงๆ” “และมันทำให้เราต้องรีบตรวจสอบเพิ่มเติมมากกว่านี้” 

                    ซึ่งก่อนหน้านี้ทีมวิจัยของจุฬา ก็ได้แยกเชื้อไวรัสได้จากสุนัข และยังทราบอีกว่าสัตว์ในกลุ่มแมวป่า รวมทั้งเสือ สามารถรับเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้ และนี่เป็นรายงานทางวิทยาศาสคร์ครั้งแรกที่ศึกษาพบในสุนัข ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่าการติดเชื้อไข้หวัดนกอาจจะแพร่กระจายออกไปอีกเป็นวงกว้างได้ 
 

49-3-3


                    Albert Osterhaus กำลังเสนอเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเข้าไปที่ FAO (the UN Food and Agricultural Organization) และ องค์กรสุขภาพสัตว์โลก (the World Organization for Animal Health) เพื่อให้มีการเฝ้าระวังเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อ H5N1 ในสุนัข แมว และสัตว์กินเนื้อชนิดอื่นๆ 

                    “มันเป็นสิ่งที่เรามองข้ามไปในตอนแรก ทั้งๆ ที่เราควรจะต้องเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างละเอียด” Albert Osterhaus กล่าว “โดยทั่วไปแล้วสัตว์กินเนื้อทุกชนิดก็ดูเหมือนว่าจะสามารถติดเชื้อชนิดนี้ได้อยู่แล้ว” 

                    แม้ว่าจะมีการรายงานการตายของแมวในบริเวณที่เกิดการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่การศึกษาในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของการ “ตรวจดู” สุนัขและแมวที่เลี้ยงกันอยู่ทั่วไป (ที่ไม่ใช่สุนัขหรือแมวที่เลี้ยงอยู่ให้ห้องทดลอง) เพื่อดูว่ามีแนวโน้มที่จะติดเชื้อไวรัสมากน้อยเพียงใด 

                    แต่ทีมวิจัยของ Osterhaus ได้เคยทำการทดลองเพื่อแสดงให้เห็นว่าแมวที่เลี้ยงตามบ้านป่วยเป็นและตายจากเชื้อ H5N1 ได้ และยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่เพื่อนแมวที่อยู่ใกล้ๆ ได้ (T. Kuiken et al. Science 306, 241; 2004) และเมื่อเดือนที่แล้ว (มกราคม 2549) ทีมวิจัยของ Osterhaus ก็ได้ตีพิมพ์ผลการทดลองที่พบว่าจะพบเชื้อไวรัสในอุจจาระ และน้ำลายหรือเสมหะของแมวที่ติดเชื้อ ซึ่งลักษณะดังกล่าวทำให้มีโอกาสที่เชื้อจะแพร่ออกไปได้ (G.F.Rimmelzwaan et al. Am. J. Pathol. 168, 176–183; 2006)

49-3-4


                    “มันยังไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อมีการแพร่กระจายออกไป” Maria Cheng โฆษกหญิงของ องค์การอนามัยโลก (WHO) “และเราก็ยังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการติดเชื้อของไวรัสที่จะติดต่อเข้าสู่คน แม้กระทั่งการติดเชื้อในสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์ปีกที่มนุษย์เลี้ยงไว้กินเนื้อหรือไข่ด้วย” 

                    จากข่าวที่นำมาเสนอจะเห็นได้ว่า ไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ได้มีการเปลี่ยนแปลงและขยายวงของการติดต่อไปสู่สิ่งมีชีวิตที่หลากหลายมากขึ้นแล้ว ยังไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไหร่ H5N1 จะพัฒนาและมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมไปจนมาสามารถทำให้การติดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์เกิดขึ้นได้เหมือนในนก สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีวิถีของการเกิดวิวัฒนาการของตนเอง เป็นการปรับตัวเพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่ามนุษย์หรือไวรัสก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วก็ขึ้นกับความซับซ้อนของกระบวนการต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ 

แปลและเรียบเรียงจาก 

"Thai dogs carry bird-flu virus, but will they spread it?". Nature 439, 773 (16 February 2006) 

หมายเหตุ 
* การตรวจพบแอนตีบอดี้ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในร่างกายสิ่งมีชีวิต ไม่ได้แสดงว่า ณ เวลานั้นๆ สิ่งมีชีวิตมีเชื้อโรคอยู่เสมอไป แต่แสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งในร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ เคยได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไป – การตรวจหาเชื้อโดยตรง ตรวจได้ลำบาก แต่การตรวจหา แอนตี้บอดี้ในร่างกายสิ่งมีชีวิตจะทำการตรวจหาได้ง่ายกว่า 

 

Copyright  © 2006  The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST). All rights reserved. 

 

 1,186 total views,  1 views today