ไข้หวัดนกไวรัสนักแปลงโฉม

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2549

49-2-1

                                                                                                                                             โดย …ธีรพัฒน์ เวชชประสิทธิ์ 
 

            มากันอีกระรอกแล้วนะครับ สำหรับเจ้าไข้หวัดนกที่เราเริ่มจะคุ้นหูกันไวรัสไข้หวัดนกจะมาช่วงปลายฝนต้นหนาวครับ แต่ปี พ.ศ. 2548 นี้ไม่ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวไทยมากนัก (สังเกตได้จาก ลุงผู้พัน ข้าวมันไก่ ไก่ทอดหาดใหญ่ หรือบรรดาของกินที่เป็นสัตว์ปีกและไข่ ยังขายดีอยู่นะครับ) อาจเป็นเพราะประชาชนเริ่มเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับโรคไข้หวัดนกมากขึ้น แต่ในปีนี้ ไวรัสไข้หวัดนก คงเริ่มเบื่อๆ ชาวเอเชียแล้วมั้งครับเลยไประบาดอยู่แถวยุโรปทางใต้แทน ตอนนี้ฝรั่งตาน้ำข้าวเลยหาทางหยุดการระบาดกันยกใหญ่ 

             หลายคนคงสงสัยนะครับว่าทำไมหลายๆ ประเทศถึงได้กลัวเจ้าไวรัสไข้หวัดนกกันทั้งๆที่เมื่อเกิดการระบาดครั้งนึงมีคนติดเชื้อและตายด้วยไวรัสไข้หวัดนกจำนวนไม่มาก แต่รัฐบาลของเกือบทุกประเทศให้ความสำคัญกับโรคนี้มาก ถึงขนาดต้องมีการฆ่าสัตว์ปีกกันเป็นจำนวนหลายล้านตัว และยังออกมาตรการการเลี้ยงสัตว์ปีกออกมาอีกมากมาย คำตอบของเรื่องนี้มาจากเหตุที่ว่าเจ้าไวรัสไข้หวัดนกเป็นนักแปลงโฉมตัวยงนั่นเอง 

           ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดนก เป็นไวรัสพวกเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ มันสามารถทำให้สัตว์หลายชนิดเกิดการติดเชื้อได้ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ปีกทั้งหลาย แมว เสือ หมู ม้า รวมทั้งมนุษย์อย่างเราๆ ด้วย แล้วทำไมเราต้องกลัวไข้หวัดนกกันมากขนาดนี้ด้วย 
 

49-2-2


                    จากการที่ไวรัสดังกล่าวสามารถทำให้สัตว์หลายชนิดเกิดการติดเชื้อได้นั้นทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความกลัวว่าไวรัสไข้หวัดนกจะเกิดการแปลงโฉม จนเกิดเป็นไวรัสชนิดใหม่ขึ้นมา ไวรัสไข้หวัดนกจัดเป็น RNA ไวรัส (อ่านเพิ่มเติมจาก ข้อมูลพื้นฐานเรื่องไวรัส – บทความปี 2547) สารพันธุกรรมของมันสามารถเกิดการกลายพันธุ์ได้ง่ายทำให้ไวรัสที่เคยเกิดการติดเชื้อจากสัตว์สายพันธุ์หนึ่งไปทำให้เกิดการติดเชื้อกับสัตว์สายพันธุ์อื่นได้ ซึ่งเรียกว่าการเกิด antigenic shift 
การเกิด antigenic shift เกิดขึ้นได้สามรูปแบบคือ

                    1. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จากนกถูกส่งต่อไปยังมนุษย์โดยตรงโดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของไวรัส 

                    2. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จากนกถูกส่งต่อไปยังไก่หรือหมูก่อนแล้วถูกส่งผ่านมายังมนุษย์อีกต่อหนึ่งโดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของไวรัส 

                    3. เกิดจากการที่นกส่งผ่านไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A ไปยังสัตว์ไก่ หรือ หมู ไก่หรือหมูตัวที่ได้รับเชื้อไปแล้วนั้นได้รับไข้หวัดไข้หวัดใหญ่ชนิด A จากมนุษย์ ไว้รัสจากนกและจากคนเมื่อเข้าไปอยู่ในเซลล์เซลล์เดียวกัน สารพันธุกรรมของไวรัสทั้งสองชนิดจะเกิดการผสมรวมกันกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีทั้งสารพันธุกรรมของไวรัสจากคนและของไวรัสจากนก ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นสามารถส่งผ่านทำให้มนุษย์เกิดการติดเชื้อได้ 

                    และเมื่อใดก็ตามที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่สามารถเกิดการปลี่ยนแปลงหรือมีวิวัฒนาการจนสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้อาจเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นได้ คราวนี้ลองมาดู Flash Animation เพื่อทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นนะครับ อาจจะรอโหลดนานหน่อย เพราะได้ใส่เสียงประกอบด้วย แต่รับรองว่าคุ้มกับการรอคอยครับ 
                   

 
Biology Dept., The Institute for The Promotion of Teaching Science and Technology (IPST)

 

 

 

Copyright  © 2005  The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST). All rights reserved.   
Last updated 12/23/2009 12:06:46

 1,538 total views,  1 views today