หิ่งห้อยเก่าแก่ที่สุด

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2549

49-1-1

                                          ทีมงานศึกษาวิจัยโครงการหิ่งห้อยในพระราชดำริและวิจัยแมลงกินได้, ในโครงการ BRT

            ราวเดือนพฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมา ทีมงานศึกษาวิจัยโครงการหิ่งห้อยในพระราชดำริและวิจัยแมลงกินได้ ในโครงการพัฒนาองค์ความรู้ และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT:Biodiversity Research and Training Program) ได้เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อนำตัวอย่างหิ่งห้อยที่เก็บสำรวจได้จากประเทศไทย ไปศึกษาเปรียบเทียบกับหิ่งห้อยต้นแบบ 
             พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เก็บหิ่งห้อยต้นแบบแต่ละชนิดไว้ในลิ้นชัก และมีป้ายบอกชื่อชนิดของหิ่งห้อย แหล่งที่มา และผู้คนพบ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบหิ่งห้อย 2 ตัว ระบุว่า มาจากประเทศไทย ค้นพบโดยสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

49-1-2

               ดร.องุ่น ลิ่ววานิช นักกีฏวิทยาอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญอนุกรมวิธานแมลง หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยว่า นอกจากหิ่งห้อยแล้ว สมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ยังได้ส่งแมลงชนิดอื่น เช่น ด้วง ตั๊กแตน ฯลฯ ไปให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย 
              การค้นพบหิ่งห้อย ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เนื่องจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการศึกษาหิ่งห้อยในประเทศไทยบันทึกไว้ว่า หิ่งห้อยตัวแรกที่นำมาศึกษาและเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แมลง กองกีฏวิทยาและสัตววิทยานั้น พันตรี ดับเบิล ยู.อาร์.เอส.ลาเดลล์ นายทหารอังกฤษประจำประเทศไทย จับได้เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2472 ขณะที่หิ่งห้อยจากประเทศไทยที่ถูกส่งมอบให้แก่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเพื่อศึกษาจำแนกชนิด สมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2464

            ดร.องุ่น กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ นับเป็นการค้นพบที่สำคัญต่อวงการกีฏวิทยาเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงค้นพบหิ่งห้อยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การพลิกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของการริเริ่มศึกษาหิ่งห้อยในประเทศไทยด้วย และยังถือเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งของคนไทย ที่สมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ทรงมีความสนพระทัยเกี่ยวกับเรื่องแมลงด้วยเช่นกัน 
             ขณะที่ นายสุทธิสันต์ พิมพะสาลี นักวิชาการเกษตร สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติ ผู้ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะ กล่าวว่า หิ่งห้อย 2 ตัวนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pyrocoelia tonkinensis Olivier   ลักษณะทั่วไปของเพศผู้จะมีขนาดลำตัวยาว 1.3 เซนติเมตร ส่วนอกสีส้มเหลือง ปีกสีดำ มีขอบปีกสีน้ำตาล ส่วนเพศเมียมีลักษณะคล้ายตัวหนอน สีขาวครีมปนน้ำตาล มีปีกสั้น และมีอวัยวะทำแสงที่ปลายท้อง

           หิ่งห้อยชนิดนี้พบได้ทั่วไปในเมืองไทย เป็นพวกที่อยู่บนบก กินหอยทาก ลักษณะเด่นตรงทรวงอกจะมีลักษณะโปร่งแสง คล้ายแว่นอยู่ 2 อัน สีส้ม ปีกสีดำ ขอบเป็นสีส้มเล็กๆ เวลาบินจะเปิดแสงแช่บินเหมือนกระสือ บินร่อน แต่เมื่อตกใจหิ่งห้อยจะปิดแสงชั่วครู่ แล้วก็จะเปิดใหม่อีกครั้งเมื่อรู้สึกว่าปลอดภัย สำหรับหิ่งห้อยตัวแมียอาศัยอยู่ตามพื้นดิน เนื่องจากตัวเมียจะปีกสั้น บินไม่ได้ ตัวเมียจะมีแสงเหมือนกันบริเวณก้น ใช้แสงในการสื่อสารล่อให้ตัวผู้บินลงมาผสมพันธุ์ 
             นายสุทธิสันต์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรหิ่งห้อยลดลงมาก เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อยลดน้อยลงจากการตัดไม้ทำลายป่า การปล่อยน้ำเสียและสารเคมีต่างๆ ลงในแม่น้ำลำคลอง ขณะที่องค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังจัดว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีความหลากหลายของหิ่งห้อยน้อยกว่า เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ดังนั้น การศึกษาด้านอนุกรมวิธาน ชีววิทยา และนิเวศวิทยาของหิ่งห้อยในประเทศไทยจึงนับเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเร่งศึกษา เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และร่วมกันหาแนวทางการอนุรักษ์ต่อไป 
                   

 

เอกสารอ้างอิง

1. หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน อังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10111 หน้า 10.  

 1,931 total views,  1 views today