มาสำรวจร่างกายของมด … กันเถอะ

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2547

           47-11-1

        มด เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่สามารถอาศัยอยู่ได้ทั่วไป แม้แต่ในบ้านเรือน มดก็สามารถทำรังอยู่ได้ แต่มีคนไม่มากนักที่รู้เกี่ยวกับร่างกายมด ว่าประกอบด้วยด้วยส่วนใดบ้าง เนื่องจากมดมีขนาดเล็ก และดูผิวเผินคล้ายกันมาก จึงไม่สร้างแรงดึงดูดใจให้กับผู้พบเห็นเหมือนพวกผีเสื้อ ด้วง แมลงปอ ดังนั้น ทุกๆ คนลองมาสำรวจร่างกายของสัตว์ตัวเล็กๆ กันเถอะ ว่าร่างกายมดมีอวัยวะอะไรบ้าง และแต่ละส่วนมีประโยชน์อะไร

 

                      47-11-2

        ลักษณะภายนอกของมด ลำตัวแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง แต่มีที่พิเศษแตกต่างไปจากแมลงกลุ่มอื่น ก็คือ มดจะมีเอว (waist) แต่ละส่วนจะมีอวัยวะและลักษณของลำตัวแตกต่างกันออกไป 
        ส่วนหัว เป็นส่วนแรกของลำตัว มีรูปร่างหลายแบบ เช่น ห้าเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม วงรี หรือรูปหัวใจ ดังภาพที่แสดงรูปแบต่างๆ ของหัวมด

 

47-11-3

เป็นที่ตั้งของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ 
             ปาก มดมีปากแบบกัดกิน (chewing type) มีกรามที่แข็งแรง และขนาดใหญ่ เป็นอวัยวะที่สำคัญในการจับเหยื่อและป้องกันตัว บริเวณปากของมดก็มีอวัยวะที่ใช้ในการดูดของเหลวด้วย (ดังภาพแสดงรูปแบบต่างๆ ของกรามมด)

47-11-4

            หนวด เป็นแบบหักข้อศอก มีจำนวนปล้องหนวด 4-12 ปล้อง (ส่วนใหญ่มี 12 ปล้อง) ปล้องแรกเรียกว่าฐานหนวด (scape) มีลักษณะค่อนข้างยาวที่สุด ส่วนปล้องที่เหลือจะเป็นข้อสั้นๆ เรียงต่อกันไป เรียกว่า ปล้องหนวด (finiculus) หนวดทำหน้าที่ในการสื่อสาร จัดเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในการรับความรู้สึก

47-11-5

 


a: ฐานหนวด ; b: ปล้องหนวด

 

          ตา แบ่งออกเป็นตาเดี่ยว กับตารวม บางชนิดไม่มีตารวม ตารวมจะอยู่บริเวณส่วนหน้าหรือด้านข้างของส่วนหัว มีขนาดตั้งแต่เป็นจุดเล็กๆ จนถึงขนาดใหญ่ ส่วนมากเป็นรูปวงกลม มีบ้างที่เป็นรูปวงรี หรือรูปไต มีหน้าที่ในการมองเห็น ส่วนตาเดี่ยวโดยทั่วไปมี 3 ตา อยู่เหนือระหว่างตารวมสว่นมากพบในเพศผู้และราชีนี

47-11-6

 


ลักษณะของตามด – a: ตาเดี่ยว ; b: ตารวม ; c: มดไม่มีตา

 

            ร่องพักหนวด เป็นร่องหรือแอ่งยาวคล้ายรอยพิมพ์อยู่บริเวณหน้าของส่วนหัว เป็นที่เก็บหนวดขณะที่ไม่ได้ใช้ โดยทั่วไปมี 1 คู่ มีลักษณะแตกต่างกันตั้งแต่ร่องตื้นๆ ไปถึงร่องชัดเจน บางชนิดไม่มีร่องพักหนวด

47-11-7

            ส่วนอก เป็นส่วนของลำตัวมด มีรูปทรงกระบอก แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ อกปล้องแรก อกปล้องที่สอง และอกปล้องที่สาม ส่วนอกทางด้านล่างของแต่ละปล้องจะมีขา 1 คู่ มดจึงมีขาทั้งหมด 6 ขา (*) สำหรับมดราชีนี และมดเพศผู้ส่วนอกจะมีขนาดใหญ่ และด้านข้างลำตัวจะมีปีก 2 คู่ ปีกจะพบในมดเพศผู้และมดราชินีเท่านั้น 
                    มดบางชนิดอกปล้องที่หนึ่ง และอกปล้องที่สองเชื่อมติดกัน และบางชนิดด้านบนของอกมีหนามหรือตุ่มหนาม 
                    (*) ขาของมดส่วนมากค่อนข้างยาว ทำให้เคลื่อนที่อย่างว่องไว

47-11-8

             ส่วนเอว อาจจะมี 1 ปล้อง หรือ 2 ปล้อง ขึ้นอยู่กับกลุ่มมด มีหลายรูปร่าง เช่น วงกลม สามเหลี่ยม หรือรูปทรงกระบอก แล้วแต่ชนิดของมด เอวเกิดจากการคอดกิ่วของปล้องท้องมด ถ้ามี 1 ปล้อง เรียกว่า petiole เกิดจากปล้องที่ 2 คอดกิ่ว ถ้ามี 2 ปล้อง เรียกว่า petiole กับ post-petiole เกิดจากปล้องท้องปล้องที่ 2 กับปล้องที่ 3 คอดกิ่ว

47-11-9

 


a: มดงานที่มีเอว 1 ปล้อง ; b: มดงานที่มีเอว 2 ปล้อง

 

              ส่วนท้อง เป็นส่วนท้ายของลำตัวมด เรียกว่า gaster ปลายส่วนท้องของมดส่วนใหญ่มีเหล็กไน บางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ สำหรับชนิดที่ไม่มีเหล็กไน ก็จะเป็นช่องปิดเล็กๆ สำหรับขับสารป้องกันตัวออกมา

47-11-10

เอกสารอ้างอิง 
*** ศศิธร หาสิน พิพิธภัณฑ์มด คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
*** Ant Museum, Kasetsart University

เว็บไซต์สำหรับศึกษาเพิ่มเติม (search by spong@) 
1. http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet4/may11/ant.htm 
     "มดจำทิศทางได้อย่างไร" โดย สุทัศน์ ยกส้าน "มดศึกษา" และ สมศรี ตั้งมงคลเลิศ วารสาร สสวท 
     ฉบับที่ 101 เม.ย.- ม.ย. 2541 
2. http://www.infowest.com/life/antbody.htm 
     Ant Anatomy learn about the body parts of ants เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมด พร้อมภาพประกอบสวยงาม

 

 


 

 

 

 38,825 total views,  11 views today