ตำราดิน วิธีพลิกแผ่นดินอีสานเป็นสีเขียว

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2547

47-5-1

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

                    บทความเรื่องนี้อ่านเจอในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2547 หน้า 9 เห็นว่าเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับชุดการสอนเรื่องเกี่ยวกับดิน และไส้เดือนดิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการเรียนการสอนในชั้นเรียน และเมื่อนำไปใช้ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศ จึงได้นำมาจัดลงเว็บไว้ครับ… 

                    ปัญหาผลผลิตที่ตกต่ำ ขายไม่ได้ราคา เพราะปัจจัยการผลิตไม่เอื้ออำนวย เป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในกาคอีสานที่จะต้องทนสู้กับปัญหาความแห้งแล้ง และปัญหาดินมาโดยตลอด 

                    ความล้มเหลวดังกล่าวเป็นแรงหนุนให้เกษตรกรกลุ่มเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน จ.บุรีรัมย์ เริ่มตั้งคำถามต่อความถูกต้องของวิถีการผลิตที่ดำเนินผ่านมาว่าเหตุใดนาข้าว ไร่มัน และสวนมะม่วงที่เดิมแทบจะไม่ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงมากนัก กลับเสื่อมถอยคุณภาพลง แม้จะเพิ่มปริมาณปุ๋ยแล้วก็ตาม 

                    ความไม่วางใจต่อแนวทางการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจึงเกิดขึ้น แล้วจับเข่าคุยกันถึงปัญหา สรุปได้ว่าแนวทางการเพาะปลูกเดิมผิดพลาดไป เพราะไม่ใส่ใจเรื่อง “ดิน” 

                    “ตำราดิน ฉบับชาวบ้าน” หรือชุดความรู้เรื่องดินที่สัมฤทธิ์ผลโดยการนำการจัดการความรู้มาใช้ในงานระดับไร่นา ตามโครงการ “การจัดการความรู้ระดับชุมชน” หรือโครงการฟ้าสู่ดิน จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) 

                    ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้าน จ.บุรีรัมย์ และผู้ประสานงานโครงการ “ฟ้าสู่ดิน” กล่าวว่า 1 ขวบปีโครงการ “ฟ้าสู่ดิน” ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผลของการนำการจัดการความรู้มาใช้ในงาน ทำให้ชาวบ้านเริ่มทบทวนกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนำมาเป็นบทเรียนสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม 

                    ในโครงการทดลองดังกล่าว ใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาบำบัดปัญหาจาก 1 แปลงเกษตรเล็กๆ ที่เรียกว่า “แปลงเกษตรประณีต” ถูกใช้เป็นฐานการทดลองเพื่อพัฒนาดินใน 5 ฐานการเรียนรู้ชุมชน และกลายเป็นแปลงวิจัยและทดลองปฏิบัติจริงของสมาชิก ในเรื่องการพัฒนาดินที่เสื่อมโทรม หลากร้อยวิธีที่ผ่านการระดมสมองถูกนำมาทดลองกันที่นี่ แม้วิธีการจะแตกต่างกันไปในแต่ละฐาน แต่สมาชิกทั้ง 5 ฐานจะนำข้อดีและข้อเสียในแต่ละวิธีมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันประจำทุกเดือน ได้เป็นชุดความรู้เรื่องดินมากมายหลายวิธี อาทิเช่น 

                    ฐานการเรียนรู้เรื่อง “เก็บมูลทุกอย่างไปใส่ให้ดินดี: คือวิธีการคืนชีวิตให้ดิน” ของพ่อสมพงศ์ สมาชิกฐานการเรียนรู้บ้านส้มกบ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ที่ใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำเศษใบไม้และสารพัดวัชพืชทุกอย่าง ขนมาใส่ในแปลงนา รวมถึงมูลวัว มูลควาย 

                    พ่อสมพงศ์ เล่าว่า ต้องไปเก็บตอนโพล้เพล้ตามถนนในหมู่บ้าน หลังจากที่เพื่อนบ้านนำวัวควายกลับบ้านกันหมดแล้ว จนถูกตั้งสมญาว่าเป็น “เทศบาล” ประจำหมู่บ้าน และถูกหยามเหยียดว่าคิดและทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้าน แต่พ่อสมพงศ์ก็ไม่เคยย่อท้อ แปลงมาเป็นกำลังใจทำต่อ ใช้ผลงานพิสูจน์ให้พวกเขาเห็น 

                    พ่อสมพงศ์เป็นผู้คิดค้นเคล็ดลับการตรวจสภาพดินดี โดยเล่าให้ฟังว่าเคล็ดลับนี้ได้มาโดยบังเอิญขณะเดินสำรวจดินในแปลงนาที่ตนใส่ใจบำรุงดินมายาวนานยามค่ำคืน แต่ระหว่างที่เดินอยู่นั้น เกิดความชื้นจับที่ขา ทำให้พ่อสมพงศ์ต้องก้มลงใช้มือลูบคลำดิน ก็พบว่าดินนั้นเย็น แล้วทดลองใช้มือคลำดินบริเวณแปลงนาที่ไม่ได้ปรับปรุง พบว่าดินนั้นกับร้อน จึงเกิดการเปรียบเทียบเมื่อปลูกพืชได้ผลดีในดินที่เย็น

47-5-2

 
                    ปัจจุบันที่นาของพ่อสมพงศ์กลับกลายเป็นแปลงปลูกฝ้ายที่งอกงามควบคู่ไปกับไม้ใหญ่และพืชผักสวนครัวสนับสนุนเกื้อกูลกัน ถึงวันนี้พ่อสมพงศ์มีรายได้จากการเก็บผลผลิตขายทุกวัน จนคนในหมู่บ้านอิจฉา

                    ต่อมาคือฐานการเรียนรู้เรื่อง “ดิน 5 พลังฐานการเรียนรู้บ้านหนองดุม: ฐานการเรียนรู้บ้านหนองดุม” อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ เป็นแปลงทดลองสำหรับสูตรพัฒนาดิน 5 พลัง มีอาจารย์ประสงค์ อาจหาญ หัวหน้าฐานและสมาชิกร่วมกันทดลอง โดยคิดสูตรจากเกร็ดความรู้ที่เก็บเกี่ยวได้จากเพื่อนต่างฐานในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประจำเดือน 

                    อาจารย์ประสงค์ เล่าว่า ดินบริเวณนี้เป็นดินที่ขุดขึ้นมาจากสระ ถูกนำมาปรับปรุงโดยใส่ใบไม้ แกลบ ปุ๋ยคอก ดินเลน ผักตบชวา ที่เรียกว่า “สูตร 5 พลัง” แล้วปล่อยให้ทับถมกัน สูตรนี้ใช้กับดินที่ไม่มีธาตุอาหารสะสมในดินเลย 

                    การสร้างหน้าดินอย่างง่ายนั้น หากให้ธรรมชาติฟื้นชีวิตดินเอง คงต้องใช้เวลานาน ระหว่างนี้กลุ่มเกษตรกรนักทดลองได้ร่วมกันทดลองการสร้างหน้าดินไว้ปลูกพืชอย่างง่ายโดยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ คือนำกิ่งไม้เปลือกไม้แห้งรองพื้นเป็นแปลง จากนั้นนำปุ๋ยคอกและฟางปูทับ ปิดท้ายด้วยเศษใบไม้แห้งมาคลุม ถ้าอยากให้หน้าดินย่อยสลายเร็วขึ้นก็ใส่จุลินทรีย์ ทิ้งไว้ประมาณ 1 – 3 เดือน สังเกตกองดินจะยุบตัวเมื่อมีการย่อยสลาย สามารถปลูกพืชผักสวนครัวเจริญเติบโตได้ดี วิธีการนี้ ทุกฐานได้ทดลองทำจริงในแปลงนาแล้วได้ผลดี มีผลผลิตมาแบ่งปันกันทุกเดือน 

                    สำหรับฐานการเรียนรู้บ้านแสงจันทร์ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ก็มีชุดความรู้เรื่องดินที่ต่างกันออกไป ที่นี่อาจารย์ไพรัตน์ ชื่นศรี หัวหน้าฐานและสมาชิกได้ทดลอง ขุดดินในแปลงนาให้ลึก 1 เมตรเป็นแนวยาว จากนั้นใช้เศษไม้แห้งและใบไม้แห้ง พร้อมทั้งมูลวัว มูลควาย เศษวัชพืชต่างๆ รองก้นหลุม จากนั้นกลบดินปล่อยให้เศษซากพืชซากสัตว์ย่อยสลายอยู่ใต้ดิน 

                    วิธีการนี้อาจารย์ไพรัตน์กล่าวว่า จะช่วยให้รากพืชสามารถชอนไชดูดซึมธาตุอาหารได้ตลอดและเต็มที่

                    ในฐานการเรียนรู้บ้านแสงจันทร์ ยังมีกรรมวิธีใช้ต้นไม้ใหญ่ที่ต้านทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีมาปลูกเพื่อให้บุกเบิกปรับสภาพดินให้ดีโดยอาศัยใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมแล้วสะสมธาตุอาหารให้กับดิน 

                    อาจารย์ไพรัตน์ เล่าให้ฟังอีกว่า แม้ดินอีสานจะแห้งแล้งไม่เหมาะแก่การปลูกพืชมากนัก แต่ก็สามารถพลิกฟื้นได้โดยการให้ธรรมชาติบำบัดกันเอง อันดับแรกจะต้องไม่ตัดต้นไม้ในแปลงนาก่อน แล้วก็ค่อยๆ พยายามปลูกต้นไม้ร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ โดยปลูกทุกอย่างเท่าที่จะปลูกได้ เพื่ออาศัยใบไม้ของต้นไม้ใหญ่ เมื่อเวลาล่วงหล่นลงมาจะเป็นปุ๋ยชั้นดี 

                    ส่วนบริเวณใดที่ดินเลวจนไม่สามารถปลูกอะไรได้เลยนั้น ให้ใช้วิธีขุดหลุมแล้วใส่เศษใบไม้ วัชพืช และมูลสัตว์ รองก้นหลุมก่อนปลูกเพื่อให้พืชมีอาหารกักตุนไว้ในระยะสั้นๆ แต่เมื่อต้นไม้เหล่านั้นเติบโตก็จะให้ประโยชน์ในระยะยาว

                    ดร.แสวง รวยสูงเนิน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาโครงการกล่าวว่า จากงานทดลองชองชาวบ้านนี้ พบว่าประเด็นสำคัญของการจัดการดินที่ดินอย่างยั่งยืนว่า น่าจะเน้นที่การจัดการความรู้เกี่ยวกับการใช้ระบบต้นไม้ในการฟื้นฟูและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินอย่างเพียงพอให้สามารถรักษาระดับในการผลิตของดินได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีต้นไม้ชนิดต่างๆ เป็นแกนของระบบ 

                    และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ จากการที่ชาวบ้านได้ลงมือทดลองปรับปรุงดินด้วยตนเองได้ก่อให้เกิดความรู้เชิงประจักษ์ในหลายประเด็น สิ่งที่พิสูจน์ได้อย่างจัดเจน คือ ที่ดินที่เคยปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นเลย วันนี้กลับปลูกอะไรก็ได้ อย่างเช่นที่แปลงทดลองบ้านแสงจันทร์ เห็นได้ชัดในนาก็มีต้นถั่ว มีปลา บนคันนามีต้นไม้ใหญ่ บนต้นไม้ใหญ่ยังมีมดแดง ใต้ต้นไม้ใหญ่มีพืชผักให้เก็บกินได้ทุกวัน 
 

                    ผลงานของชาวบ้านครั้งนี้ เป็นงานวิจัยเพื่อชีวิตจริง

 

เอกสารอ้างอิง 
*** หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2547 ,หน้า 9 
 

 2,496 total views,  1 views today