สังคมของมด

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2547

47-2-1

ศศิธร หาสิน

47-2-2

                  มด อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (colony) มีการจัดระบบพฤติกรรมภายในกลุ่มอย่างเป็นระเบียบ ภายใน 1 กลุ่ม แบ่งออกเป็นวรรณะต่างๆ คือ ราชินี (queen) มดวรรณะสืบพันธุ์ และกลุ่มมดงาน โดยแต่ละวรรณะจะมีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันจากความเป็นอยู่ และการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบของมดภายในกลุ่ม ดังนั้น สามารถจัดกลุ่มของมดเป็นแมลงสังคมที่แท้จริง (Eusocial insect) 

                  ราชินี (queen) ภายใน 1 รัง จะมีเพียง 1 ตัว หรือมากกว่า 1 ตัว เป็นเพศเมียที่ทำหน้าที่วางไข่ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นมดวรรณะสืบพันธุ์และมดงานต่อไป มดราชินีจะมีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะส่วนอกซึ่งจะพบร่องรอยของปีก และส่วนของท้องที่ขยายใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ราชินีจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม จำนวนประชากร และเพศของมดภายในรัง  

47-2-3
Recurvidris  sp. : a, b: มดราชินี ; c: มดงาน


                    มดวรรณะสืบพันธุ์ เป็นมดที่มีปีก ตารวมและตาเดี่ยว จะพบอยู่ในรังเป็นบางช่วงเท่านั้น รอเวลาที่จะออกจากรัง เพื่อผสมพันธุ์และไปสร้างรังใหม่ ภายใน 1 รัง จะมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย (อาศัยภายในรังในเวลาสั้นๆ เท่านั้น)

  • มดเพศเมีย (female) มีขนาดใหญ่ มีปีก เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะสลัดปีกทิ้ง แล้วเริ่มสร้างรังวางไข่
  • มดเพศผู้ (male) มีปีก ขนาดใกล้เคียงกับมดงาน มีหน้าที่เพียงแค่ผสมพันธุ์อย่างเดียว รูปร่างคล้ายต่อ และแตน แตกต่างจากมดเพศเมีย 
     

     

    47-2-4
    มดสกุล Camponotus  : a: มดเพศผู้ ; b: มดเพศเมีย ; c: มดงาน

                    มดงาน (worker) เป็นมดตัวเมียที่เป็นหมัน มีจำนวนมากที่สุดภายในรัง มีหน้าที่คอยหาอาหาร ป้องกันศัตรู ดูแลรัง ไข่ ตัวอ่อน รวมทั้งราชินี มดงานเป็นวรรณะที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด ภายในรังจะมีการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับอายุของมดงาน เช่น มดงานที่ออกจากดักแด้ใหม่ๆ จะยังคงอยู่ภายในรัง และดูแลไข่ ตัวหนอน ดักแด้ เมื่อมีอายุมากขึ้น มดงานก็จะเปลี่ยนกิจกรรมจากดูแลครอบครัวมาเริ่มงานใหม่ ในการสร้างรัง ทางเดิน และออกไปหาอาหาร แต่มดงานบางตัวอาจจะดำเนินกิจกรรมที่เหมือนกันตลอดทั้งชีวิต หรือบางกรณี มดงานจะทำกิจกรรมทั้งหมดภายในกลุ่ม 

                    รูปแบบของมดงาน (worker) ในมดบางชนิด อาจแบ่งมดงานออกตามขนาดของมด คือ มดงานขนาดใหญ่ เรียกว่ามดทหาร (major workers) ส่วนมดงานขนาดเล็ก เรียกว่า minor worker ขนาดของมดงานจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินกิจกรรม เช่น มดงานที่เป็น major จะพบภายในรังหรือใกล้รังเท่านั้น ขณะที่มดงานที่เป็น minor เท่านั้นที่ออกไปหาอาหารไกลจากรัง สามารถแบ่งรูปแบบของมดงานออกได้ 3 ประเภท คือ 

                    Polymorphic เป็นกลุ่มของมดงานที่มีหลายรูปแบบ เช่น มดง่าม และมดคันไฟ

47-2-5
a, e: มดงานขนาดใหญ่ ; b, c: มดงานขนาดกลาง ; d, f: มดงานขนาดเล็ก
 
                          47-2-6
                    Dimorphic เป็นกลุ่มของมดงานที่มีรูปร่าง และขนาดสองแบบภายในกลุ่ม
47-2-7
                    Monomorphic เป็นกลุ่มของมดงานที่มีรูปร่าง และขนาดเหมือนกันทั้งกลุ่ม


 

เอกสารอ้างอิง 
*** ศศิธร หาสิน พิพิธภัณฑ์มด คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
*** Ant Museum, Kasetsart University 

เว็บไซต์สำหรับศึกษาเพิ่มเติม (search by spong@) 

1. http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet4/may11/ant.htm 
     "มดจำทิศทางได้อย่างไร" โดย สุทัศน์ ยกส้าน "มดศึกษา" และ สมศรี ตั้งมงคลเลิศ วารสาร สสวท 
     ฉบับที่ 101 เม.ย.- ม.ย. 2541 
2. http://www.infowest.com/life/antbody.htm 
     Ant Anatomy learn about the body parts of ants เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมด พร้อมภาพประกอบสวยงาม

 15,688 total views,  5 views today