โครงกระดูก….บอกเพศได้

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2557

นางสาวปาณิก เวียงชัย

          ขณะที่ท่านผู้อ่านรับประทานไก่ทอด ซี่โครงหมูทอด อยู่นั้นเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า กระดูกไก่ หรือกระดูกหมูนี้มาจากส่วนใด เช่น  ปีก ซี่โครง ต้นขา หรือนิ้ว  สามารถระบุเพศ อายุ ได้หรือไม่ แล้วถ้าหากเป็นกระดูกของมนุษย์ ที่พบในสถานที่รกร้าง หรือสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรม ซึ่งมีความสำคัญในงานนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล แพทย์นิติเวชหรือเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน แยกได้อย่างไรว่ากระดูกที่พบนั้นเป็นกระดูกของมนุษย์ ไม่ใช่กระดูกของสัตว์ แล้วจะสามารถระบุเพศ หรือประมาณอายุของกระดูกที่พบได้อย่างไร

          ก่อนจะคลายข้อสงสัยในย่อหน้าแรกได้นั้น ท่านผู้อ่านลองมาทราบความเป็นมาของการศึกษากระดูกมนุษย์กันก่อน ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการศึกษากระดูกของมนุษย์ ในวิชามานุษยวิทยา (anthropology)  จะมีการศึกษาเรื่องของมนุษย์โดยเฉพาะ ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต  ประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์ ทั้งในทางชีววิทยา วัฒนธรรม ภาษา การเมือง และที่มาของมนุษย์  อาจแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1.มานุษยวิทยากายภาพ (physical anthropology) 2.มานุษยวิทยาวัฒนธรรม  (cultural anthropology)  3.มานุษยวิทยาภาษาศาสตร์  (linguistic anthropology) และ 4.โบราณคดี (archaeology)  โดยเฉพาะการศึกษาในกลุ่มมานุษยวิทยากายภาพและกลุ่มโบราณคดีที่มักขุดพบกระดูกของมนุษย์อยู่บ่อยๆ ทำให้มีการพัฒนาวิธีประมาณอายุ ระบุเพศ หรือระบุเชื้อชาติ (race) ขึ้น ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล

กระดูกมนุษย์เมื่อเจริญเต็มที่จะมีชิ้นส่วนกระดูกที่เล็กและใหญ่รวมกันทั้งสิ้น 206 ชิ้น โดยกระดูกชิ้นใหญ่ที่สุดคือ กระดูกต้นขา (femur) และชิ้นที่เล็กที่สุดคือ กระดูกโกลน (stapes) ซึ่งเป็นกระดูกในหูชั้นกลางนั่นเอง

กระดูกในร่างกายของมนุษย์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1) กระดูกแกน (axial skeleton)  มีจำนวน  80 ชิ้น เป็นกระดูกที่วางตัวในแนวแกนกลางของลำตัว  เช่น กระดูกกะโหลกศีรษะ (skull)  กระดูกซี่โครง (rib) กระดูกอก (sternum) กระดูกสันหลัง (vertebra) จากคอถึงก้นกบ

2) กระดูกรยางค์ (appendicular skeleton) มีจำนวน 126 ชิ้น เป็นกระดูกแขนและกระดูกขา ช่วยในการเคลื่อนไหว และกระดูกเชิงกราน (pelvic)

         

           57-2-1

 

ภาพที่ 1 กระดูกแกนและกระดูกรยางค์

ที่มาภาพ : หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยาเล่ม 2  สสวท.

 กระดูกชิ้นไหนใช้ระบุเพศได้

 

          กระดูกที่สามารถระบุเพศและน่าเชื่อถือได้มากที่สุด คือกระดูกกะโหลกศีรษะและกระดูกเชิงกราน ส่วนสาเหตุที่ใช้กระดูก 2 ส่วนนี้ เนื่องจากการศึกษาพบว่า ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน มีผลต่อการเจริญของเติบโตทั้งระบบกระดูกและกล้ามเนื้อทำให้กระดูกในเพศชายมีขนาดใหญ่ใหญ่และแข็งแรงกว่าเพศหญิง อีกทั้งความสัมพันธ์กับหน้าที่การทำงานในแต่ละเพศ เช่น กระดูกเชิงกรานบริเวณทางเข้าเชิงกราน (pelvis inlet) ของเพศหญิงจะกว้างกว่าเพศชาย เนื่องจากมีหน้าที่หลักคือการคลอดลูกนั่นเอง

          การระบุเพศนี้จะมีความถูกต้องก็ต่อเมื่อกระดูกแต่ละส่วนเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ซึ่งหากเป็นกระดูกของเด็กทารกหรือกระดูกเด็กจะระบุเพศได้ยากกว่าเนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในเด็กน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ และจะต้องคำนึงถึงเชื้อชาติของเจ้าของกระดูกนั้นก่อน ซึ่งแบ่งได้ 3 เชื้อชาติใหญ่ คือ คอเคซอยด์ มองโกลอยด์ และนิกรอยด์ โดยเชื้อชาติคอเคซอยด์ (ยุโรป) จะมีกระดูกใหญ่กว่าเชื้อชาติมองโกลอยด์ (เอเชีย) และนิกรอยด์ (แอฟริกา) แต่ลักษณะสำคัญหรือตำแหน่งที่ใช้ในการระบุเพศของกระดูกทั้งสองส่วนนี้เหมือนกัน ซึ่งในบทความนี้จะนำเสนอการใช้วิธีสังเกตลักษณะภายนอกด้วยตา (non-metrical character)

กระดูกกะโหลกศีรษะ ปกติมีจำนวน 22 ชิ้น ไม่รวมกระดูกหู (ear ossicle)  โดยกระดูกที่นำมาพิจารณาได้แก่   

   1. กระดูกสันคิ้ว (supraorbital  ridge) ในเพศชายจะโหนกนูนมากกว่าในเพศหญิงดังภาพที่ 2 

   2. กระดูกขมับ (temporal lobe) บริเวณ  mastoid process (กระดูกทัดดอกไม้) ในเพศชายจะใหญ่กว่าเพศหญิง

      ดังภาพที่ 2

   3. สันบนกระดูกท้ายทอย (nuchal crest) ในเพศชายจะนูนเด่นชัดกว่าเพศหญิงดังภาพที่ 2

   4. กระดูกขากรรไกรล่าง (mandible)  บริเวณ ramus ในเพศชายมีลักษณะกว้างและเป็นมุมแคบกว่า 125 องศา

      ในเพศหญิงจะมีมุมป้านกว่า ดังภาพที่ 2

   5. คาง (chin) ของเพศชายมักจะเป็นเหลี่ยม ส่วนของเพศหญิงจะกลมมน ดังภาพที่ 3

57-2-2

 

ภาพที่  2   แสดงตำแหน่งบนกระดูกกะโหลกที่ใช้ในการระบุเพศ

ที่มาภาพ : http://what-when-how.com/forensic-sciences/sex-determination/

 

 

57-2-3

 

ภาพที่ 3  แสดงรูปร่างคาง ในเพศชายและเพศหญิง

ที่มาภาพ : Bass 1987,82.

 

 

กระดูกเชิงกราน กระดูกชิ้นนี้เป็นกระดูกที่แตกต่างกันชัดเจน เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับหน้าที่การทำงานใน

แต่ละเพศ ตำแหน่งที่ใช้ระบุมี 3 จุดสำคัญ คือ

    1. รูปทรงของกระดูกเชิงกรานเมื่อวางเชื่อมต่อกันกับกระดูกใต้กระเบนเหน็บ (sacrum) หรือเรียกว่า pelvis inlet

       ของเพศชายมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ส่วนของเพศหญิงเป็นรูปไข่ ดังภาพที่ 4

   2. subpubic angle หรือมุมตรงบริเวณกระดูกหัวหน่าวด้านซ้ายและขวาเมื่อชนกัน  ในเพศชายจะแคบกว่าเพศ

      หญิง มุมกางน้อยกว่า 90 องศา หรือมีลักษณะคล้าย อักษรตัว V เราอาจใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกางขึ้นทาบ

      เปรียบเทียบได้ ในเพศหญิงมุมกางมากกว่า 90 องศา หรือมีลักษณะคล้าย อักษรตัว U  ซึ่งสามารถใช้นิ้วหัวแม่มือและ

      นิ้วชี้กางขึ้นทาบเปรียบเทียบได้เช่นเดียวกัน ดังภาพที่ 5

   3. รูปร่างของ greater sciatic notch ในเพศหญิงมีลักษณะกว้างส่วนในเพศชายจะมีลักษณะแคบ ดังภาพที่ 6

57-2-4

 

ภาพที่  5  แสดงมุมตรงบริเวณกระดูกหัวหน่าว

ที่มาภาพ : Keith L. Moore, Arthur F. Dalley, 2006

 

 

57-2-5

 

ภาพที่  6  แสดงรูปร่างของ greater sciatic notch 

ที่มาภาพ: http://lh6.ggpht.com/_1wtadqGaaPs/TFE7EoAiymI/AAAAAAAALZo/CahavIWJFgM/s1600-h

           นอกจากนี้ยังมีกระดูกใต้กระเบนเหน็บก็สามารถแยกเพศได้เช่นเดียวกัน โดยสังเกตบริเวณที่เรียกว่า body และ wing  โดยอัตราความกว้างส่วนของ body และ wing จะแตกต่างตามเพศโดย ในเพศชายส่วนของ body จะกว้างกว่า wing แต่เพศหญิงความกว้างของ wing จะมีสัดส่วนเทียบเท่ากับ body ดังภาพที่ 7

 

          57-2-6

         

 

ภาพที่  7  อัตราส่วนระหว่าง body กับ wing 

ที่มาภาพ: คู่มือประกอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ สาขามานุษยวิทยากายภาพ , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

           นอกจากนี้ยังมีผู้ศึกษากระดูกส่วนอื่นๆ เช่น กระดูกต้นขา (femur) กระดูกต้นแขน (humerus) กระดูกอก (sternum) ซึ่งต้องใช้วิธีการวัด (metric character) ออกมาเป็นตัวเลข แล้วนำมาคำนวณเข้าสมการทางคณิตศาสตร์ของผู้ที่เคยศึกษาไว้ก่อนแล้ว แม้ว่าการระบุเพศด้วยวิธีสังเกตด้วยตาเปล่าในกระดูกกระโหลกศีรษะและกระดูกเชิงกรานนั้นมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการใช้วิธีการวัด แต่ก็มีข้อด้อยที่สำคัญคือ มีบางตำแหน่งเท่านั้นที่ใช้สังเกตได้ เพราะฉะนั้นกระดูกที่ใช้วิธีนี้จะต้องค่อนข้างสมบูรณ์ แต่วิธีการวัดสามารถทำได้หลายตำแหน่งในกระดูกหนึ่งชิ้น แม้ว่ากระดูกบางชิ้นไม่สมบูรณ์ก็สามารถวัดได้ แต่ข้อควรระวังที่ทำให้การระบุเพศอาจคลาดเคลื่อนได้นั้น ได้แก่ การเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก เช่น กระดูกพรุน  การบริโภคอาหาร ฮอร์โมนเพศชาย และกรรมพันธุ์

 

เอกสารอ้างอิง

1. สุภาพร นาคบัลลังก์.  คู่มือประกอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ สาขามานุษยวิทยา. เชียงใหม่ :

    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551.

2. Park, M. A.  Biological Anthropology.  5th ed. McGraw-Hill Companies, Inc. New York. 2008.

3. การระบุเพศจากโครงกระดูกมนุษย์ Sex determination from Human Skeleton.  (Online) Available:

    http://www.forensicchula.net/FMJ/journal/topic/J4bone_sex.pdf  (Retrieved 08/11/13)

4. การระบุเพศโดยการใช้กระดูกต้นขาของผู้ใหญ่ในประชากรไทย Gender determination of Thai

    Measurements of Adult Femurs.  (Online) Available: http://www.ubu.ac.th/ubu_center/files_up/

    08f2013011419333489.pdf . (Retrieved 18/11/13)

5. Anonymous . (Online) Available: http://lh6.ggpht.com/_1wtadqGaaPs/TFE7EoAiymI/AAAAAAAALZo

    /CahavIWJFgM/s1600-h.  (Retrieved 08/11/13)

6. Forensic Medicine Notes & MCQs Part 1 (IPCs and Courts). (Online) Available:

    http://pgmcqs.com/2011/02/01/forensic-medicine-notes-mcqs-part-1-ipcs-and-courts/. 

7. Growth Chart.  (Online) Available: http://www.kidsgrowth.com/stages/viewgrowthcharts.cfm?id=BH318

   (Retrieved 18/11/13).

8. Lab 10: Sex Determination. (Online) Available:

    http://people.wku.edu/darlene.applegate/forensic/lab10/lab10.html. (Retrieved 11/11/13)

9. Sex Determination.  (Online) Available: http://what-when-how.com/forensic-sciences/sex-

   determination/. (Retrieved 11/11/13)

 69,933 total views,  35 views today