สไปโรไจรา (เทาน้ำ)

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2556

 

 

ภัณฑิลา อุดร

          หากเอ่ยถึงสาหร่ายที่นิยมรับประทานเป็นของขบเคี้ยว เราคงนึกถึงสาหร่ายปรุงรสยี่ห้อต่างๆ มากมายตามท้องตลาดที่ผลิตมาจากสาหร่ายทะเลสีแดงสกุลPorphyra ที่เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า “โนริ” นั่นเอง อันที่จริงคนไทยเองก็คุ้นเคยกับสาหร่ายทะเลชนิดนี้ในชื่อ “จีฉ่าย” ที่ใช้ใส่ในแกงจืด ซึ่งสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของสาหร่ายของจีฉ่ายที่ไม่ผ่านการปรุงรส พบว่ามีโปรตีนระหว่าง 10-40 กรัมต่อสาหร่าย 100 กรัม มีคุณค่าใยอาหารตั้งแต่ 27-41 กรัมต่อสาหร่าย 100 กรัม ส่วนสารอาหารประเภทไขมัน แป้ง และน้ำตาลจะมีอยู่น้อยมาก นอกจากนี้การใช้จีฉ่ายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 22 ซม โดยนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร จะทำให้ได้รับไอโอดีนเพียงพอต่อความต้องการไอโอดีนต่อวันอีกด้วย

          นอกจากสาหร่ายทะเลดังกล่าวที่นิยมใช้บริโภคกันทราบหรือไม่ว่า ในน้ำจืดก็มีสาหร่ายที่สามารถนำมาใช้รับประทานได้และมีคุณค่าทางโภชนาการไม่แพ้สาหร่ายทะเลที่กล่าวไปข้างต้น สาหร่ายน้ำจืดที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นอาหารได้มีอยู่ 3 ชนิด คือ 1) สาหร่ายเตา หรือ เทาน้ำ เป็นสาหร่ายสีเขียวในสกุล Spirogyra ซึ่งมีหลายชนิด มักพบอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งหรือน้ำไหลเอื่อยๆ พบมากในฤดูฝน 2) สาหร่ายไก เป็นสาหร่ายสีเขียวสกุล Cladophora พบกระจายทั่วไปตามพื้นท้องน้ำที่มีลักษณะเป็นก้อนหินและน้ำไหลไม่แรงนัก และ 3) สาหร่ายลอน หรือ ไข่หิน ดอกหิน หรืออองลอน เป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินสกุล Nostochopsis พบมากในลำน้ำน่าน ส่วนลำน้ำโขงมีบ้างแต่น้อยมาก

          สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงความรู้เบื้องต้นของสาหร่ายสีเขียวสกุลสไปโรไจรา เนื่องจากเป็นสาหร่ายที่มีชื่อคุ้นหูในห้องเรียนวิชาชีววิทยา และเป็นสาหร่ายที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้

          สไปโรไจราเป็นสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวอยู่ใน Division Chlorophyta ที่มีชื่อ               วิทยาศาสตร์ว่า Spirogyra sp. และมีชื่อสามัญว่า “เทาน้ำ เตา ไก หรือผักเตา” และเรา           สามารถพบสไปโรไจราได้ตามแหล่งน้ำจืดในธรรมชาติ เช่น คลอง โดยจะพบบริเวณน้ำนิ่งสะอาดใสในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศไทย ปัจจุบันที่ตำบลนาคูหา อำเถอเมือง จังหวัดแพร่ เริ่มมีการเพาะเลี้ยง          สไปโรไจราในบ่อดินที่ได้น้ำจากยอดเขาตามธรรมชาติ โดยชาวบ้านนิยมเก็บสไปโรไจรามาล้างให้สะอาดแล้วใช้รับประทานสด หรือนำมาลวกรับประทานพร้อมน้ำพริก หรือนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น นำสาหร่ายมาทำยำ ลาบ ชุปทอดกับไข่และแกงส้ม ซึ่งมีคุณคาทางโภชนาการโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้งประกอบด้วยโปรตีน 18.63-23.76% ไขมัน 2.86-5.21% คารโบไฮเดรต 53.98-56.31% เสนใย 6.24-7.66% และเถา 11.78% นอกจากนี้ยังมีการนำสไปโรไจรามาใช้ศึกษาในงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ปกป้องแผลในกระเพาะอาหารอีกด้วย โดยในงานวิจัยของดวงพร (2555) ได้กล่าวสรุปไว้ว่าสไปโรไจรามีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูขาวได้ ซึ่งน่าจะมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าและช่วยเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายโดยตรง นอกจากนี้ยังเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพที่มั่นคงต่อไป ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อมชาวบ้านก็จะช่วยกันดูแลรักษาแหล่งนํ้าตามธรรมชาติให้มีคุณภาพนํ้าที่ดี เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตสาหร่ายซึ่งเพาะเลี้ยงได้ดี          ในแหล่งนํ้าที่มีคุณภาพนํ้าปานกลางถึงดีนั่นเอง

56-8-1                                     ก.                                                                      ข.

ภาพที่ 1 สไปโรไจราที่พบตามธรรมชาติและบ่อเลี้ยง

                                       ก. สไปโรไจราที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ            

                                       ข. สไปโรไจราที่เก็บขึ้นมาจากบ่อเลี้ยง

 

ลักษณะของสไปโรไจราหรือเทาน้ำ

          สไปโรไจราหรือเทาน้ำเป็นสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวจับดูจะรู้สึกลื่นมือมักพบลอยเป็นแพหรือติดกับวัตถุ มีลักษณะเป็นเส้นสายไม่แตกแขนง มีสีเขียวสด มีเมือกปกคลุม ภายในเซลล์มีนิวเคลียสอยู่ตรงกลางดังภาพที่   2 ก. สามารถสร้างอาหารได้เองโดยอาศัยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงเนื่องจากมีคลอโรพลาสต์ที่มีรูปร่างเป็นเกลียว บนสายของ          คลอโรพลาสต์มีไพรีนอยด์ (pyrenoid) ดังภาพที่ 2 ข. ทำหน้าที่สะสมอาหารเรียงเป็นแถวตลอดสาย และมีผนังกั้น (septum) ระหว่างเซลล์ของสาหร่ายเป็นแบบระนาบ หรือมีลักษณะเป็นปลอกรอบรอยต่อระหว่างเซลล์ ดังภาพที่ 2 ค.

                      56-8-2                  ก.                          ข.                              ค.

ภาพที่ 2 ลักษณะของสไปโรไจรา

ก. องค์ประกอบของเซลล์เทาน้ำที่สามารถมองเห็นได้ภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง

ข. ภาพขยายไพรีนอยด์บนสายคลอโรพลาสต์ที่บิดเป็นเกลียว

ค. ผนังกั้นระหว่างเซลล์สไปโรไจราที่มีลักษณะเป็นปลอกรอบรอยต่อระหว่างเซลล์ (ภายในวงกลมสีแดง)

ที่มาภาพ : http://botany.sci.ku.ac.th/learn/pic.php?picture=./chapter/lesson11/images/big/figure11-01-09&text=%C0%D2%BE%B7%D5%E8%2011.1.9%20%C0%D2%BE%E2%B4%C2%E0%BA%AD%A8%C7%C3%C3%B3%20%AA%D5%C7%BB%C3%D5%AA%D2

http://protist.i.hosei.ac.jp/pdb/images/Chlorophyta/Spirogyra/group_E/sp_6f.jpg

 

 

การสืบพันธุ์ของสไปโรไจรา

          สไปโรไจราสามารถเพิ่มจำนวนได้ทั้งการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการหักเป็นท่อน (fragmentation) และการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศที่เรียกว่า คอนจูเกชัน (conjugation) หมายถึง การรวมตัวของเซลล์สืบพันธุ์ที่มีขนาดและรูปร่างเหมือนกัน ซึ่งมี 2 แบบ คือ           สคาลาริฟอรมคอนจูเกชัน (scalariform conjugation) เป็นการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยสร้างท่อคอนจูเกชันเชื่อมระหว่างเซลล์ต่างเส้นสายดังภาพที่ 3ก.           และแลทเทอรัลคอนจูเกชั่น (lateral conjugation) เป็นการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ซึ่งเกิดในสาหร่ายเส้นเดียวกัน ดังภาพที่ 3ข.

56-8-3  

                          ก.                                             ข.

ภาพที่ 3 การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของสไปโรไจรา

                   ก. สคาลาริฟอรมคอนจูเกชัน (scalariform conjugation)

                   ข. แลทเทอรัลคอนจูเกชั่น (lateral conjugation)

ที่มาภาพ :

http://4.bp.blogspot.com/_ukt67G3cVFw/R5Mmwdm1vFI/AAAAAAAAABI/34tuCjB2nSg/s320/scalariform+conjugation+1.jpg

http://www.doctortee.com/dsu/tiftickjian/cse-img/botany/algae/green/lateral-conjugation.jpg

          ในปัจจุบัน ผศ. ดร. ยุวดี พีรพรพิศาล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นความสำคัญของสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวหลายชนิดรวมทั้งสไปโรไจรา โดยมีโครงการที่จะพัฒนาสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของอาหารจากภูมิปัญญาชาวบ้านและแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย อีกทั้งจะส่งเสริมให้เป็นที่ยอมรับในตลาดเพื่อให้สามารถจำหน่ายได้มากขึ้นไม่ใช่เพียงในกลุ่มชุมชนเล็กๆ เท่านั้น รวมทั้งการศึกษาเกี่ยวกับการสกัดสารชีวภาพในสาหร่ายเพื่อใช้ในการรักษาหรือเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งคณะวิจัยของผศ. ดร. ยุวดี พีรพรพิศาล จะนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าวต่อไปในอนาคต ซึ่งหากเกษตรกรสนใจปลูกเลี้ยงสไปโรไจรากันมากขึ้นจะเป็นการช่วยฟื้นฟูและรักษาสภาพแหล่งน้ำตามธรรมชาติให้สะอาดได้มากขึ้น เนื่องจากสไปโรไจราเป็นสาหร่ายน้ำจืดที่เจริญเติบโตได้ดีในแหล่งน้ำที่ใสสะอาด นอกจากจะเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรภายในท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในท้องถิ่นได้อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.  ดวงพร อมรเลิศพิศาล กฤษณา ดวงจันทร์ ดวงตา กาญจนโพธิ์ ธวัช แต้โสตถิกุล และ ยุวดี พีรพรพิศาล.2555. ฤทธิ์ปกป้องแผลกระเพาะอาหารของสาหร่ายเตา.  ว.วิทย. มข. 40(1) 236-241.

2.  ความก้าวหน้าของโครงการศักยภาพของสาหร่ายน้ำจืดขนาดใหญ่. (online). Availablehttp://naffi.trf.or.th/document/algae_doc/26y8is2p20-21.pdf. (retrieved 14/02/13)

3.  บทที่ 2 ลิขสิทธิ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (online). Available http://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2551/biol0451tp_ch2.pdf. (retrieved 14/02/13)

4.  คุยกับผู้ประสานงานชุดโครงการสาหร่าย. (online). Available http://naffi.trf.or.th/document/algae_doc/22y7is2p4-5.pdf. (retrieved 14/02/13)

5.  บทเรียนที่ 11 เรื่อง พืชไม่มีระบบท่อลำเลียง. (online). Available http://botany.sci.ku.ac.th/learn/student.php?lesson=lesson11&lesson_id=11&action=story_1_2&step=1. (retrieved 14/02/13)

6. ไปดู.."บ่อเตา"…ที่นาคูหากันดีกว่า. (online). Available http://www.oknation.net/blog/print.php?id=261451. (retrieved 14/02/13)

7.  บทปฏิบัติการที่ 3 เซลล์และส่วนประกอบของเซลล์. (online). Availablehttp://pirun.ku.ac.th/~fscibtb/download/Lab_3_Cell.pdf. (retrieved 14/02/13)

 

 106,114 total views,  4 views today