คอลลาเจน

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2555

 

วิลาส  รัตนานุกูล

          เมื่อพูดถึงคำว่า คอลลาเจน หลายๆ คนคงรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เนื่องจากคอลลาเจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในเรื่องเกี่ยวกับความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็นคอลลาเจนที่เป็นอาหารเสริมบำรุงสุขภาพ บำรุงผิวพรรณ ชนิดน้ำ ชนิดแคปซูล รวมทั้งครีมบำรุงผิวบางชนิดที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน คอลลาเจนมีความสำคัญต่อร่างกายของเราเนื่องจากเป็นส่วนประกอบของกระดูก ฟัน กระดูกอ่อน เอ็น เอ็นยึดข้อ และเป็นโครงสร้างหลักของผิวหนังชั้นหนังแท้ (Dermis) ทำให้ผิวมีความยืดหยุ่น แข็งแรง กระชับ เต่งตึง และช่วยลดริ้วรอยเหี่ยวย่น

55-9-1

ภาพที่ 1 คอลลาเจนในชั้นหนังแท้

ที่มาภาพ: http://healthinfo99.blogspot.com/2010/08/skin-anatomy.html

คอลลาเจน เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีมากถึง 1 ใน 3 ของโปรตีนทั้งหมดที่มีอยู่ในร่างกาย คอลลาเจนมีลักษณะเป็นเส้นใยเมื่ออยู่ในรูปของคอลลาเจนไฟเบอร์ (collagen fibers) จะทำให้เซลล์ต่างๆ คงรูปร่างได้ คอลลาเจนเกิดจากสายพอลิเพปไทด์ 3 สายพันกันเป็นเกลียวมีโครงสร้างที่เรียกว่า triple helix โดยภายในสายพอลิเพปไทด์แต่ละสายเกิดจากการรวมกันของกรดอะมิโน (G-X-Y)n โดย G คือ ไกลซีน (glycine) X คือโพรลีน (Proline) และ Y คือไฮโดรโพรลีน (hydroxyproline ; Hyp) โดยไฮโดรโพรลีนเป็นโพรลีนที่มีการเติมหมู่ไฮดรอกซิล (-OH) ซึ่งอาศัยเอนไซม์และโคแฟคเตอร์คือกรดแอสคอบิก (ascorbic acid) หรือวิตามินซีเป็นตัวช่วยให้เกิดปฏิกิริยาในกระบวนการสร้างคอลลาเจนไฟเบอร์

 

55-9-2

ภาพที่ 2 โครงสร้างของคอลลาเจนที่เกิดจากการรวมตัวของกรดอะมิโน

ที่มาภาพ: http://alexandria.healthlibrary.ca/documents/notes/bom/unit_1/L-36%20Skin-1%20Collagen%20and%20Extracellular%20Matrix.xml

          ในวัยเด็กร่างกายจะมีคอลลาเจนเป็นจำนวนมากผิวจึงมีความแข็งแรง ยืดหยุ่นได้ดี เต่งตึง ไม่มีริ้วรอยเหี่ยวย่น แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นคอลลาเจนจะค่อยๆ เสื่อมสลายและลดลง เนื่องจากร่างกายสร้างคอลลาเจนได้น้อยลง ทำให้โครงสร้างของผิวไม่แข็งแรง เกิดรอยเหี่ยวย่น หย่อนคล้อย ดังนั้นเพื่อลดปัญหาเหล่านี้จึงจำเป็นต้องกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนให้กับร่างกาย ซึ่งการสร้างคอลลาเจนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังชั้นหนังแท้ โดยหลอดเลือดจะลำเลียงสารอาหารจากการที่เรารับประทานนำมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างคอลลาเจน ดังนั้นการรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนจากภายในจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นของผิวหนังได้ โดยเฉพาะการรับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีและแอนโทไซยานินเนื่องจากวิตามินซีและแอนโทไซยานินเป็นตัวช่วยที่สำคัญในกระบวนการสร้างคอลลาเจน

          วิตามินซีเป็นตัวช่วยสำคัญต่อการเติมหมู่ไฮดรอกซิลให้กับไฮโดรโพรลีนในปฏิกิริยาการสังเคราะห์คอลลาเจน ส่วนแอนโทไซยานินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ป้องกันไม่ให้คอลลาเจนถูกทำลาย ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีและแอนโทไซยานินจึงมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์คอลลาเจนของร่างกาย

          อาหารที่ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนให้กับร่างกาย มีดังนี้

          1. ผักและผลไม้ที่มีวิตามินซี เช่น พริกหยวกแดง มะเขือเทศ บรอคโคลี มะเขือม่วง กะหล่ำม่วง กะหล่ำดอก  ส้ม องุ่นแดง มะนาว สตรอเบอร์รี กีวี มะม่วง แคนตาลูป พลัม และมะละกอ เป็นต้น

55-9-3

พริกหยวกแดง

 55-9-4

มะเขือเทศ

55-9-5

มะเขือม่วง

55-9-6

กะหล่ำม่วง

 

55-9-7

ส้ม 

55-9-8

องุ่นแดง

 55-9-9

มะละกอ

55-9-10

กีวี 

         2. ผลไม้ที่มีแอนโทไซยานิน เช่น บลูเบอร์รี แบล็คเบอร์รี แครนเบอร์รี ราสเบอร์รี และลูกพรุน เป็นต้น

 55-9-11

บลูเบอร์รี

55-9-12  

ราสเบอร์รี

55-9-13

พรุน 

    

         3. อาหารที่มีส่วนประกอบของคอลลาเจน เช่น กระดูกของปลาทะเลน้ำลึกและปลากระเบน หรือพบบริเวณตาปลาที่มีลักษณะเป็นเหมือนวุ้นใส กระดูกอ่อนไก่ กระดูกอ่อนหมู สาหร่ายทะเล เห็ดเข็มทอง เห็ดหูหนู หัวบุก แตงกวา แก้วมังกร แอปเปิล เป็นต้น

55-9-14

เห็ดเข็มทอง 

 55-9-15

เห็ดหูหนู

 55-9-16

แตงกวา

55-9-17

แก้วมังกร 

          การเพิ่มคอลลาเจนให้กับร่างกายนอกจากการรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนแล้ว ยังสามารถทำได้โดยการรับประทานวิตามิน เอ ซี และอี หรือใช้ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนประกอบของวิตามิน เอ ซี และอี รวมถึงการปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งจะช่วยให้คอลลาเจนเสื่อมสลายช้าลงด้วย

          คอลลาเจนนอกจากจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของผิวแล้วยังช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก กระดูกอ่อน และฟัน การรับประทานคอลลาเจนร่วมกับแคลเซียมจะช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุน โดยลดการสลายแคลเซียมจากกระดูก และป้องกันโรคข้อเสื่อมโดยทำให้ไม่มีอาการปวดหรืออักเสบบริเวณข้ออีกด้วย

          ในปัจจุบันคอลลาเจนนอกจากจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้วยังมีการสกัดมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมอาหารและด้านการแพทย์ เช่น การนำคอลลาเจนมาทำเป็นที่ห่อไส้กรอกแทนลำไส้ของสัตว์  การทำคอลลาเจนให้มีขนาดโมเลกุลเล็กลงเพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ง่ายเรียกว่า เจลาติน ซึ่งนำมาทำเยลลีหรือขนมหวาน นำมาทำแคปซูลบรรจุยา ทำสารเคลือบเม็ดยา และใช้สำหรับการผลิตวัสดุสังเคราะห์ที่ใช้ในการศัลยกรรม เป็นต้น

          เมื่อเราทราบประโยชน์ของคอลลาเจนดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้นเราจึงควรหันมารับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างคอลลาเจนกันดีกว่า เพื่อสุขภาพที่ดี  ดูอ่อนกว่าวัย และช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.. P.J. Roughley Skin 1: Collagen and Extracellular Matrix. (Online) Available : http://alexandria.healthlibrary.ca/documents/notes/bom/unit_1/L-36%20Skin-1%20Collagen%20and%20Extracellular%20Matrix.xml. (Retrieved 11/05/2011)

2. Larger Assemblies. (Online) Available : http://www.cryst.bbk.ac.uk/PPS2/course/section11/assembli.html. (Retrieved 15/05/2011)

3. Quaternary Protein – Structure. (Online) Available : http://www.elmhurst.edu/~chm/vchembook/567quatprotein.html. (Retrieved 24/05/2011)

4. Collagen Structure and Functions. (Online) Available : http://www.ehow.com/list_6458559_collagen-structure-functions.html. (Retrieved 01/06/2011)

5. What Foods Are High in Collagen?. (Online) Available : http://www.ehow.com/info_8179574_foods-high-collagen.html. (Retrieved 06/06/2011)

6. What Fruits Contain Collagen?. (Online) Available : http://www.ehow.com/list_7200915_fruits-contain-collagen_.html. (Retrieved 06/06/2011)

7. Skin Anatomy. (Online) Available : http://healthinfo99.blogspot.com/2010/08/skin-anatomy.html. (Retrieved 06/06/2011)

 

ที่มาภาพราสเบอร์รี

1. Good food. BBC (online) available : http://www.bbcgoodfood.com/content/knowhow/glossary/raspberry/ (Retrieved 06/06/2011)

 

 28,419 total views,  7 views today