เลือดประจำเดือนเป็นเลือดเสียจริงหรือ

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2555

 

                                                                             จิตราภรณ์    บุญถนอม

          ประจำเดือนเป็นเลือดเสียจริงหรือ  เป็นคำถามที่ผู้หญิงหลายคนเคยสงสัยเมื่อต้องรับมือกับเลือดประจำเดือนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกเดือนเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์  ซึ่งไม่แปลกหากจะเกิดคำถามนี้ขึ้น เพราะสิ่งที่ร่างกายขับออกมาไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะ อุจจาระ หรือเหงื่อ ล้วนแล้วแต่เป็นของเสีย แล้วเลือดประจำเดือนจัดว่าเป็นของเสียที่ร่างกายขับออกมาหรือไม่

          เริ่มต้นจากการความหมายของคำว่า “เลือดเสีย” ก่อน  ถ้าผู้เขียนให้ความหมายแรกของ  “เลือดเสีย”   คือ“เลือดที่หมดอายุ”  ฟังดูคล้ายกับ “นมที่หมดอายุ” ที่ระบุไว้บนกล่องนม หรือ ในความหมายที่ สอง “เลือดเสีย” คือ “เลือดที่มีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มาก” หรือเลือดที่นำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากอวัยวะส่วนต่างๆ กลับเข้าสู่ปอด ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนขอเรียกว่า “เลือดดำ” จากนั้นมาทำความเข้าใจกับแต่ละความหมายดังนี้

          ในความหมายแรก “เลือดเสีย” คือ “เลือดที่หมดอายุ” ดังนั้นเลือดจึงมีอายุใช่หรือไม่ คำตอบคือใช่  เพราะเลือด (blood)  ประกอบด้วย เซลล์เม็ดเลือด (blood cell) และน้ำเลือดหรือพลาสมา (plasma)  เซลล์เม็ดเลือดประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดแดง (red blood cell) ซึ่งมีอายุประมาณ        120 วัน สร้างที่ไขกระดูก เซลล์เม็ดเลือดขาว (white blood cell) ชนิดแกรนูโลไซต์ (granulocyte)   มีอายุประมาณ 3 – 5 วัน ส่วนชนิดอะแกรนูโลไซต์ (agranulocyte)  มีอายุมากถึง 100 – 300 วัน  เซลล์เม็ดเลือดขาวสร้างขึ้นที่ไขกระดูก  และเกล็ดเลือดหรือเพลตเลต (platelet)  มีอายุประมาณ 5 – 9 วัน    ดังนั้นส่วนประกอบของเลือดล้วนแล้วแต่มีอายุทั้งสิ้น แต่เมื่อเซลล์เม็ดเลือดเหล่านั้นเสื่อมลง หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า เลือดหมดอายุนั้นจะถูกทำลายที่ตับและม้าม

          ส่วนในอีกความหมายของของผู้เขียนเองว่า “เลือดเสีย”  คือ เลือดดำ  ซึ่งต้องทำความเข้าใจคำว่า เลือดดำ เสียก่อนว่า  เลือดดำจะไหลอยู่ภายในหลอดเลือดที่นำเลือดจากส่วนต่างๆ ของร่างกายเข้าสู่หัวใจที่เรียกว่า หลอดเลือดเวน (venous blood vessel) ภายในหลอดเลือดเวนคือเลือดที่มีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มาก ซึ่งเลือดดำดังกล่าวจะถูกลำเลียงไปยังปอดเพื่อแลกเปลี่ยนแก๊สโดยจะปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกและรับแก๊สออกซิเจนเข้ามาแทนที่  จากเลือดดำก็กลายเป็นเลือดแดง (เลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูง) แล้วจจะถูกส่งไปเลี้ยงตามเซลล์ต่างๆทั่วร่างกายต่อไป

          ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นความหมายของเลือดหมดอายุหรือเลือดดำก็ตาม ต่างก็ถูกกำจัดไปด้วยระบบของร่างกายที่แตกต่างกันแต่ไม่ใช่ในส่วนของเลือดประจำเดือน  แล้วเลือดประจำเดือนคืออะไร  

55-5-1

แผนภาพแสดงวัฎจักรของประจำเดือน

ที่มาภาพ   http://nursingcrib.com/news-blog/physiology-of-menstruation/

          เลือดประจำเดือนมาจากวัฏจักรของประจำเดือน (menstrual cycle) คือ เมื่อไฮโพทาลามัส (hypothalamus) หลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรฟิน (gonadotropin releasing hormone) มายังต่อมใต้สมองส่วนหน้า (anterior pituitary gland)  ซึ่งจะทำให้สมองส่วนนี้หลั่งฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน (follicle stimulating hormone; FSH) และ ลูทิไนซิงฮอร์โมน (lutinizing hormone; LH) ออกมา ซึ่งฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นให้ฟอลลิเคิล (follicle) จำนวนมากในรังไข่เจริญเติบโตขึ้นมาด้วยกัน หลังจากวันที่   9 – 11 ของรอบเดือน ปกติไข่จะเจริญต่อไปเพียงใบเดียว โดยฟอลลิเคิลจะสร้างฮอร์โมนอีสโทรเจน (estrogens) ซึ่งจะทำให้เยื่อบุผนังมดลูก (endometrium) หนาขึ้น  ประมาณวันที่ 14 ฟอลลิเคิลจะแตกออกพร้อมกับปล่อยไข่เข้าสู่ท่อนำไข่ เรียกว่า การตกไข่ (ovulation)  จากนั้นฟอลลิเคิลที่แตกออกแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อเยื่อสีเหลือง  ที่เรียกว่า คอร์ปัสลูเทียม (corpus luteum) ซึ่งจะสร้างฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (progesterone) และอีสโทรเจน เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อที่จะให้มีการตั้งครรภ์ หรือเป็นที่ฝังตัวของเอ็มบริโอ (embryo)  หากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นหลังจากตกไข่แล้ว 12-14 วัน  คอร์ปัสลูเทียมจะฝ่อและสลายไปเอง ส่วนเยื่อบุผนังมดลูกที่หนาจะค่อยๆ หลุดลอกออกมา เรียกว่า “เลือดประจำเดือน” โดยจะไหลอย่างช้าๆ ประมาณ 3 – 5 วัน  บางครั้งอาจจะพบว่าเลือดประจำเดือนที่ออกมามีลักษณะเป็นลิ่มหรือเป็นก้อนๆ ซึ่งเป็นส่วนของเยื่อบุผนังมดลูกที่หลุดลอกออกมา และสีของเลือดประจำเดือนที่ออกมานั้นมักเป็นสีแดงคล้ำไปจนถึงสีน้ำตาล ขึ้นกับอัตราการไหลของเลือดประจำเดือน ถ้าเลือดไหลเร็ว สีของเลือดจะเป็นสีแดง ส่วนถ้าเลือดไหลช้า จะใช้เวลานานในการผ่านช่องคลอดและในขณะที่เลือดไหลอย่างช้าๆ เลือดจะสัมผัสกับกรดที่อยู่บริเวณช่องคลอดจึงทำให้สีของเลือดมีสีเข้มขึ้น  บางครั้งเห็นเป็นสีแดงเข้มถึงสีน้ำตาล ทำให้บางครั้งหลายคนเข้าใจว่าเลือดสีน้ำตาลเข้มที่ออกมานั้นเป็นเลือดเสียได้  

          จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดจึงสรุปได้ว่า เลือดประจำเดือนนั้นไม่จัดว่าเป็นเลือดเสีย เพราะเป็นเยื่อบุผนังมดลูก ซึ่งรวมถึงผนังหลอดเลือด และเลือดที่มาเลี้ยงผนังมดลูก ที่หลุดลอกออกมา

 

เอกสารอ้างอิง

นิกร ดุสิตสิน  วีระ นิยมวัน และไพลิน ศรีสุขโข. 2545. คู่มือการสอนเพศศาสตร์ศึกษาระดับมัธยม. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: กรุงเทพฯ.

ปรีชา สุวรรณพินิจ และ นงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. 2547. ชีววิทยา 1. พิมพ์ครั้งที่ 6. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: กรุงเทพฯ

การทำงานร่วมกันระหว่างฮอร์โมนอีสโทรเจนกับโปรเจสเตอโรน. สืบค้นเมื่อ วันที่ 12 มกราคม 2555 จาก http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/hormone/chapter5/estrogen_progeterone.htm

Strong, B., DeVault, C., Sayad B.W. and Yarber, L.W. Human Sexuality. McGraw-Hill Publishers company, United States of America. 2001.

Guyton, C. and Hall, E.J. Textbook of Medical Physiology. W.B. Saunders, Philadelphia. 1996.

Fox, S.I. Human Physiology. 6th ed. McGraw-Hill Publishers company, Boston. 1999.

Crooks, R. and Baur K. Our Sexuality. Thomson Learning, Inc, United States of America. 2005.

 

 15,007 total views,  7 views today