เรียนรู้เรื่องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตด้วยเกมโดมิโน (มิ.ย. 54)

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2554

เรียนรู้เรื่องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตด้วยเกมโดมิโน (มิ.ย. 54)

 

 

เรียนรู้เรื่องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตด้วยเกมโดมิโน

สาวินีย์ หมู่โสภณ

 

          ในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนนั้นมีวิธีการการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย เช่น บรรยาย สาธิต หรือบทบาทสมมติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของกิจกรรมกับเนื้อหาที่จะนำเสนอ บทความนี้จะขอนำเสนอรูปแบบในการจัดการเรียนการสอนเรื่องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตโดยใช้เกม ซึ่งเป็นเกมที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย และน่าจะรู้จักกันดี คือเกมโดมิโน

 

เกมโดมิโนคืออะไร

          เกมโดมิโน คือ เกมต่อภาพหรือสิ่งที่เหมือนกันโดยทั่วไปตัวโดมิโนจะมีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่แบ่งเป็น 2 ด้าน โดยมีแต้มหรือรูปภาพที่เหมือนหรือแตกต่างกัน 2 ด้าน

54-8-1
 ภาพที่ 1 โดมิโนแบบนับจำนวนและโดมิโนแบบรูปภาพ

 

          กติกาการเล่นของเกมโดมิโนมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้เล่นจะตกลงกัน เช่น ให้แต่ละฝ่ายเลือกหยิบตัวโดมิโนที่วางคว่ำอยู่ตรงกลางจำนวนหนึ่งก่อน และนำแต้มที่เท่ากันมาต่อกัน ถ้าต่อไม่ได้ก็ให้นำตัวที่หยิบได้มาเก็บไว้เป็นของตัวเอง และหยิบตัวโดมิโนที่อยู่ตรงกลางไปเรื่อยๆ จนกว่าจะต่อได้ เล่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้ที่ใช้ตัวโดมิโนมาต่อได้จนหมดก็จะเป็นผู้ชนะในเกมนี้ไป หรือให้แต่ละฝ่ายเลือกหยิบโดมิโนที่มีอยู่กับตัวมาต่อก่อน ถ้าไม่มีก็ให้หยิบจากโดมิโนที่อยู่ตรงกลางได้หนึ่งตัว ถ้าไม่สามารถนำมาต่อได้ให้ผ่านไปรอเล่นในรอบต่อไป และใครต่อตัวโดมิโนที่อยู่ในมือหมดก่อนก็จะเป็นผู้ชนะ

          แต้มที่อยู่บนตัวโดมิโนแบบนับจำนวนจะมีอยู่ 2 ค่า คือ ค่าทางด้านซ้ายมือ และค่าทางขวามือ ดังภาพที่ 2

54-8-2 

 

 

ภาพที่ 2 แสดงแต้มบนตัวโดมิโนแต่ละตัว

 

 

           จากตัวอย่างจะเห็นว่า จำนวนโดมิโนเท่ากับ n+1 ตัว นั่นคือ แต้ม 9 จะมีตัวโดมิโนเท่ากับ 10 ตัว ดังนั้นจำนวนตัวโดมิโนทั้งหมดจะเท่ากับ n(n+1)/2

 

โดย n คือ จำนวนกลุ่มตัวอย่าง

 

นั่นคือ หากโดมิโนมีแต้มตั้งแต่ 0- 9 กลุ่มตัวอย่างจะมีจำนวน(n) เท่ากับ 10

 

ดังนั้นจำนวนตัวโดมิโนทั้งหมด = [10x (10+1)] /2 ตัว

 

                                             = 55 ตัว

 

เราจะนำเกมโดมิโนมาใช้ในการเรียนการสอนเรื่องความหลากหลายได้อย่างไร

           ในการสอนเรื่องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตนั้นรูปแบบของการจัดกิจกรรมและเนื้อหาขึ้นอยู่กับระดับชั้นเรียนที่จะสอน หากเป็นระดับประถมศึกษา ครูอาจจะสอนให้ผู้เรียนรู้จักกลุ่มของสิ่งมีชีวิตอย่างง่ายๆ เช่น จำแนกเป็น สัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก หรือระดับที่สูงขึ้นอาจจำแนกเป็น ปลากระดูกอ่อน ปลากระดูกแข็ง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ซึ่งในการที่จะนำเกมมาประยุกต์เพื่อใช้สอนในหัวข้อนี้นั้นจะเน้นให้นักเรียนรู้จักตัวอย่างของสิ่งมีชีวิต หรือลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตก็ได้ หากจะเน้นให้นักเรียนรู้จักตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตก็นำภาพของตัวอย่างสิ่งมีชีวิตแต่ละกลุ่มมาแทนแต้มบนตัวโดมิโน หรืออาจจะเน้นลักษณะของสิ่งมีชีวิตมาแทนแต้มบนตัวโดมิโน เช่น

           กลุ่มตัวอย่างคือ ปลากระดูกอ่อน ปลากระดูกแข็ง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (n) = 5 ทั้งนี้เพื่อเพิ่มจำนวนตัวโดมิโนจึงเพิ่มตัว Blank อีก 1 กลุ่ม ทำให้มีกลุ่มตัวอย่างรวมเป็น 6 กลุ่ม นั่นคือ n = 6

 

           ดังนั้นเราจึงต้องหาตัวอย่างสิ่งมีชีวิตหรือลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตแต่ละกลุ่มให้ได้จำนวนเท่ากับ 6+1 = 7 ภาพ และจับคู่ภาพตัวอย่างแต่ละกลุ่มดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงการจับคู่ภาพตัวอย่างสิ่งมีชีวิตของโดมิโนแต่ละตัว

54-8-3 

 

             จากตารางจะเห็นว่าแต่ละกลุ่มตัวอย่างจะต้องใช้ภาพสิ่งมีชีวิตเท่ากับ 7 ภาพ หากเป็นโดมิโนแต้มปกติจะนิยมใช้แต้มที่เหมือนกัน แต่เพื่อให้การเล่นเกมมีความน่าสนใจยิ่งขึ้นจึงแนะนำว่าให้ใช้ภาพตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายในแต่ละกลุ่ม เช่น เราอาจใช้ ฉลาม แทน A1–A7 ก็ได้ แต่ถ้าหากเราใช้ ฉลาม แทน A1 กระเบน แทน A2 จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในกลุ่มปลากระดูกอ่อนที่หลากหลายกว่า

 

การทำตัวโดมิโน

วัสดุอุปกรณ์

 

  • 1. กระดาษแข็ง ขนาด 4 ซม. X 8 ซม.
  • 2. กระดาษกาว 2 หน้า หรือ กาวลาเท็กซ์
  • 3. ภาพตัวอย่างสิ่งมีชีวิต ขนาด 4 ซม. X 4 ซม.
  • 4. กรรไกร หรือ มีดคัตเตอร์

54-8-4 

 

ภาพที่ 3 วัสดุ อุปกรณ์

 

วิธีการทำ

           นำภาพตัวอย่างสิ่งมีชีวิตขนาด 4 ซม.X 4 ซม. มาติดบนกระดาษแข็งขนาด 4 ซม.X 8 ซม.ดังภาพ

 54-8-5

 

ภาพที่ 4 การติดภาพตัวอย่างสิ่งมีชีวิตบนกระดาษแข็งหรือบนตัวโดมิโน

 

และทำตัวโดมิโนจนครบตามจำนวน

54-8-6 

 

ภาพที่ 5 ตัวอย่างโดมิโนที่ทำเสร็จแล้ว

 วิธีการเล่น

 

          กติกาการเล่นขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้เล่น หรือครูผู้สอนอาจเป็นผู้กำหนดกติกาให้แก่นักเรียน ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าในระหว่างการเล่นเกมของนักเรียนครูผู้สอนควรสังเกตและคอยซักถามเป็นระยะว่าเพราะเหตุใดจึงจัดสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ เป็นกลุ่มเดียวกัน เพื่อเป็นการทดสอบความเข้าใจของผู้เรียน หรือเป็นการประเมินผู้เรียนไปด้วย

54-8-7 

 

 

ภาพที่ 6 ตัวอย่างการต่อตัวโดมิโน

 

          จากภาพที่ 5 จะเห็นว่าเป็นการเล่นแบบที่นำสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวกันมาต่อกัน เช่น นำเสือโคร่งและหมีขาวมาต่อกัน เนื่องจากเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเหมือนกัน และสัญลักษณ์ สสวท เทียบได้กับตัว Blank ในเกมโดมิโนนั่นเอง

 

           "ในการสอนให้ได้ผลดีนั้นควรจะต้องเริ่มที่หลักการและจัดกระบวนการสอนให้สอดคล้องกับหลักการ โดยอาศัยรูปแบบการสอน วิธีการสอนและเทคนิคการสอน ซึ่งมีอยู่อย่างหลากหลายเข้ามาช่วยให้กระบวนการสอนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด” (ทิศนา แขมมณี และคณะ, 2545)

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

ทิศนา แขมณี และคณะ. 2545. กระบวนการเรียนรู้ ความหมายและแนวทางการพัฒนาและปัญหาข้องใจ.

          กรุงเทพฯ: บริษัท พัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) จำกัด, 94 หน้า.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 22,198 total views,  1 views today