โครงสร้างประชากรไทยกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (ธ.ค. 53)

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2554

 ครงสร้างประชากรไทยกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

โดย… ดร.วนิดา  ธนประโยชน์ศักดิ์

            เคยสังเกตหรือไม่ว่าในปัจจุบันเรามักจะพบผู้สูงอายุตามสถานที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น  นั่นแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีอายุยืนเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต  ผู้สูงอายุเหล่านี้บางส่วนได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากสมาชิกในครอบครัว  บางส่วนยังคงต้องออกมาประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตนเองเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดต่อไป  และพบว่าบางส่วนก็มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกสมาชิกในครอบครัวทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังหรือนำไปทิ้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ เนื่องจากไม่มีเวลาในการเลี้ยงดูหรือคิดว่าเป็นภาระที่ไม่อยากรับผิดชอบ  ดังที่เราเคยได้รับทราบข่าวสารจากสื่อต่างๆ กันมาแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวโน้มของการทอดทิ้งผู้สูงอายุนี้จะเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบทที่ลูกหลานต้องอพยพมาหางานทำในเมืองหลวงหรือในเมืองใหญ่ๆ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้บ่งชี้ถึงโครงสร้างประชากรของไทยที่มีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงในอนาคต  โครงสร้างประชากรมีรูปแบบเป็นอย่างไร  และที่ว่ามีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงนั้น เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง  เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่า

            โครงสร้างประชากรมนุษย์ (population structure) นิยมแสดงด้วยพีระมิดประชากร (population pyramid) ซึ่งเป็นแผนภาพประกอบด้วยกราฟแท่งแสดงอายุของประชากรในแต่ละช่วงวัยต่างๆ กัน  โดยสามารถแบ่งช่วงอายุประชากรออกได้เป็น 3 ช่วงด้วยกันคือ ช่วงวัยก่อนเจริญพันธุ์ มีอายุตั้งแต่แรกเกิด-14 ปี ช่วงวัยเจริญพันธุ์ มีอายุตั้งแต่ 15-44 ปี และช่วงวัยหลังเจริญพันธุ์ มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป  ซึ่งกราฟแต่ละแท่งจะแสดงจำนวนร้อยละของประชากรทั้งหมดในช่วง 5 ปี เช่น 0-4 ปี 5-9 ปี และ 10-14 ปี เป็นต้น นอกจากนี้ กราฟแท่งที่แสดงนี้จะแยกประชากรเพศชายและเพศหญิงออกจากกันคนละด้านในแผนภาพเดียวกัน 

            พีระมิดประชากรมนุษย์สามารถเขียนแสดงในรูปแบบต่างๆ ได้ 4 รูปแบบ ได้แก่ พีระมิดแบบขยายตัว พีระมิดแบบคงที่  พีระมิดแบบเสถียร  และพีระมิดแบบหดตัว  โดยแต่ละแบบจะมีความแตกต่างกันดังนี้

 พีระมิดแบบขยายตัว(

                                                      54-3-1

                                                                  ภาพที่ 1 พิรามิดแบบขยายตัว

          2. พีระมิดแบบคงที่ (stationary pyramid) เป็นพีระมิดประชากรที่มีรูปแบบคล้ายทรงกรวยปากแคบ หรือมีโครงสร้างประชากรในแต่ละช่วงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งแสดงถึงรูปแบบของอัตราการเกิดและอัตราการตายของประชากรที่ต่ำ  พบโครงสร้างประชากรแบบนี้ได้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ไทย  เป็นต้น

                                                        54-3-2

                                                                    ภาพที่ 2 พิรามิดแบบคงที่

         3. พีระมิดแบบเสถียร (stable pyramid) เป็นพีระมิดประชากรที่มีรูปแบบคล้ายกับระฆังคว่ำ  หรือมีโครงสร้างประชากรที่คงที่  ซึ่งแสดงถึงรูปแบบของอัตราการเกิดและอัตราการตายของประชากรที่ไม่เปลี่ยนแปลงพบโครงสร้างประชากรแบบนี้ได้ในประเทศสเปน เดนมาร์ก ออสเตรีย  เป็นต้น

                                                    54-3-3

                                                                 ภาพที่ 3 พิรามิดแบบเสถียร

 

         4. พีระมิดแบบหดตัว (constrictive pyramid or declining pyramid) เป็นพีระมิดประชากรที่มีรูปแบบของฐานพีระมิดแคบ ตรงกลางพองออกและยอดค่อยๆ แคบเข้าคล้ายรูปดอกบัวตูม ซึ่งแสดงถึงรูปแบบของอัตราการเกิดและอัตราการตายที่ต่ำ หรือมีโครงสร้างประชากรลดลง พบโครงสร้างประชากรแบบนี้ได้ในประเทศสาธารณรัฐเยอรมนี สวีเดน สิงคโปร์ เป็นต้น

                                                  54-3-4

                                                                 ภาพที่ 4 พิรามิดแบบหดตัว

            ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรประมาณ 67.2 ล้านคน หากดูโครงสร้างอายุของประชากรพบว่า อายุ 0-14 ปี มีประมาณร้อยละ 20.3  อายุ 15-64 ปี  มีประมาณร้อยละ 70.7  และอายุ 65 ปีขึ้นไป มีประมาณร้อยละ 9 และเมื่อพิจารณาอายุขัยเฉลี่ยแล้วพบว่า  เพศชายมีอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดประมาณ 71.02 ปี และเพศหญิงมีอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดประมาณ 75.82 ปี (ที่มาข้อมูลประมาณการปี 2553 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ CIA World Factbook) 

             ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 19 ของโลกรองจาก จีน  อินเดีย  สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย บราซิล รัสเซีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ไนจีเรีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก เยอรมนี  ฟิลิปปินส์  เวียดนาม อียิปต์ เอธิโอเปีย ตุรกี และอิหร่าน  โดยมีประชากรคิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากรโลก  และมีการเพิ่มของประชากรประมาณ 1 ใน 140 ส่วนของการเพิ่มประชากรโลก  ซึ่งการเพิ่มประชากรของไทยดังกล่าวนี้เป็นการเพิ่มในอัตราที่คงที่และมีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคต โดยพบว่าเมื่อปีพ.ศ. 2549 ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มประชากรร้อยละ 0.6 ต่อปี และข้อมูลประมาณการในปีพ.ศ. 2553 ก็ยังพบว่ามีอัตราการเพิ่มประชากรอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มประชากรในวัยก่อนเจริญพันธุ์จะลดลงเรื่อยๆ และจากการคาดการณ์ของคณะทำงานฉายภาพประชากร ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่าในปีพ.ศ. 2565 หรืออีก 11 ปีข้างหน้าอัตราการเพิ่มประชากรจะใกล้เคียงกับศูนย์  คืออัตราการเกิดในแต่ละปีมีจำนวนที่ใกล้เคียงกับอัตราการตายในแต่ละปี

 

                ดังที่ทราบแล้วว่าปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการการเกิดของประชากรที่ค่อนข้างคงที่  สาเหตุเนื่องมาจากประเทศไทยมีนโยบายในการคุมกำเนิดที่ได้ผลดีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ผู้หญิงไทยในวัยทำงานมีแนวโน้มที่จะแต่งงานช้าและเป็นโสดมากขึ้น ตลอดจนโครงสร้างของสังคมที่เปลี่ยนมาเป็นแบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้นจึงมีภาระและต้นทุนของค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดจนการเลี้ยงดูบุตรที่มากขึ้นตามไปด้วย เป็นต้น ทั้งนี้พบว่าประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุในอนาคต โดยประชากรในวัยเด็กจะลดลงในขณะเดียวกันประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนยิ่งขึ้นตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และในอนาคต พบว่าข้อมูลจะเป็นดังภาพที่ 5

54-3-5

                                                ภาพที่ 5 กราฟแสดงประชากรในปี พ.ศ. 2548-2578

 

               จากกราฟจะเห็นได้ว่า  แนวโน้มของจำนวนประชากรของประเทศไทยทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และลดลง  และจำนวนประชากรในวัยเด็กมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประชากรวัยผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน  ถ้าหากจะเขียนพีระมิดโครงสร้างประชากรตั้งแต่อดีต  ปัจจุบัน  และอนาคตเพื่อดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนั้น จะเป็นดังภาพที่ 6

 54-3-6

 

                                             ภาพที่ 6 พีระมิดประชากรของไทยในอดีต ปัจจุบันและอนาคต

                                         (ที่มา :U.S. Census Bureau, International Data Base)

 

               จากภาพที่ 6 จะเห็นได้ว่ารูปแบบพีระมิดประชากรจะเปลี่ยนจากพีระมิดแบบคงที่  มาเป็นพีระมิดแบบเสถียรหรือรูประฆังคว่ำ และพีระมิดแบบหดตัวหรือแบบดอกบัวตูมตามลำดับ  ทั้งนี้ประเทศไทยมีการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 จนถึงปีพ.ศ. 2553 ในอัตราส่วนเกือบเท่าตัว ซึ่งจากการสำรวจขององค์การสหประชาชาติพบว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยนี้มีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นหรือใช้เวลาเพียงประมาณ 20 ปีในการเพิ่มสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุเป็นเท่าตัว ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะใช้เวลานานประมาณ 70 ปีขึ้นไป  สาเหตุที่ประชากรผู้สูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นเนื่องมาจาก ประเทศไทยมีระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชากรมีความรู้เกี่ยวกับภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น  ตลอดจนมีการดูแลรักษาสุขภาพที่ดีและนิยมหันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมากขึ้น  เป็นต้น   

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรในอนาคตนี้จะส่งผลอย่างไรบ้าง

                จากการคาดการณ์ถึงโครงสร้างของประชากรไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต คือ มีการลดลงของประชากรในวัยก่อนเจริญพันธุ์และมีการเพิ่มขึ้นของประชากรของผู้สูงอายุนั้น จะส่งผลในด้านต่างๆ ดังนี้คือ

                1.  สังคมไทยเปลี่ยนจากสังคมที่มีวัยแรงงานมาก (อายุ 25-59 ปี) เป็นสังคมของผู้สูงอายุโดยจะพบผู้ที่มีอายุยืนมากขึ้น แต่จะขาดแคลนแรงงานที่จะป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ปัญหาที่จะพบตามมาคือ  อาจต้องมีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ  ทั้งนี้รัฐต้องมีมาตรการในการควบคุมดูแลการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศให้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  เนื่องจากจะส่งผลถึงความมั่นคงของประเทศได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ผิดกฏหมายทั้งหลายเพราะอาจนำมาซึ่งปัญหาอาชกรรมต่างๆ ได้

                2.  การปรับนโยบายในการบริหารประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคม  เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุจะส่งผลต่อการลดลงของรายได้เฉลี่ยของประชากร และส่งผลต่อรายได้จากเงินภาษีอากรของรัฐลดลงด้วย  แต่รัฐจะต้องมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในด้านที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ  เช่น  การประกันสังคม  สุขภาพอนามัย  และสวัสดิการของผู้สูงอายุต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้รัฐก็ได้มีการเตรียมความพร้อมของการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุไว้บ้างแล้ว  จะเห็นได้จากการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564) ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

                3.  รูปแบบของการพึ่งพิงกันระหว่างกลุ่มประชากรในช่วงอายุต่างๆ จะเปลี่ยนไป โดยพบว่าโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปนี้จะทำให้จำนวนประชากรในวัยเด็กที่ต้องพึ่งพิงวัยทำงานลดลง  แต่กลับมีวัยผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงวัยทำงานเพิ่มขึ้น  เมื่อวัยเด็กลดลงก็จะส่งผลต่อการลดลงของวัยผู้ใหญ่ที่เป็นวัยทำงานด้วย  ถ้าหากวัยผู้สูงอายุมากกว่าวัยทำงาน  ก็จะพบกับปัญหาของการขาดที่พึ่งพิงของกลุ่มคนสูงอายุ  ในแต่ละครอบครัวก็จะมีสมาชิกที่จะดูแลผู้สูงอายุน้อยลง ปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งก็จะมีมากขึ้นตามลำดับ

                4.  ส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่ใช้แรงงานจากผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น  ผู้สูงวัยในปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนเพิ่มมากขึ้น และสุขภาพก็ยังคงแข็งแรงเฉกเช่นเดียวกับวัยทำงาน หากภาครัฐและเอกชนมีนโยบายในการส่งเสริมการประกอบอาชีพที่ให้ผู้สูงวัยเหล่านี้ได้เข้ามาทำงานมากขึ้นก็จะช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้  หรืออาจจะขยายระยะเวลาในการประกอบอาชีพจากเดิมที่กำหนดให้มีการเกษียณอายุในวัย 60 ปี  อาจเพิ่มเป็น 65 ปีดังเช่นหลายๆ ประเทศ  ทั้งนี้ควรดำเนินการในเชิงนโยบายให้เป็นรูปธรรม เป็นต้น

                ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างของแนวทางในการวางแผนเพื่อการก้าวไปสู่สังคมของผู้สูงอายุ  แต่ทั้งนี้ในส่วนของประชากรของประเทศเองก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย  กล่าวคือต้องมีการเตรียมความพร้อมของสมาชิกในครอบครัว  มีการวางแผนการใช้ชีวิตในทุกๆ ด้าน  ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ต่างๆ  เพื่อให้เกิดภาระที่น้อยที่สุดของสมาชิกในครอบครัวและต่อสังคมโดยรวม

                                                                *********************************

 

เอกสารอ้างอิง

ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสถาบัน. กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้

พื้นฐานและเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 6. พิมพ์ครั้งที่ 3กรุงเทพฯองค์การค้าของ สกสค. 2550.

ปัทมา  ว่าพัฒนวงศ์ และปราโมทย์  ประสาทกุล.  ประชากรไทยในอนาคต. Online available: http://www.ipsr.mahidol.ac.th/JPSR/Annual ConferenceII/Article/Article02.htm Retrieved 06/12/2010

ประชากรโลก  ประชากรไทย.  Online available: http://vclass.mgt.psu.ac.th/~465-302/2006-2/Assignment-02/BPA_29_06_2/future.htm  Retrieved 06/12/2010

ประชากรมนุษย์. Online available:

http://human.uru.ac.th/Major_online/SOC/03Populatio/Life_3.htm Retrieved 06/12/2010

ฐานข้อมูลประชากร: ผู้สูงอายุ. Online available:

http://www.cps.chula.ac.th/research_division/article/ageing_001.htm Retrieved 16/12/2010

Population in Thailand. Online available: www.boi.go.th/thai/how/demographic.asp   Retrieved 16/12/2010

Population Pyramid. Online available:

                http://www.metagora.org/training/encyclopedia/agesex.html   Retrieved 16/12/2010

Thailand Population. Online available:

                http://www.searo.who.int/LinkFiles/Family_Planing_Fact_Sheets+thailand.pdf

                Retrieved 16/12/2010

Thailand and Family Planning: An Overview. Online available: http://w3.whosea.org/fch Retrieved 16/12/2010

 

 

 230,455 total views,  4 views today