แผ่นทดสอบตาบอดสี Ishihara

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2551

                          ธีรพัฒน์ เวชชประสิทธิ์ เรียบเรียง
                                                                                                                                                         วรากร เทียมทัด ข้อมูล
 
          หลาย ๆ คน คงเคย เห็น หรือ เคยใช้ แผ่น กระดาษสีเพื่อทดสอบ ตาบอดสี โดยเฉพาะใครที่เคยสอบใบขับขี่ต้องได้ทดสอบอาการตาบอดสีด้วยแผ่นทดสอบที่ว่านี้มาทุกคน แต่สงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า ในการทดสอบตาบอดสีในทางการแพทย์จริงๆ นั้นทำกันอย่างไร และ ต้องใช้ เจ้าแผ่นที่ว่านี้ มากน้อยแค่ไหน ลองมาหาคำตอบกัน 

เราเห็นสีวัตถุได้อย่างไร               
          ในคนปกติ จะมีอวัยวะที่ทำหน้าที่รับแสงสีที่สะท้อนออกมาจากวัตถุในดวงตานั่นคือ เรตินา (retina) ภายในเรตินา 1 ข้างประกอบไปด้วย เซลล์ที่เรียกว่า โคน (cone) ประมาณ 6-7 ล้านเซลล์ ซึ่งเซลล์โคนนี่เองจะทำหน้าที่รับแสงสีต่างๆ ที่สะท้อนมาจากวัตถุ และประมวลผลร่วมกันจนทำให้เราเห็นวัตถุเป็นสีต่าง ๆ             
          เซลล์โคน 6-7 ล้านเซลล์นี้ ยังแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามการตอบสนองต่อสีที่เป็นแม่สีของแสง คือ  
       1. Long wavelength-sensitive cones เป็นเซลล์โคนที่ตอบสนองต่อแสงสีแดง มีอยู่ประมาณ 60 % 
       2. Middle wavelength-sensitive cones เป็นเซลล์โคนที่ตอบสนองต่อแสงสีเขียว มีอยู่ประมาณ 30 % 
       3. Short wavelength-sensitive cones เป็นเซลล์โคนที่ตอบสนองต่อแสงสีน้ำเงิน มีอยู่ประมาณ 10 %  

อาการตาบอดสี 
         จำนวนและความสามารถในการทำงานของเซลล์โคนในเรตินาจะเป็นตัวกำหนดว่าคนนั้นจะมีอาการผิดปกติของการตอบสนองต่อแสงสีต่างๆ มากน้อยเพียงใด ซึ่งเกิดเป็นอาการตาบอดสีลักษณะต่าง ๆ แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะใหญ่ ดังนี้  
              1.       ในเรตินามีเซลล์โคนครบทั้ง 3 ชนิด แต่อาจมีชนิดใดชนิดหนึ่งทำงานได้หรือมีจำนวนน้อยกว่าปกติ (anomalous trichromat) โดยพบว่า คนที่ผิดปกติที่เซลล์โคนที่ตอบสนองต่อแสงสีเขียวมีมากที่สุดประมาณ 5 % จากผู้ที่มีอาการตาบอดสีทั้งหมด ผิดปกติของเซลล์โคนที่ตอบสนองต่อแสงสีแดง มีอยู่ประมาณ 1 % และ ผิดปกติของเซลล์โคนที่ตอบสนองต่อสีน้ำเงินมีอยู่น้อยที่สุด คิดเป็น 0.0001 % ภาพที่คนเหล่านี้มองเห็นยังยังคงเห็นภาพต่างๆ เป็นสีเขียว แดง น้ำเงินได้เหมือนคนปกติ แต่การตอบสนองหรือการแยกแยะสีเหล่านี้อาจทำได้ไม่เหมือนคนปกติ เช่น ผู้ที่ผิดปกติ ที่เซลล์โคนที่ตอบสนองต่อสีแดงจะแยกแยะความแตกต่างหรือเห็นสีแดงแตกต่างไปจากคนปกติ เท่านั้น แต่ สีเขียวและสีน้ำเงิน (ที่ไม่มีแสงสีแดงผสมอยู่ด้วย) จะยังเห็นและแยกแยะได้เหมือนคนปกติ เป็นต้น 
              2.       ในเรตินามีเซลล์โคนเพียงแค่ 2 ชนิด ขาดเซลล์โคนที่ตอบสนองแต่แสงสีใดสีหนึ่ง (dichromat) เช่น ผู้ที่ขาดเซลล์โคนที่ตอบสนองต่อสีแดง จะมองไม่เห็นวัตถุที่สะท้อนสีแดงโดยจะเห็นเป็นโทนสีเทา แต่ยังสามารถมองเห็นวัตถุที่สะท้อนแสงสีอื่นๆ ได้เป็นปกติ 
              3.       ในเรตินามีเซลล์ที่ตอบสนองต่อแสงสีเพียงอย่างเดียว (monochromat) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะย่อยๆ คือ อาการผิดปกติที่มองไม่เห็นแสงสีอื่นๆ เลยนอกจากโทนสีขาว เทา และดำ (rod monochromat) ซึ่งเกิดจากการที่บุคคลผู้นั้นมีแต่เซลล์รอด (rod cell) ที่ตอบสนองต่อการมองเห็นวัตถุในเวลากลางคืน และ อาการผิดปกติที่เห็นแสงสีเพียงสีเดียว (cone monochromat) ซึ่งโดยปกติจะพบเฉพาะอาการที่เห็นได้แต่เฉพาะแสงสีน้ำเงิน ซึ่งพบได้น้อยมาก 

เราจะทราบได้อย่างไรว่าตาบอดสีหรือไม่  
       โดยทั่วไปจักษุแพทย์นิยมทำการตรวจสอบลักษณะความผิดปกติเหล่านี้โดยใช้แผ่นทดสอบตาบอดสีที่หลายๆ คนคงเคยเห็นผ่านตากันมา ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นกระดาษแบนราบและมีวงกลมเป็นพื้นจุดสีแดงตัวเลขจุดสีเขียวบ้าง หรือเป็นพื้นจุดสีเขียวตัวเลขจุดสีแดงบ้าง เป็นต้น  

52-7-1       แผ่นทดสอบที่แพทย์ใช้นั้น เรียกว่า แผ่นทดสอบ Ishihara  ซึ่งออกแบบโดย ดร. Shinobu Ishihara ชาวญี่ปุ่นซึ่งแผ่นทดสอบตาบอดสีเหล่านี้จะพิมพ์เป็นหนังสือ โดยในหนึ่งเล่มจะประกอบด้วยแผ่นทดสอบทั้งหมด 38 แผ่น หรือในบางกรณีอาจมีแผ่นทดสอบ 24 แผ่น ซึ่งในทางการแพทย์แล้วนั้น การใช้แผ่นทดสอบดังกล่าวเพียง 4 แผ่น ก็เพียงพอที่จะสามารถตรวจสอบได้แล้วว่าบุคคลที่ถูกทดสอบนั้นมีอาการตาบอดสีหรือไม่   
 
หน้าตาแผ่นทดสอบตาบอดสี Ishihara เป็นอย่างไร                  
        ในจำนวนแผ่นทดสอบตาบอดสีจำนวน 24 หรือ 38 แผ่นยังแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้ 5 กลุ่ม คือ  
           1. แผ่น demonstration มีลักษณะเป็น พื้นวงกลมสีเทาและมีตัวเลข 12 สีส้ม ซึ่งแผ่นในกลุ่มนี้จะใช้เป็นแผ่น เริ่มต้นในการทดสอบ เพื่อดูว่า ตาของผู้ที่ถูกทดสอบมีความผิดปกติอย่างอื่น และสามารถอ่านตัวเลขได้หรือไม่ ซึ่งคนที่ตาปกติและคนที่มีอาการตาบอดสีต้องสามารถอ่านตัวเลขได้เหมือนกัน   
           2. แผ่น transformation มีลักษณะเป็นตัวเลข 1 หลัก หรือ 2 หลัก โดยมีทั้งที่เป็นพื้นสีเขียวตัวเลขสีแดง และ พื้นสีแดงตัวเลขเขียว ตัวอย่างการอ่านแผ่น transformation เช่น ในแผ่นที่ 3/24 หรือ 4/38 คนตาปกติจะอ่านได้เลข 29 คนที่มีอาการตาบอดสีเขียว-แดงจะอ่านได้เลข 70 ส่วนคนที่ตาบอดทุกสีจะมองไม่เห็นตัวเลข  
        3. แผ่น disappearing มีลักษณะคล้ายกับแผ่น  transformation แต่มีความแตกต่างตรงที่ คนที่ตาบอดทั้งสีเขียว-แดง และคนที่ตาบอดทุกสีจะมองไม่เห็นตัวเลข เช่น ในแผ่นที่ 12/24 หรือ 16/38 คนตาปกติ อ่านได้เลข 16 แต่คนตาบอดสีทั้ง 2 กรณี มองไม่เห็นเลข 16 เป็นต้น 
        4. แผ่น hidden digit  แผ่นนี้จะมีลักษณะตรงข้ามกับ แผ่น disappearing คือ คนที่สายตาปกติจะมองไม่เห็นตัวเลข ในขณะที่ผู้ที่มีอาการตาบอดสี จะเห็นแผ่นที่ 14/24 หรือ 18/38  เป็น เลข 5 เป็นต้น 
        5. แผ่น qualitative เป็นแผ่นที่ออกแบบมาเพื่อต้องการใช้แยกว่าผู้ป่วยนั้นตาบอดสีเขียวหรือตาบอดสีแดง แต่สวนมากแพทย์จะไม่นิยมใช้แผ่นในกลุ่มนี้ทดสอบเนื่องจากมีความแม่นยำไม่มาก 
           แผ่นทดสอบตาบอดสีทั้ง 5 กลุ่มนี้ นอกจากมีลักษณะเป็นตัวเลขแล้วยังมี ลักษณะเป็น เส้นซึ่งแพทย์มักจะใช้ในกรณีที่ผู้ถูกทดสอบ ยังเป็นเด็ก หรือ ไม่สามารถอ่านตัวเลขในแผ่นทดสอบได้ โดยจะให้คนไข้ วาดเส้นที่มองเห็นจากในแผ่นทดสอบตาบอดสีเหล่านั้นแทน

52-7-2 
ภาพตัวอย่างแผ่นทดสอบ Ishihara ที่อ่านเป็นตัวเลข
ก. แผ่น demonstration (แผ่นที่1/24)    ข. แผ่น transformation (แผ่นที่ 3/24)    ค. แผ่น disappearing (แผ่นที่ 12/24)
ง.แผ่น hidden digit (แผ่นที่ 14/24)    จ. แผ่น qualitative (แผ่นที่ 16/24)

 

 

52-7-3
ภาพตัวอย่างแผ่นทดสอบ Ishihara ที่มองเห็นเป็นเส้น
ฉ. แผ่น demonstration (แผ่นที่24/24)    ช. แผ่น transformation (แผ่นที่ 22/24)    ซ. แผ่น disappearing (แผ่นที่ 20/24)
ญ.แผ่น hidden digit (แผ่นที่ 19/24)    ฎ. แผ่น qualitative (แผ่นที่ 18/24)

 39,050 total views,  2 views today