เมื่อมนุษย์คุกคามดาวโลก

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2548

         48-11-1

                     สุทธิพงษ์  พงษ์วร

              หลายคนคงจะเห็นกันจนภาพชินตา กับการพัฒนาและเจริญเติบโตทางวัตถุ ในเขตชุมชนเมือง ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม เราพัฒนาสิ่งต่างๆ มาเพื่อใช้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้ชีวิตของเราในช่วงวงชีวิตหนึ่งๆ เท่านั้น เทคโนโลยีต่างๆ ถูกนำมาใช้มากมาย ซึ่งแน่นอนมีทั้งข้อดีและข้อเสียติดตามมาพร้อมๆ กัน อย่างต้องทำใจยอมรับ แต่เนื่องจากสภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ทำให้ข้อเสียถูกมองข้าม ประโยชน์และข้อดีจะถูกนำมาเป็นประเด็นในการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อให้ผู้บริโภคคล้อยตาม และลืมนึกหรือไม่ทันนึกถึงข้อเสียและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะติดตามมาภายหลัง 
              จากการประเมินผลของโครงการสิ่งแวดล้อมในโครงการ Millennium Ecosystem Assessment (MA) ได้รายงานว่า สิ่งแวดล้อมของดาวโลกได้ถูกทำลายไปมากกว่า 60% ในภาพรวมไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในธรรมชาติ หรือกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสนับสนุนส่งเสริมการมีชีวิตอยู่บนดาวดวงนี้ 
              และที่น่าเป็นห่วง ก็คือ ในรอบ 50 ปี ที่ผ่านมา กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั่วโลกมากที่สุด มากกว่าช่วงเวลาใดๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เลยทีเดียว ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศอย่างรุนแรง การที่ความรุนแรงของพายุมีมากขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย อุณหภูมิของอากาศและน้ำทะเลสูงขึ้น กระแสน้ำเปลี่ยนทิศ การลดลงของป่าเขตร้อน และยังรวมถึงปัญหาขยะพิษที่มนุษย์ได้ร่วมกันสร้างขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็จะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่บนโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

48-11-2

            รายงานการเปลี่ยนแปลงสภาวะสิ่งแวดล้อมโลกในครั้งนี้ ได้ถูกรวมรวมและประเมินผลข้อมูลที่ได้มาจากนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยทั่วโลกกว่า 1,300 คน ใน 95 ประเทศทั่วโลก และใช้เวลา 4 ปี ในการจัดการสรุปผลข้อมูลในครั้งนี้

              ลองมาดูข้อมูลเด่นๆ ที่น่าสนใจดูนะครับ ว่ามีอะไรบ้าง 
    1. ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โลกเราสูญเสียป่าชายเลนที่มีอยู่ไป 35% และ แนวปะการัง 27% 
    
2. ระยะเวลาตั้งแต่ปี 1970 – 2000 อัตราการจับปลาทะเลของการทำประมงเพิ่มขึ้น 
        มากกว่า 40% แล้วอย่างนี้ปลาที่มีอยู่จะเติบโตทันให้เรามาจับกินอีกหรือไม่ ลองคิดดู

             นอกจากนี้ยังมีข้อมูลต่างๆ อีกมากมาย ลองเข้าไป download มาอ่านกันได้นะครับ ในเว็บที่อยู่ในเอกสารอ้างอิงด้านล่าง 
             ต่อมาเราลองมาดูข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดเฮอร์ริเคนกันบ้างดีกว่า จากข่าวในสื่อต่างๆ จะเห็นว่าปีนี้ ตุลาคม 2548 อเมริกาเจอพายุเฮอร์ริเคนไปมากถึง 12 ลูกแล้ว คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ สภาวะอากาศแปรปรวนเกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันคงจะพูดหรือสอนในตำราได้อย่างเต็มปากเต็มคำยากสักหน่อยว่าประเทศไทยมีกี่ฤดู ช่วงเดือนอะไรบ้าง แต่อาจจะพูดได้ว่า สมัยก่อนประเทศไทยเคยมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน (ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม) ฤดูฝน (ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม) และฤดูหนาว (ประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์) เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ แต่พอปัจจุบันอากาศเปลี่ยนแปลงไปมากไม่หมุนเวียนตามลำดับช่วงเวลาเหมือนแต่ก่อน

              มนุษย์คุกคามดาวโลกอย่างไร ? 
              มนุษย์ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป มนุษย์อาจจะลืมคิดไปว่าธรรมชาติมีการปรับเข้าสู่สมดุลอย่างสม่ำเสมอ สังเกตจากการทดลองง่ายๆ การแพร่ของสารสีในน้ำที่ใส่ในบีกเกอร์ หรือการที่อุณหภูมิของน้ำร้อนในแก้วเย็นตัวลง ความร้อนเหล่านั้นหายไปไหน เช่นเดียวกัน อุณหภูมิที่แตกต่างกันในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก จะส่งผลให้มีการเคลื่อนตัวของมวลอากาศในโลกใบนี้ ดังนั้นการที่กิจกรรมต่างๆ ที่มนุษย์ทำขึ้นทั้งหมด และทำให้เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิมากๆ ก็จะเกิดการเคลื่อนตัวของมวลอากาศในลักษณะที่รุนแรงขึ้นตามไปด้วย ที่เกริ่นมาทั้งหมดก็เพื่อจะอธิบายให้เห็นภาพความรุนแรงของพายุฤดูร้อนในบ้านเรา และโยงไปถึงพายุเฮอร์ริเคนในอเมริกาด้วย

              จากข้อมูลสถิติการเกิดพายุเฮอร์ริเคนพบว่า การเกิดพายุเฮอร์ริเคนมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น โดยสถิติพบว่าจำนวนพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรงเกิดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในรอบ 35 ปี ถึงแม้ว่าจำนวนพายุเฮอร์ริเคนทั้งหมดจะลดลงก็ตาม ถ้าจะถามว่าทำไมอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ก็คงต้องตอบว่าเป็นผลมาจากสภาวะเรือนกระจกที่ทำให้โลกเราร้อนขึ้น ทุกอย่างที่เราๆ ท่านๆ ทำมันก่อนให้เกิดผลกระทบไปทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัดแล้วในวันนี้ แล้วเรามนุษย์ที่เหลือจะทำอย่างไรกันดี เพื่อจะอยู่ให้ได้อย่างมีความสุขต่อไป…

 

 

อ่านเพิ่มเติม 
1. Millennium Ecosystem Assessment. [Online]. Available : 
           
http://www.millenniumassessment.org/en/index.aspx (Retrieved 25/10/05). 
2. กรมอุตุนิยมวิทยา ความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา – ฤดูกาล. [Online]. Available : 
           
http://www.tmd.go.th/knowledge/know_season.html (Retrieved 25/10/05). 
3. Increase in Major Hurricanes Linked to Warmer Seas. [Online]. Available : 
           
http://www.livescience.com/forcesofnature/050915_more_hurricanes.html 
           (Retrieved 25/10/05

 1,056 total views,  1 views today