หรือว่าถั่วเหลืองไขมันต่ำ จะทำให้ผู้บริโภคยอมรับพืช GMO ?

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2548

48-10-1

 

สุทธิพงษ์ พงษ์วร

           ก่อนอื่นลองย้อนกลับไปอ่านข้อมูลเรื่อง Linolenic acid ในหนังสือ ชีววิทยา เล่ม 1 หน้าปกรูปมดก่อนดีไหมครับ หน้า 55-56 หรือจะเข้าไปอ่านได้ในhttp://en.wikipedia.org/wiki/Linolenic_acid พอสังเกตุดีๆ ก็จะพบว่ากรดไขมันชนิดนี้มีพันธะคู่มากถึง 3 พันธะ ทำให้เกิดปฏิกิริยากับสารเคมีต่างๆ ได้ง่าย ส่วนหนึ่ง พออ่านตรงนี้เสร็จ เราค่อยมาดูกันต่าว่า ที่เขาเอามาให้เราเรียน พอเรียนพอรู้แล้ว นำไปใช้อะไรต่อได้บ้างครับ ความรู้พื้นฐานที่ได้เรียนมา แล้วรู้สึกว่าไม่ปะติดปะต่อกันเลย ถ้าได้อ่านเรื่องราวต่อไปนี้ก็คงจะทำให้เราเข้าใจ และคิดปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ ได้ครับ 
               ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่มีการขายพืชผลทางการเกษตรที่เป็นพืช GM (Genetics modified plant) ยังไม่เคยมีใครพูดถึงประโยชน์ที่เกิดกับผู้บริโภคตรงๆ เลยสักครั้ง และนี่ก็เพิ่งจะเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงสรรพคุณของพืช GM ที่มีผลดีต่อผู้บริโภคโดยตรง ผลิตภัณฑ์นี้คงจะได้รับการตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคลั่งแน่ในสำหรับการค้าขายในอเมริกา แต่ในยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ต่อต้านพืช GM การทำการตลาดก็ดูจะยากสักหน่อย 
              บริษัทมอนซาโต้ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจด้านผลิตผลทางการเกษตร เปิดเผยว่าถั่วเหลืองสายพันธุ์ใหม่ที่นำออกสู่ตลาดครั้งนี้ จัดเป็นพืช GM รุ่นที่ 2 ที่ให้ประโยชน์ทั้งกับผู้บริโภคและผู้ผลิต โดยเน้นชูโรงในเรื่องของประโยชน์กับผู้บริโภคเป็นสำคัญ ต่างกับพืช GM ในรุ่นแรกที่เน้นประโยชน์ในเชิงการผลิตและเชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ บริษัทมอนซาโต้ กล่าวว่าถั่วเหลืองจะทำให้อาหารแปรรูปและขนมขบเคี้ยวมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น โดยเมื่อผ่านกระบวนการแปรรูปอาหาร น้ำมันจากถั่วเหลืองจะไม่ทำให้เกิด trans-fatty acids ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว (saturated fats) ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุทำให้เป็นโรคหัวใจ และทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ โดยไขมันเหล่านี้จะไปจับอยู่ที่เส้นเลือดอาร์เทอรี่ 
             ชาวนาในอเมริกาจะเริ่มทำการปลูกถั่วเหลืองชนิดนี้ประมาณ 45,000 เฮคเตอร์ และคาดการณ์ว่าน่าจะมีผลผลิตออกมาทันกับประกาศที่ให้มีการแสดงข้อมูลทางโภชนาการต่อผู้บริโภค โดยต้องมีข้อมูลที่แสดงถึงปริมาณของ trans-fatty acids ในอาหารให้ผู้บริโภครับทราบด้วย และถ้าบริษัทผู้ผลิตอาหารหันมาใช้ถั่วเหลืองสายพันธ์ใหม่ในการผลิต ก็จะทำให้บริษัทเหล่านี้เขียนบอกผู้บริโภคได้อย่างมั่นใจว่าอาหารของเขาไม่มี trans-fatty acids และส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน

              ความสำคัญของถั่วเหลือง GM ชนิดใหม่นี้ก็คือ มีความเข้มข้นของ Linolenic acid ในน้ำมันถั่วเหลืองลดลงจาก 8 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง

48-10-2

 

           ก่อนหน้านี้เราใช้ถั่วเหลืองตามธรรมชาติ น้ำมันถั่วเหลืองจะถูกนำไปผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “partial hydrogenation” ซึ่งจะทำให้มีการเปลี่ยน Linolenic acid ไปเป็น trans-fatty acids แต่สำหรับน้ำมันในถั่วเหลืองสายพันธุ์ใหม่ (Vistive soybean) ซึ่งมี Linolenic acid น้อยมาก จึงทำให้ไม่ต้องไปผ่านขั้นตอนดังกล่าว ดังนั้นอาหารทอดหรืออาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปก็จะไม่มีไขมันที่เป็นโทษต่อร่างกาย สบายหล่ะทีนี้ 
            และที่สำคัญถั่วเหลืองสายพันธุ์นี้เกิดขึ้นจากการนำถั่วเหลืองตัดต่อยืนให้ต้านทานต่อยาฆ่าวัชพืช (weedkiller glyphosate) มาผสมกันทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้น 
           ซึ่งเจ้ายาฆ่าหญ้าและวัชพืชแบบไม่เลือกชนิดนี้ บริษัทมอนซาโต้ก็ทำขายด้วย แต่ในยุโรปได้สั่งห้ามนำเข้ามาใช้แล้ว เพราะพบว่ามันไม่ได้แค่ฆ่าพืชแบบไม่เลือกเท่านั้น มันยังฆ่าแมลงและแมงมุมที่มีประโยชน์แบบไม่เลือกอีกด้วย – http://www.biotech-info.net/weed_killer.html นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งที่เรียกว่า “non-Hodgkin's lymphoma” ด้วย 
           ในยุโรป ผู้คนที่ต่อต้านอาหาร GM ตั้งคำถามว่า ทำไมบริษัทมอนซาโต้ไม่พัฒนาสายพันธุ์ถั่วเหลืองโดยวิธีธรรมชาติขึ้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในยุโรป ถ้ายังทำแบบนี้ก็เท่ากับว่าฆ่าตัวตายโดย แท้ เพราะอย่างไรซะ กระแสการต่อต้านอาหาร GM ในยุโรปก็ยังคงอยู่ บริษัทมอนซาโต้ ก็ให้คำตอบแต่เพียงว่า บริษัทไม่มีแผนสำหรับการสร้างพืชโดยไม่ใช้วิธีการตัดต่อยีน 
          บริษัทมอนซาโต้ยังเปิดเผยอีกว่าคณะนี้แปลงทดลองข้าวโพดทนแล้ง ถั่วเหลือง และฝ้ายได้ดำเนินการไปอย่างได้ผลดี ชาวไร่ไม่ต้องใช้น้ำมากและได้ผลผลิตต่อไร่สูง โดยบริษัทถือว่าสายพันธุ์ข้าวโพด GM ที่ดำเนินการวิจัยจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความก้าวหน้าในการวิจัยมากที่สุด 
         นักสิ่งแวดล้อมได้ออกกล่าวเตือนว่าให้ระวังการแพร่กระจายของพืช GM เหล่านี้ซึ่งจะมาผสมกับพืชสายพันธุ์เดิมที่มีอยู่ในธรรมชาติ มอนซาโต้กล่าวว่าไม่ต้องห่วง เพราะข้าวโพดจะเจริญได้ไม่ดีในธรรมชาตินอกแปลงเพาะปลูก และก็ไม่มีสายพันธุ์ข้าวโพดดั้งเดิมในอเมริกา 
           และแล้ว ก็ไม่ต้องรอนาน ในที่สุดมหาวิทยาลัย Iowa State University ก็ผสมพันธุ์ถั่วเหลืองสายพันธุ์ใหม่ขึ้นได้โดยวิธีการทางธรรมชาติ ทำให้ได้ถั่วเหลืองที่มี Linolenic acid เหลือแค่ 1% เท่านั้น ทำให้อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปไม่จำเป็นต้องใช้ขั้นตอนที่เรียกว่า “Hydrogenation” อีกแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้คุณจะเลือกผลิตภัณฑ์แบบไหน? ระหว่างพืชที่ได้รับการสร้างสายพันธุ์โดยผสมตามธรรมชาติ กับพืชตัดต่อยีน

 

แปลและเรียบเรียงจาก 
1. “Will low-fat foods sway biotech skeptics?”. NewScientist, 19 March 2005, page 9.

อ่านเพิ่มเติม 
1. 
http://www.notrans.iastate.edu เว็บของ Iowa State University ที่เกี่ยวกับ 1% Linolenic acid 
           ที่ได้จากถั่วเหลือง โดยวิธีการผสมข้ามสายพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งคุณไม่ควรพลาดที่จะเข้าไปดูภาพและข้อมูลทางโภชนาการในตารางเปรียบเทียบ 
2. 
http://www.soybeanreview.com/feb04/linolenic.pdf 
           ข้อมูลประชาสัมพันธ์ว่าสามารถผสมพันธุ์ถั่วเหลืองพันใหม่ให้มี 1% Linolenic acid ได้ โดยไม่ใช้การตัด 
           ต่อยีน (เป็น Non-GM-Soybeans)

 1,649 total views,  1 views today