ปรากฏการณ์เอลณีโญ และลานีญา

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2548

48-6-1

ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) 

                    มีหลักฐานแสดงว่าเอลนีโญได้เกิดขึ้นนานนับพันปีมาแล้ว แต่เริ่มมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงศตวรรษนี้เป็นผลให้ปรากฏการณ์นี้เป็นต้นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรง เช่น อเมริกาเหนือประสบกับสภาพอากาศที่ผิดปกติอย่างมากตลอดปี 2526 ออสเตรเลียประสบกับสภาวะความแห้งแล้งมากและเกิดไฟป่าเผาผลาญเสียหายประเทศใกล้ ๆ ทะเลทรายซาฮาราประสบกับความแห้งแล้งที่เลวร้ายมากที่สุดช่วงหนึ่ง และลมมรสุมในมหาสมุทรอินเดียอ่อนกำลังลงมาก ประมาณว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดอยู่ระหว่าง 8 – 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสูญเสียชีวิตประมาณ 2,000 คน 

                    “เอลนีโญ” ภาษาสเปน หมายถึง เด็กชาย ซึ่งปรากฏการณ์นี้ มักจะเกิดประมาณช่วงเทศกาลคริสต์มาส จึงให้ความหมายว่า “บุตรของพระคริสต์” ปรากฏการณ์นี้จะยืดเยื้อต่อไปอีกประมาณ 2 – 3 เดือน หรือ ช่วงฤดูร้อนของซีกโลกใต้ (ดวงอาทิตย์ส่องตั้งฉากกับผิวโลกที่ละติจูด 23.5 องศาใต้) เพราะช่วงนี้ลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ ในซีกโลกใต้บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมักจะมีกำลังอ่อน 

                    ตามปกติ บริเวณชายฝั่งประเทศเปรูซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ หรือทางด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ใกล้เส้นศูนย์สูตร จะมีน้ำเย็นใต้มหาสมุทรพัดขึ้นมายังผิวน้ำ กระบวนการนี้คือการพัดขึ้นมาแทนที่ของกระแสน้ำเย็นจากใต้มหาสมุทรขึ้นมาตามบริเวณชายฝั่งอันเป็นผลเกิดจากลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงพัดขนานฝั่งบวกกับการหมุนรอบตัวเองของโลก ขณะที่ลมบวกกับการหมุนของโลกผลักดันให้ผิวน้ำเบื้องบนที่อุ่นพัดห่างจากฝั่งไป น้ำเย็นข้างล่างที่อุดมด้วยแร่ธาตุอาหารสำหรับแพลงก์ตอนพืชจะพัดขึ้นมาแทนที่ผิวน้ำอุ่นที่ถูกพัดพาไป บริเวณชายฝั่งที่มีกระแสน้ำเย็นพัดขึ้นมาแทนที่จะเป็นบริเวณที่เหมาะที่สุดสำหรับการเจริญพันธุ์ของปลาทะเล ทั่วโลกจะมีบริเวณเช่นนี้อยู่ 5 บริเวณใหญ่ๆ (ภาพที่ 1 ) คือ

  1. บริเวณชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (ชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา)
  2. ชายฝั่งประเทศเปรู (ชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้) 
  3. ชายฝั่งประเทศนามิเบีย (ชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา) 
  4. ชายฝั่งประเทศโมริตาเนีย (ชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา) 
  5. ชายฝั่งประเทศโซมาเลีย (ชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา)  

48-6-2

รูปที่ 1 บริเวณกระแสน้ำเย็นที่พัดตามบริเวณชายฝั่งต่าง ๆ ของโลกและระบบความกดอากาศระดับน้ำทะเล ซึ่งมีอิทธิพลต่อกระแสน้ำเย็นเหล่านี้ 
 

                    ปกติลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้จะพัดอยู่เป็นประจำบริเวณเขตร้อนในซีกโลกใต้ (ระหว่างเส้นศูนย์สูตรและละติจูด 30 องศาใต้) (ภาพที่ 2) การไหลของกระแสน้ำโดยปกติจะเคลื่อนที่ตามทิศทางลม เป็นผลให้กระแสน้ำหรือคลื่นเคลื่อนที่จากชายฝั่งประเทศเปรู ไปยังฝั่งแปซิฟิกตะวันตกหรือฝั่งออสเตรเลีย อินโดนีเซีย คลื่นที่เคลื่อนที่ไปใกล้ชายฝั่งประเทศอินโดนีเซียจะชะลอความเร็วลง เนื่องจากมีแรงต้านจากฝั่ง แต่คลื่นที่อยู่กลางมหาสมุทรยังคงมีความเร็วมากกว่าจึงเคลื่อนที่ขึ้นมาหนุนหน้าคลื่นเดิมทำให้ระดับน้ำทะเลบริเวณแปซิฟิกตะวันตกมีระดับสูงกว่าฝั่งแปซิฟิกตะวันออก (ภาพที่ 2) ซึ่งผลจากการเคลื่อนที่ของคลื่นดังกล่าวทำให้สภาพอากาศบริเวณฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี) มีความชุ่มชื้น มีฝนตกชุก และในขณะที่ฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ประเทศเปรู เอควาดอร์ ชิลี) มีความอุดมสมบูรณ์สัตว์น้ำ เป็นผลจากกระแสน้ำเย็นข้างล่างที่อุดมด้วยแร่ธาตุอาหารปลาจะพัดขึ้นมาแทนที่ผิวน้ำอุ่นที่ถูกพัดพาไป ทำให้บริเวณชายฝั่งเป็นบริเวณที่เหมาะที่สุดสำหรับการเจริญพันธุ์ของปลาทะเล

48-6-3

รูปที่ 2 แสดงสภาพปกติของทิศทางลม ระดับความสูงของน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก และสภาพอากาศบริเวณฝั่งตะวันออก และตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก

                    จากที่กล่าวแล้วว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นปรากฏการณ์ที่มักจะเริ่มเกิดในเดือนธันวาคม (หลังเทศกาลคริสต์มาสเล็กน้อย) หรือ ช่วงฤดูร้อนของซีกโลกใต้ (ดวงอาทิตย์ส่องตั้งฉากกับผิวโลกที่ละติจูด 23.5 องศาใต้) ในพื้นที่ซีกโลกใต้ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์มากกว่าปกติ ทำให้มีการระเหยของน้ำในปริมาณมาก อากาศ (ลม) จากพื้นที่ใกล้ๆ ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า (ความกดอากาศสูง) จะเคลื่อนที่เข้ามาแทนเพื่อรักษาสมดุลของอากาศ ทำให้ลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดอยู่บริเวณตะวันตกและตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้จะอ่อนกำลังลงหรือพัดกลับทิศตรงกันข้าม ซึ่งจะมีผลก่อให้เกิดคลื่นมหาสมุทรพัดพาไปในทิศตะวันออกสวนกับทิศลมเดิม (รูปที่ 3) เมื่อคลื่นนี้พัดพาไปถึงชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ (บริเวณประเทศเปรูใกล้กับเส้นศูนย์สูตร) ผิวน้ำทะเลที่อุ่นที่ถูกพัดพามาด้วยคลื่นก็จะแทนที่กระแสน้ำเย็นที่พัดขึ้นมาจากใต้มหาสมุทรซึ่งมีอยู่เดิมในบริเวณนี้ กระบวนการที่ผิวน้ำทะเลที่อุ่นพัดมาแทนที่กระแสน้ำเย็น เรียกว่าเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ

 

48-6-4    48-6-5

รูปที่ 3 ปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ระดับน้ำทะเล และสภาพอากาศ เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพปกติ 
 

                    แต่เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ มีความเชื่อมโยงกับความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นเหมือนกัน และมีช่วงเวลาการเกิดที่ใกล้เคียงกัน 

 

                    “ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (Southern Oscillation – SO)”หมายถึง การที่บริเวณความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ มีความสัมพันธ์เป็นส่วนกลับกับบริเวณความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดีย กล่าวคือ เมื่อความกดอากาศบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกใต้มีค่าสูง ความกดอากาศบริเวณมหาสมุทรอินเดียจากแอฟริกาถึงออสเตรเลียมักจะมีค่าต่ำและในทางกลับกันก็เช่นเดียวกัน Quinn et. al. (1978) ชี้ให้เห็นว่าความผันแปรนี้เกิดจากการแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างความกดอากาศสูงกึ่งเขตร้อนในแปซิฟิกใต้ (South Pacific subtropical high) และความกดอากาศต่ำแถบศูนย์สูตรบริเวณประเทศอินโดนีเซีย (Indonesian equatorial low) กล่าวโดยสรุป จะเกิดการหมุนเวียนของอากาศจากบริเวณที่มีความกดอากาศสูงไปยังบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำระหว่างมหาสมุทรทั้งสอง อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นผิดปกติ (เช่น ปรากฏการณ์เอลนีโญ) จะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ครั้งในทุกๆ 10ปี แม้ว่าช่วงห่างระหว่างการเกิดแต่ละครั้งจะไม่สม่ำเสมอก็ตาม การอุ่นขึ้นของน้ำทะเลบริเวณแปซิฟิกตะวันออก กับน้ำทะเลที่เย็นลงบริเวณใกล้ทวีปออสเตรเลีย จะกินเวลาประมาณ 12 เดือน โดยมักจะเริ่มประมาณช่วงต้นของปีและสิ้นสุดประมาณต้นปีถัดไป ส่วนในปีก่อนและหลังการเกิดเอลนีโญมักจะเป็นปีที่ผิวน้ำทะเลในแปซิฟิกตะวันออกบริเวณเส้นศูนย์สูตรมีอุณหภูมิที่เย็น



                    “เอนโซ่ (ENSO; ENSO = EN + SO)” เป็นคำรวมของเอลนีโญและความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (El Nino/Southern Oscillation) โดยที่ปรากฏการณ์ทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้น มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด โดยจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างปรากฏการณ์ในมหาสมุทรและบรรยากาศเข้าด้วยกัน กล่าวคือ เอลนีโญเป็น ปรากฏการณ์ที่เกิดในส่วนของมหาสมุทรและความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในส่วนของบรรยากาศ และได้เชื่อมโยงเป็นปรากฏการณ์เดียวกัน                     

 

                     ปัจจุบันนักอุตุนิยมวิทยาส่วนใหญ่ จะใช้คำว่าเอนโซ่ แทนคำว่า เอลนีโญ เนื่องจากให้ความหมายที่ถูกต้องสมบูรณ์มากกว่า แต่คำว่า เอลนีโญก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากชื่อนี้เป็นที่คุ้นเคยมาแต่ดั้งเดิม ในเอกสารนี้ ต่อไปจะใช้คำว่าเอนโซ่ แทนคำว่า เอลนีโญ นักอุตุนิยมวิทยาทั่วโลกได้มีการประชุมและมีข้อตกลงว่าให้มีการใช้ความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเลที่เกาะตาฮิติ (17 องศา 33 ลิปดา ใต้, 149 องศา 20 ลิปดา ตะวันตก) หมู่เกาะโซไซเอททิ (Society) เป็นตัวแทนของระบบความกดอากาศในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ และความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเลที่เมืองดาร์วิน (12 องศา 26 ลิปดา ใต้, 130 องศา 52 ลิปดา ตะวันออก) ประเทศออสเตรเลียเป็นตัวแทนระบบความกดอากาศบริเวณมหาสมุทรอินเดียและออสเตรเลีย และค่าของความแตกต่างระหว่างค่าที่สูงหรือต่ำจากค่าปกติ (pressure anomalies) ของความกดอากาศของเมืองทั้งสอง คือ ที่ตาฮิติหักลบกับที่ดาร์วิน จะถูกใช้ให้เป็นดัชนีบอกถึงการผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (Southern Oscillation Index (SOI)) ซึ่งจะใช้ค่านี้เป็นสัญญาณบอกถึงการเกิดปรากฏการณ์เอนโซ่ได้ตัวหนึ่ง โดยที่ถ้าค่าดัชนีนี้มีค่าเป็นลบก็ให้เฝ้าติดตามว่าอาจจะเกิดปรากฏการณ์เอนโซ่ หรือจะมีการอุ่นขึ้นของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (จะอุ่นขึ้นกว่าปีที่ไม่ใช่ปีเอลนีโญ 3 ถึง 7 องศาเซลเซียส) ภาพที่ 4

48-6-6

รูปที่ 4 การศึกษาความผันแปรของอากาศซีกโลกใต้ โดยใช้แผนภูมิความแตกต่างของอุณหภูมิน้ำทะเล (ช่วงละติจูด 5 องศาเหนือถึง 5 องศาใต้ ลองจิจูด 170 ถึอ 120 องศาใต้) 
เปรียบเทียบกับ ความแตกต่างระหว่างค่าที่สูง หรือต่ำจากค่าปกติ (pressure anomalies) ของความกดอากาศของเกาะตาฮิติ และเมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย

ปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) 
                    ปรากฏการณ์ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออกมีค่าต่ำกว่าปกติ ทั้งนี้ เนื่องจากลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดอยู่เป็นประจำในแปซิฟิกเขตร้อนทางซีกโลกใต้ (ละติจูด 0-30 ใต้) มีกำลังแรงกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออก (บริเวณชายฝั่งเอควาดอร์ เปรูและชิลีตอนเหนือ) ไปสะสมอยู่ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตก (บริเวณชายฝั่งอินโดนีเซียและออสเตรเลีย) มากยิ่งขึ้น ทำให้ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตกซึ่งแต่เดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกอยู่แล้ว กลับยิ่งมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกมากขึ้นไปอีก (ภาพที่ 5) มีผลทำให้ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตกมีปริมาณฝนตกมากขึ้น ขณะที่ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกจะมีความแห้งแล้งมากขึ้นเช่นกัน ลานีญา จะเกิดโดยเฉลี่ย 5-6 ปีต่อครั้ง และเกิดแต่ละครั้งกินเวลานานประมาณ 1 ปี

48-6-7
รูปที่ 5 ระดับน้ำทะเลในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญา บริเวณฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ด้านซ้าย) และฝั่ง ตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ด้านขวา) 
(เส้นทึบ เป็นระดับน้ำในสภาพปกติ, เส้นประ เป็นระดับน้ำ ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญา) 
 

 48-6-8       

การตรวจวัดปรากฏการณ์เอลนิโญและลานิญา 

                 1. ทุ่นลอยอยู่กับที่ 
                 2. ทุ่นลอยเคลื่อนที่ 
                 3. การวิเคราะห์ระดับน้ำทะเล 
                 4. ระบบดาวเทียม 

 



 

รูปที่ 6 ทุ่นลอยที่ใช้ตรวจวัดสภาพอุตุนิยมวิทยา ระดับน้ำทะเล คุณภาพน้ำ และอื่นๆ ตามที่มีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัด

ดัชนีของปรากฏการณ์เอลนิโญและลานิญา 

                   1. อุณหภูมิ 

                   2. ความกดอากาศ 

                   3. ระดับน้ำทะเล 

 

ตารางที่ 1 สถิติการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ และ ลานิญา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 – 2000

                  หมายเหตุ C = เกิดปรากฏการณ์ลานิญา (สภาพอากาศหนาวเย็นกว่าปกติ), C- = ปรากฏการณ์ไม่รุนแรง
                  C+ = ปรากฏการณ์รุนแรงมาก, W = เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ (สภาพอากาศอบอุ่นกว่าปกติ)
                  W- = ปรากฏการณ์ไม่รุนแรง, W+ = ปรากฏการณ์รุนแรงมาก, JFM = ม.ค.-มี.ค., AMJ = เม.ย.-มิ.ย.,
                  JAS = ก.ค.-ก.ย., OND = ต.ค.-ธ.ค.

48-6-9

 

ประเทศไทยมีปรากฏการณ์ที่เอลนิโญรุนแรงในช่วงปี ค.ศ. 1997-98 (พ.ศ. 2540-41) และส่งผลกระทบไปทั่วโลก (ภาพที่ 7)
 

48-6-10

 

รูปที่ 7 ความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลก สูงขึ้น

 

 

 

48-6-11
 
รูปที่ 8 ภาพเคลื่อนไหวแสดงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล (SST : Sea Surface Temperature, C) รายสัปดาห์ ในช่วงวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 ถึง 20 สิงหาคม 2546 (ภาพบน)
และแสดงค่าความผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลจากค่าอุณหภูมิเฉลี่ย ในช่วงเวลาเดียวกัน (ภาพล่าง) 

ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2540 ตามภูมิภาคต่างๆ (ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา) 

ภูมิภาคที่ได้รับความแห้งแล้ง   ตอนเหนือและตะวันออกของออสเตรเลีย ช่วงเดือนเมษายน – พฤศจิกายน 2540 บริเวณตอนเหนือและตะวันออกของทวีป มีฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ ทำให้เกิดความแห้งแล้งทั่วบริเวณ ประกอบกับช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ทาง

ตะวันออกเฉียงใต้  ของทวีปมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ จึงก่อให้เกิดไฟป่าขึ้นในบริเวณรัฐวิคตอเรียและนิวเซ้าต์เวลส์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณที่ได้รับความแห้งแล้งมากโดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไนและปาปัวนิวกินีและได้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในอินโดนีเซีย และรัฐซาราวัคของ

มาเลเซียตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงปลายปี 2540 บริเวณอื่นๆ ที่ได้รับความแห้งแล้ง คือ ประเทศไทย บางส่วนของพม่า ลาว เขมรและเวียดนาม ตอนใต้ของแอฟริกาตะวันตก ได้รับฝนต่ำกว่าค่าปกติตั้งแต่เดือนกรกฎาคมพร้อมกับฤดูฝนได้เริ่มช้ากว่าปกติ   สหรัฐอเมริกาตะวันออก ได้รับความแห้แล้งช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม ต่อจากนั้นเป็นฤดูหนาวที่หนาวน้อย อเมริกากลาง มีสภาพอากาศแล้งปกคลุมช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ตอนนเหนือของอเมริกาใต้ มีอากาศร้อนและแห้งแล้งในช่วงครึ่งหลังของปี

ภูมิภาคที่ได้รับฝนมากหรือน้ำท่วม คาบสมุทรอินเดีย มีฝนตกชุกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมต่อเนื่องเกือบตลอดจนถึงสิ้นปี บริเวณนี้ ได้แก่ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ เนปาลและศรีลังกา แอฟริกาตะวันออก ได้รับฝนชุกมากในช่วงตุลาคม-ธันวาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักโดยเฉพาะบริเวณประเทศเคนยา อูกานดา รวันดาและตอนเหนือของแทนซาเนีย อเมริกาใต้ ส่วนมากของตอนกลางและตอนใต้ของอเมริกาใต้มีฝนสูงกว่าค่าปกติมากช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิ้นปี บางบริเวณของชิลีตอนกลางได้รับฝนภายใน 1 วัน เท่ากับ ปริมาณฝนรวมเฉลี่ยของทั้งปี และบริเวณชายฝั่งทางใต้ของเอควาดอร์และทางเหนือของเปรู ได้รับฝนชุกมากและก่อให้เกิดน้ำท่วมช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม                    

อเมริกาเหนือ มีฝนตกชุกและเกิดน้ำท่วมเป็นบางบริเวณจากทางรัฐแคลิฟอร์เนียพาดไปทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาถึงบริเวณรัฐฟลอริดาในระยะครึ่งหลังของปี 2540
 

48-6-1248-6-13
รูปที่ 9 เปรียบเทียบลักษณะเส้นทางเดินของพายุเขตร้อนในช่วงเวลาปกติ และช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ ผลกระทบที่มีต่อการเกิดพายุหมุนเขตร้อน 
 

                    พายุหมุนเขตร้อน คือพายุที่ก่อตัวเหนือมหาสมุทรในเขตร้อน มีความรุนแรง 3 ระดับคือพายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อนและพายุเฮอร์ริเคน (ถ้าเกิดในมหาสมุทรแอตแลนติคเหนือ) หรือไต้ฝุ่น (ถ้าเกิดทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือและในทะเลจีนใต้)

                    มหาสมุทรแอตแลนติค เอลนีโญทำให้พายุที่มีความรุนแรงระดับพายุโซนร้อนและพายุเฮอร์ริเคนที่เกิดทางเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติคมีจำนวนลดลงค่อนข้างชัดเจน โดยในปี พ.ศ. 2540 มีพายุโซนร้อนเกิดขึ้น 7 ลูก (ปกติประมาณ 9 ลูก)และที่รุนแรงเป็นพายุเฮอร์ริเคนจำนวน 3 ลูก (ปกติประมาณ 6 ลูก) และโดยรวมแล้วพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในฤดูพายุหมุนเขตร้อนในแอตแลนติคเหนือ ปี 2540 เกิดขึ้นเพียง 52 % ของค่าปกติเท่านั้น ผลกระทบของเอลนีโญต่อการเกิดพายุหมุนเขตร้อน ในมหาสมุทรแอตแลนติค ปรากฏชัดที่สุดระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคมเมื่อมีเพียงจำนวน 3 ลูก ที่ได้ก่อตัวขึ้นในช่วงนี้ 

                    ด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เอลนีโญช่วยเอื้อต่อการก่อตัวพร้อมกับขยายพื้นที่ของการก่อตัวของพายุหมุน เขตร้อนทางด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ในปี 2540 ได้เกิดพายุโซนร้อนจำนวน 17 ลูก (ปกติ 16 ลูก) ที่รุนแรงถึงระดับเป็นพายุเฮอร์ริเคนจำนวน 9 ลูก (ปกติ 9 ลูก) และเป็นพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรงมากจำนวน 7 ลูก (ปกติ 5 ลูก) นอกจากนี้พื้นที่ที่เกิดพายุหมุนเขตร้อนได้แผ่ขยายกว้างออกไปจากปกติ โดยมีจำนวน 4 ลูก ที่ได้ก่อตัวและเคลื่อนตัวทางตะวันตกของเส้นแวง 135 องศาตะวันตก และมีพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรงจำนวน 2 ลูก ทำความเสียหายให้กับทวีปอเมริกาเหนือ 

                    ด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ในปี 2540 มีรูปแบบและลักษณะที่ผิดปกติมาก โดยเฉพาะบริเวณทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวคือ พายุมักจะมีเส้นทางเดินขึ้นไปในแนวทิศเหนือมากกว่าที่จะเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ จึงทำให้พายุที่ผ่านประเทศฟิลิปปินส์และทะเลจีนใต้มีจำนวนต่ำกว่าค่าปกติมาก โดยมีพายุไต้ฝุ่นจำนวน 2 ลูกได้เคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นเร็วกว่าปกติในเดือนมิถุนายนและฤดูพายุหมุนเขตร้อนในประเทศจีนเกิดล่าช้ากว่าปกติ ส่วนประเทศไทยมีพายุหมุนเขตร้อน (พายุไต้ฝุ่น “ลินดา”) เคลื่อนผ่านปลายแหลมญวนและภาคใต้ของประเทศในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2540 โดยพายุลูกนี้ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของทางใต้ของเวียดนามเป็นอย่างมาก และจากการที่จำนวนพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์มีน้อย จึงทำให้ฟิลิปปินส์ประสบกับความแห้งแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบถึงประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนามและไทยด้วย เนื่องจากเป็นเส้นทางที่พายุที่เคลื่อนผ่านฟิลิปปินส์มีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่เวียดนามและไทยได้ในเวลาต่อมา หลายๆ ลักษณะที่กล่าวมา เป็นเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงปีเอลนีโญ 2525-2526 ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างสูงว่ารูปแบบการเกิดของพายุหมุนเขตร้อนในปี 2540 เกี่ยวข้องกับการขยับตัวไปของการหมุนเวียนของอากาศในภูมิภาคนี้ซึ่งสัมพันธ์กับปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดอยู่ในขณะนี้

ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2541 ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ภูมิภาคที่มีอุณหภูมิสูงหรือฝนน้อยกว่าปกติ 

                    เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม เขมร มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียและบรูไน มีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติตลอดทั้งช่วง 3 เดือน พร้อมกับมีฝนต่ำกว่าค่าปกติบริเวณประเทศไทย มาเลเซียอินโดนีเซีย บรูไนและฟิลิปปินส์ 

                    ทวีปออสเตรเลีย ปริมาณฝนโดยเฉลี่ยในช่วงมกราคม-มีนาคมของทางด้านตะวันออกตะวันตกและบางบริเวณของตอนกลางของออสเตรเลียได้รับฝนต่ำกว่าค่าปกติค่อนข้างมาก ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะตามบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเอเชียตะวันออก ด้านตะวันออกของประเทศจีนต่อเนื่องถึงประเทศเกาหลีเหนือและใต้รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 

                    ตอนเหนือของอเมริกาใต้ มีอุณหภูมิสูงและฝนต่ำกว่าค่าปกติตลอดทั้งช่วง 

                    ตอนใต้ของแอฟริกาตะวันตก ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม มีอุณหภูมิสูงและฝนต่ำกว่าค่าปกติ 

                    เกาะมาดากัสการ์ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม มีอุณหภูมิสูงและฝนต่ำกว่าค่าปกติ

                    ยุโรปตะวันตก มีอุณหภูมิสูงและฝนต่ำกว่าค่าปกติในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

ภูมิภาคที่มีอุณหภูมิต่ำหรือฝนมากกว่าปกติ 

                    สหรัฐอเมริกา ในเดือนมกราคมมีฝนตกหนักทางด้านตะวันออกลงไปถึงทางใต้ของประเทศ และในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม บริเวณที่ฝนตกหนักได้เพิ่มพื้นที่คือ พาดจากทางตะวันตก ทางใต้ ไปถึงทางตะวันออกของประเทศอุรุกวัยและอาร์เจนตินา มีอุณหภูมิต่ำกว่าค่าปกติและมีฝนตกหนักในประเทศอุรุกวัยต่อเนื่องถึงทางเหนือของอาร์เจนตินาในเดือนมกราคม ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ก็ยังคงมีอุณหภูมิต่ำและฝนตกหนักทางเหนือของอาร์เจนตินา

สรุป 
                    เอลนีโญ (El Nino-EN) เป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ทางสมุทรศาสตร์ที่หมายถึงการที่ผิวน้ำทะเลทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนอุ่นขึ้นและแผ่ขยายกว้างไกลออกไปเป็นเวลานานถึง 3 ฤดูกาลหรือมากกว่า ในทางกลับกันถ้าผิวน้ำทะเลบริเวณนี้เย็นลง จะเรียกว่า ลานีญา ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเชื่อมโยงกับระบบความกดอากาศที่เรียกว่า ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (Southern Oscillation – SO) ลักษณะความผันแปรนี้เห็นได้จากความกดอากาศระหว่างบริเวณตะวันตกกับตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณแรกศูนย์กลางอยู่ใกล้กับประเทศอินโดนีเซีย และอีกบริเวณศูนย์กลางอยู่ทางตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก ดัชนีที่ใช้วัดขนาดความรุนแรงของความผันแปรนี้เรียกว่า ดัชนีความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (Southern Oscillation Index – SOI) ค่านี้คำนวณได้จากความแตกต่างของความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเลระหว่างที่เกาะตาฮิติ (กลางมหาสมุทรแปซิฟิก)กับเมืองดาร์วินประเทศออสเตรเลียเนื่องจากความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้และเอลนีโญมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด จึงเรียกรวมกันว่า “เอลนีโญ – ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้” หรือ “เอนโซ่ (ENSO)” ระบบอากาศนี้จะแปรผันอยู่ระหว่างสภาวะที่ร้อน (เอลนีโญ) กับสภาวะปกติ (หรือเย็น)
 

48-6-1348-6-14

 

 

ผู้เขียน 

 

อาจารย์พงศกร จิวาภรณ์คุปต์ 
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน 

 

Last updated 12/22/2009 17:55:57

 
 

 25,747 total views,  6 views today