สาเหตุการตายของชาวโลก

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2547

47-10-1

สุทธิพงษ์  พงษ์วร

         เรามาลอง "เรียนวิทยาศาสตร์จากข่าว" หรือจากสื่อรอบตัวกันดูบ้างดีกว่า นำไปใช้เป็นเรื่องเล่าในชั้นเรียน เปิดประเด็นการวิเคราะห์จากสื่อ ซึ่งอาจจะช่วยทำให้นักเรียนเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ในเรื่องใดๆ ก็สัมพันธ์กันทั้งน้าน..นน.. 
               
 47-10-2            ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า มนุษย์ได้มีวิวัฒนาการของการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตสู่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในทุกๆ ด้าน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่อาจจะปฏิเสธได้ ทำได้แต่การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ก็เช่นกัน และจะเห็นได้ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดใดที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะต้องสูญพันธุ์ไป….  

              ส่วนมนุษย์น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสาเหตุแห่งความตายน้อยกว่าสัตว์อื่นๆ เพราะมนุษย์มีการปรับตัวและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมาเพื่อช่วยในการดำรงชีวิต โดยไม่ได้คำนึงถึงผลต่อทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากเท่าที่ควร เหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในเชิงวัตถุนี่เองที่ทำให้วิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไป รวมถึงวิถีแห่งการกินอยู่ที่นำมาซึ่งสาเหตุแห่งความตายของมนุษย์เอง 

          47-10-3    มนุษย์ได้สร้างและทิ้งสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ไว้ในสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้อย่างมากมาย โลกใบนี้จะเปรียบไปแล้วก็เหมือนตู้ปลาใบใหญ่ๆ ถ้าหากทุกคนเคยเลี้ยงปลาตู้ก็คงจะคุ้นเคยกับสภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ จนต้องเปลี่ยนน้ำในตู้ปลาเพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น หากแต่สำหรับโลกใบนี้เล่า หากเราต้องการจะเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมหรือทำความสะอาด ใครจะทำให้เรา และเราจะเอาของเสียเหล่านี้ไปทิ้งที่ไหนได้ ทุกวันนี้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจึงต้องพยายามปรับตัวเพื่ออยู่ให้รอดกับของเสียและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่เราร่วมกันสร้างเอาไว้   

47-10-4               และนับวันความเป็นพิษก็จะทวีความรุนแรงขึ้น ไม่ต้องมองไกลตัวเลย ตัวเรายังคงสร้างของเสียทุกวัน ประชากรโลกก็เพิ่มขึ้นทุกวัน แล้วของเสียต่างๆ จะหมดไปจากโลกนี้ได้อย่างไร ลองมาชักชวน ชี้ประเด็น เหล่านี้ให้เด็กๆ ได้คิดกันในชั้นเรียน ว่าเขาจะมีส่วนช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง พร้อมทั้งร่วมมือกันแก้ไข ลดการสร้างของเสียตั้งแต่วันนี้กันเถอะดีไหมครับ คราวนี้ย้อนกลับมาที่ข่าวซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่จะนำมาเล่นสู่กันฟัง….  

              องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) กล่าวว่าทุกๆ ปีจะมีผู้คนชาวโลกประมาณ 46 ล้านคนตายลงด้วยโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่ง 46 ล้านคนที่ตายด้วยโรคที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้เกือบจะ 60% ของสาเหตุการตายทั้งหมดของชาวโลกเลยทีเดียว (ส่วนสาเหตุการตายของคนไทยจากสถิติล่าสุด ก็คือ มะเร็ง โรคหัวใจหลอดเลือด และโรคเบาหวาน)      

            47-10-5  โดยสาเหตุของการตายไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วเหมือนแต่ก่อนนี้แล้ว จากสถิติพบว่าสาเหตุการตายเกือบจะทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงวิถีของการดำเนินชีวิต และการกินอาหารที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมันอิ่มตัว (saturated fat) และเกลือสูง แต่มีคุณค่าทางอาหารต่ำ นอกจากนี้ยังพบว่าคนอินเดียและคนจีนจะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและเส้นเลือดจำนวนมาก และยังมากกว่าจำนวนผู้ป่วยในประเทศที่พัฒนาแล้วทุกๆ ประเทศรวมกันเลยทีเดียว   

              สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ก็คือ "การหาวิธีการป้องกันการเกิดโรค" ซึ่งสาเหตุหลักของโรคต่างๆ ก็คือ ความดันเลือดสูง ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ความอ้วน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าถ้าคนส่วนใหญ่เปลี่ยนวิธีการเลือกกินอาหาร และหันมาออกกำลังกายกันบ้าง รวมถึงการไม่สูบบุหรี่ ก็จะสามารถป้องกันการเกิดโรคเหล่านี้ได้ ซึ่งส่วนนี้ก็จะตรงกับที่รัฐบาลไทยกำลังส่งเสริมและสนับสนุนให้คนเราเล็งเห็นว่าการออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เหมือนกันกินอาหาร การนอน และกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องทำทุกวัน ถ้าประชาชนคนไทยหันมาออกกำลังกายกันถ้วนหน้า รัฐบาลก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องการรักษาพยาบาลไปมากโขทีเดียว และเอาเงินส่วนนี้ไปทุ่มสนับสนุนในเรื่องอื่นๆ ซึ่งคงต้องรวมไปถึงเรื่องการดูแลประชากรที่สูงอายุ ซึ่งนับวันจะเพิ่มขึ้นทุกวัน (คุณครูสามารถนำเอาเรื่องนี้มาเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนและทบทวนเรื่องกราฟการเปลี่ยนแปลงขนาดประชากรได้ในแบบเรียนชั้นมัธยม) 

              เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 ที่ผ่านมา WHO ได้จัดประชุมความร่วมมือในการควบคุมการใช้ยาสูบ ซึ่งผลการประกาศจุดยืนของที่ประชุมความร่วมมือการใช้ยาสูบก็น่าจะส่งผลทำให้เกิดแนวโน้มที่ดีสำหรับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการตายของชาวโลกได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ก็ยังมีนโยบายเน้นหนักไปในเรื่องที่เป็นสาเหตุของการเสื่อมของสุขภาพอีก 2 เรื่อง ก็คือ การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และเรื่องของการไม่ค่อยออกกำลังกายนั่นเอง แต่ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2546 ทั้ง WHO และ FAO (UN Food and Agriculture Organization) ก็ได้มีรายงานเรื่องเกี่ยวกับอาหารและการป้องกันโรคร้ายแรงที่เกี่ยวข้องต่างๆ (Diet, Nutrition and the Prevention of Chronic Diseases) เผยแพร่ออกมาสู่สายตาชาวโลก ซึ่งเป็นรายงานสรุปของงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกว่า 60 คน ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องระหว่างองค์ความรู้ในเรื่องอาหาร สารอาหาร การออกกำลังกาย และโรคร้ายแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประชากรโลก 

              งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว น้ำตาล เกลือในระดับต่ำ และกินผักและผลไม้มากๆ ร่วมกับการหันมาออกกำลังกายมากขึ้น โรคและภัยคุกคามต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วก็จะลดลง [ยกตัวอย่างให้นักเรียนเห็นเลยว่า อ้วนๆ อย่าง (ครู) นี้ไม่ดีเลย มีปัญหามากมาย ไขข้อ ความดัน หัวใจ เหนื่อยง่าย เป็นต้น – ขนาดยืนบ่นนักเรียนยังเหนื่อยเลย…] เป้าหมายหลักของรายงานฉบับนี้ยังรวมไปถึงความพยายามในการให้คนควบคุมปริมาณไขมันในอาหารให้เหลือประมาณ 15-30% ของพลังงานทั้งหมดที่ต้องการใน 1 วัน ส่วนไขมันอิ่มตัวก็ควรจะได้รับน้อยกว่า 10% โดยมีข้อแนะนำว่าพลังงานที่ร่างกายเราต้องการส่วนใหญ่ในแต่ละวันน่าจะได้มาจากคาร์โบไฮเดรต 55-75% 

              และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือทุกคนควรควบคุมปริมาณเกลือให้น้อยกว่า 5 กรัมต่อวัน และควรกินอาหารประเภทผักและผลไม้ทุกวัน วันละอย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน (จะทำได้ไหมเนี่ย…) นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าเป็นได้ได้ก็ควรออกกำลังกายทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง เช่นการเดินเร็ว และอื่นๆ เป็นต้น 

              47-10-6แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดในรายงานฉบับนี้ก็คือ ประเด็นเรื่องของ "น้ำตาล" ซึ่งมีข้อเสนอแนะว่า ปริมาณน้ำตาลที่ได้จากอาหารที่เรากินเข้าไปไม่น่าจะได้รับมากกว่า 10% ของความต้องการพลังงานของร่างกาย (ง่ายๆ คือวันนี้กินอาหารเข้าไป 1 กิโลกรัม ก็ไม่ควรจะมีน้ำตาลมากเกิน 1 ขีด) 

               
               เท่านั้นแหล่ะครับ หลังจากที่ WHO และ FAO ได้นำรายงานฉบับร่างนี้ขึ้นเว็บไซต์ (ต่อมาก็จะตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์) ก็เกิดการประท้วงกันขึ้นมาทันตาเห็น ทั้งสมาพันธ์น้ำตาลในอเมริกา (US-based Sugar Association) และองค์กรวิจัยน้ำตาลโลก (World Sugar Research Organization) ก็ออกโรงมาแสดงความคิดเห็นกล่าวหาว่ารายงานฉบับนี้ของ WHO และ FAO ไม่โปร่งใส และไม่น่าเชื่อถือ พยายามกดดันไม่ให้มีการตีพิมพ์ออกมา และมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำแนะนำเรื่องการบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 10% การเรียกร้องครั้งนี้มีมาจากองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับน้ำตาลทั่วโลก แต่ FAO-WHO ไม่ยอมรับคำเรียกร้องดังกล่าว เพราะองค์กรที่เกี่ยวข้องและเรียกร้องเข้ามาไม่มีข้อมูลสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและน่าเชื่อถือมากพอ  

              ปัจจุบันนี้ WHO ได้เพิ่มความร่วมมือกับองค์กรเอกชนต่างๆ มากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้รายงานสรุปงานวิจัยในเรื่องต่างๆ ที่ออกมาได้รับการยอมรับ และมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นกว่าเดิมมาก รวมถึงรายงานฉบับที่เป็นประเด็นร้อนนี้ด้วย และเมื่อการเรียกร้องไม่ได้ผล ก็มีความพยายามจะให้รัฐบาลสหรัฐลดทุนสนับสนุน WHO มาถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจนี่ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ แต่การกระทำดังกล่าวก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ทำให้เรายังมีองค์กรที่ทำงานเพื่อสุขภาพของชาวโลกต่อไป… 

 ประเด็นอื่นๆ สำหรับการวิเคราะห์ในชั้นเรียนเพิ่มเติม 

              ปัจจุบันนี้เรามีเทคโนโลยีการสร้างเครื่องยนต์ที่อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) และพลังงานไฮโดรเจนที่ได้จากการแตกตัวของน้ำ (Hydrogen Energy) ทำไมเราจึงไม่หันไปใช้เทคโนโลยีนี้ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด แทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งกำลังเป็นปัญหาทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น นักเรียนคิดว่าปัญหาน่าจะมาจากเรื่องใด แบ่งกลุ่มนักเรียนวิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไข ให้นำเสนอในกรณีที่… ถ้านักเรียนเป็นผู้นำประเทศ นักธุรกิจ นักสิ่งแวดล้อม ประชาชน ให้นักเรียนหาข้อมูลสนับสนุนจากสื่อต่างๆ หรือจากทางอินเทอร์เน็ต 

เอกสารอ้างอิง 

1. Comment and Analysis: "Sweet and Sour" Gro Harlem Brundtland, Director-general of 
    the WHO and trained doctor. New Scientist. 3 May 2003, page 23. 
2. http://www.adisorn.com/ads-ne.9.7.46.ks.htm 
    หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 9 ก.ค. 2546 

เว็บไซต์สำหรับศึกษาเพิ่มเติม (search by spong@) 
1. http://www.who.int/mediacentre/releases/2003/pr20/en/ 
    — WHO/FAO release independent Expert Report on Diet, Nutrition and the Prevention 
    of Chronic Diseases. 
 

 4,308 total views,  1 views today