เมื่อแมว ติดไข้หวัดนก

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2547

47-8-1

สุทธิพงษ์ พงษ์วร

                    เมื่อต้นเดือนกันยายน 2547 สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนกได้กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง พร้อมๆ กับข่าวในหนังสือพิมพ์ที่กล่าวว่า 
                    
                    “วิจัยชี้แมวแพร่หวัดนกได้ – เมื่อวันที่ 3 ก.ย. บีบีซีรายงานว่า คณะนักวิจัยประจำศูนย์การแพทย์อีราสมุส ในเมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่าแมวเป็นสัตว์ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกได้ และยังแพร่สู่แมวด้วยกันได้ สอดคล้องกับรายงานที่สัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของไทย พบว่าแมว 3 ตัวตายเพราะเชื้อไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 เมื่อต้นปี ด้านองค์การอนามัยโลก รีบสั่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบผลการวิจัยนี้ทันที โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดในเวียดนาม ซึ่งเบื้องต้นพบว่าแมวในบ้านผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกแข็งแรงดี” – หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 4 กันยายน 2547

 47-8-2

                    และหนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 10 กันยายน 2547 ได้รายงานอีกว่า – เมื่อเวลา 19.00 น.วันที่ 9 ก.ย. นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข แถลงข่าวการพบผู้ป่วยไข้หวัดนกเป็นรายแรก ตั้งแต่มีการเฝ้าระวังการระบาดในรอบที่ 2 ตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นมา โดยขณะนี้ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นผู้เสียชีวิตด้วยไข้หวัดนกรายที่ 13 ของประเทศไทย และเป็นผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดนกรายแรกในการระบาดรอบ 2 นั้น และผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อเย็นวันที่ 9 ก.ย.เวลา 18.00 น. พบว่าติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช5 เอ็น1 ผู้ป่วยดังกล่าวเป็นชายอายุ 18 ปี ชื่อนายคมสัน ฟักหอม อยู่ที่อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เข้ารับการรักษาตัวที่ ร.พ.กบินทร์บุรี เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ด้วยอาการไข้ ไอ ต่อมามีอาการหอบ และระบบหายใจล้มเหลว เมื่อตรวจสอบประวัติการสัมผัสพบว่าผู้เสียชีวิตเลี้ยงไก่ชนจำนวน 100 ตัว ทั้งนี้ เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไก่ชนที่เลี้ยงไว้ตายไปประมาณ 30 ตัว ซึ่งผู้เสียชีวิตไม่ได้ระมัดระวัง ป้องกันตามแนวทางปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ ผู้เสียชีวิตรายนี้เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. แต่ไม่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เมื่อมาถึงที่โรงพยาบาลพบว่าอาการทรุดหนัก ปอดดำ เชื้อลุกลามอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิตในที่สุด จากการตรวจสอบผู้เสียชีวิต พบว่าดูแลไก่ชนอย่างใกล้ชิด และมีการใช้ปากดูดเสมหะให้ไก่ชน 

                    ตามมาติดๆ กับข่าวการตายของเด็กหญิงสกุณตลา (เสียชีวิต 8 กันยายน 2547) และนางปราณีผู้เป็นแม่ (เสียชีวิต 20 กันยายน 2547) ที่ป่วยเป็นไข้หวัดนก ซึ่งยิ่งสร้างกระแสความตื่นกลัวกับไข้หวัดนกมากยิ่งขึ้น จนถึงวันที่ 4 ตุลาคม ก็มีรายงานข่าวว่าน.พ.กิตติศักดิ์ กลับดี ผู้ตรวจราชการ สธ. เดินทางไปที่ จ.เพชรบูรณ์ และเข้าเยี่ยมอาการ ด.ญ.กานดา สีเหลืองอ่อน วัย 8-9 ขวบ ที่ขึ้นบัญชีสงสัยติดเชื้อโรคไข้หวัดนกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ซึ่งถือเป็นผู้ป่วยที่รายงานว่าป่วยเป็นไข้หวัดนกรายที่ 4 

                    และวันที่ 5 ตุลาคม 2547 มติชนก็ได้รายงานว่า – น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ด.ญ.กานดา สีเหลืองอ่อน อายุ 9 ขวบ นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนหนองตาด ต.พุทธบาท อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนก ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตเป็นรายที่ 3 เมื่อเวลา 21.40 น. วันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งรายนี้มีประวัติชัดเจนว่าสัมผัสไก่ที่ตาย เนื่องจากที่บ้านเลี้ยงไก่ไว้ 13 ตัว และทยอยตาย ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน และเด็กคนนี้ได้ถอนขนไก่ที่กำลังป่วย และจับไก่เล่น จากนั้นเด็กก็เริ่มป่วย และเข้าโรงพยาบาลชนแดนเมื่อวันที่ 27 กันยายน ต่อมาถูกบย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน แพทย์ได้พยายามรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ 
                    
                    และข่าวอื่นๆ ก็สามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือ ศูนย์ไข้หวัดนก ถ้าข่าวยังไม่ทันสมัย ทันใจก็เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของ หนังสือพิมพ์มติชนได้ครับ

47-8-3

                    คราวนี้เราจะมาย้อนกลับไปเรื่องการยืนยันผลการตรวจเรื่องไข้หวัดนกสามารถติดต่อมาถึงแมวได้ โดยผลการศึกษาครั้งนี้ประกาศอย่างเป็นทางการในเว็บไซต์ของ The Scientist เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา บอกกล่าวให้เรารู้ว่าแมวติดไข้หวัดนกได้อย่างไร 

                    ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าแมวสามารถติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ได้ โดยการกินเนื้อนกที่เป็นโรคเข้าไป และยังสามารถติดต่อไปยังแมวตัวอื่นๆ ได้อีกด้วย ที่ไปที่มาของงานวิจัยเรื่องนี้มาจากทีมวิจัยของคุณ Thijs Kuiken ที่ศูนย์การแพทย์อีราสมุส ในเมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ (The Erasmus Medical Center in Rotterdam) ต้องการตรวจสอบข่าวการตายของแมว 14 ตัวจากที่เลี้ยงไว้ 15 ตัว โดยแมว 1 ในนั้นได้มีประวัติการกินไก่ตายมาก่อนหน้านี้ เพื่อศึกษาดูว่าการตายของแมวนั้นเกี่ยวข้องกับไข้หวัดนกจริงหรือไม่ เพราะไข้หวัดนก ชื่อก็บอกแล้วว่าติดในนก แล้วแมวจะติดโรคนี้ได้หรือเปล่า

47-8-4

                    ทีมวิจัยของคุณ Kuiken ก็สร้างสถานการณ์ของการติดเชื้อขึ้นมาให้ห้องทดลอง โดยการนำไก่ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกมาให้แมวกินเป็นอาหาร แมวทั้งหมดที่กินไก่ติดเชื้อไข้หวัดนกเข้าไปจะมีอาการปอดอักเสบ แมวบางตัวเป็นมากถึงขั้นรุนแรง “และมีแมว 1 ตัวตายลงภายในเวลาเพียงแค่ 6 วันเท่านั้น” คุณ Kuiken กล่าว 
 
                    นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าแมวสามารถติดเชื้อไข้หวัดนกได้แล้ว ทีมวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าแม้แต่แมวด้วยกันเองก็ยังส่งผ่านเชื้อไข้หวัดนกไปยังเพื่อนแมวด้วยกันได้ คุณ Kuiken กล่าวต่ออีกว่า “แมวมีความเสี่ยงต่อการติดไวรัส H5N1 โดยเชื้อ H5N1 สามารถทำให้แมวป่วยและตายได้” เขายังแนะนำอีกด้วยว่า “ควรจะทำการวิจัยถึงการแพร่ระบาดของ H5N1 ให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในแมว เพราะยังไม่มีการทำวิจัยกันมากเหมือนในคน แต่เรื่องสำคัญกว่านั้นก็คือผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพของมนุษย์เราเอง” 

                    “เรื่องที่น่ากังวลขณะนี้ก็คือไวรัสอาจจะมีการปรับตัวจนสามารถติดต่อมาสู่มนุษย์ได้ และอาจจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างรวดเร็วและอาจจะติดต่อระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็ได้ ความจริงที่ถูกค้นพบในครั้งนี้ก็คือ ความสามารถของไวรัสที่ปรับตัว จากเดิมที่เกิดการติดต่อกันเฉพาะในสัตว์ปีก เปลี่ยนมาติดต่อสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ซึ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะติดต่อและแพร่ระบาดสู่มนุษย์” 

                    ปลายเดือนสิงหาคม 2547 องค์กรอนามัยโลก (The World Health Organization – WHO) ยังได้รายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดเชื้อไข้หวัดนกในหมู และคุณ Stohr ตัวแทนจาก WHO กล่าวว่า “เชื้อ H5N1 ที่ตรวจพบในหมูมีลักษณะที่ไม่เหมือน H5N1 ที่พบโดยทั่วไป สถานการณ์นี้ไม่ใช่แค่เพียงแต่รายงานว่าไวรัสสามารถส่งผ่านไปยังสัตว์ได้หลายชนิดมากขึ้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่ามันมีความสามารถในการทำให้เกิดพยาธิสภาพ หรือทำให้โรคได้ดีขึ้น” 

                    “การปรับตัวของไวรัส ยังพบได้ในเป็ดบ้านอีกด้วย จากการศึกษาวิจัยพบว่า เป็ดบ้าน โดยปกติจะติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ชนิดที่ไม่รุนแรงนัก (milder form of H5N1) แต่รายงานสถานการณ์ในจีนพบว่าไวรัสไข้หวัดนกที่พบในเป็ดบ้านเปลี้ยนไป๋” คุณ Stohr กล่าวทิ้งท้าย 

                    “ผมไม่สามารถที่จะบอก หรือยืนยันได้เลยว่ามันสำคัญแค่ไหนสำหรับเรื่องนี้ ถ้าเรื่องที่แมวสามารถติดไข้หวัดนกได้มันเป็นจริง มันก็ดูเหมือนว่าเจ้าไวรัสมีหนทางที่จะแพร่กระจายไปได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ผมต้องกังวลใจเพิ่มขึ้น” คุณ Richard Webby นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน กล่าวกับ The Scientist 

                    คุณ Webby ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่อ ที่โรงพยาบาล St. Jude Children’s Research Hospital เมือง Memphis รัฐ Tennessee กล่าวว่า “เรื่องที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับรายงานวิจัยในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การติดไข้หวัดนกของแมวเท่านั้น แต่ที่สำคัญก็คือไวรัสปรับตัวไปติดสัตว์ชนิดอื่นๆ ได้นี่สิ ที่น่าเป็นห่วง ยิ่งไวรัสปรับตัวไปติดสัตว์ต่างชนิดกันได้มากขึ้น จะทำให้มันวิวัฒนาการและปรับเปลี่ยนโครงสร้างของยีนได้ง่ายขึ้น และเพิ่มโอกาสในการติดต่อเข้าสู่คนได้” 

                    คุณ Stohr ยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า “เราไม่ควรละเลยที่จะศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดเชื้อไข้หวัดนกในแมวต่อไป แต่เมื่อเทียบกับโอกาสที่ติดต่อไปสู่คน หรือในหมู ทำให้เราต้องเร่งศึกษาเรื่องนี้กันต่อไป” 
 

แปลและเรียบเรียงจาก 

The Scientist: How cats catch bird flu – Daily News – September 3, 2004 
Available at http://www.biomedcentral.com/news/20040903/03 

เว็บไซต์สำหรับศึกษาเพิ่มเติม (search by spong@) 

1. http://www.matichon.co.th/avian_flu/ มติชน — วิกฤตการณ์ไข้หวัดนก 
2. http://www.siamhealth.net/Disease/infectious/avian/avian.htm – ไข้หวัดนก 
3. http://www.kapook.com/hilight/main/4459.html หวัดนกถึงวิกฤติแพร่คนสู่คน 
    สธ.ยอมรับน่าวิตก รายของแม่ลูกที่เพิ่งเสียชีวิต'ฮู'เร่งรัดตรวจ – หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ 29 ก.ย. 2547 
4. http://www.dailynews.co.th/today/each.asp?strdate=20040929&newsid=35119 หวัดนก 
    ถึงวิกฤติแพร่คนสู่คน สธ.ยอมรับน่าวิตก รายของแม่ลูกที่เพิ่งเสียชีวิต – หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ 29 ก.ย. 2547 
5. http://www.vcharkarn.com/snippets/vcafe/show_message.php?Pid=17477 
    ไข้หวัดนก – เว็บวิชาการดอทคอม 

 
Last updated 12/22/2009 13:28:20 

 3,882 total views,  1 views today