แมงดาทะเล ที่ถูกทิ้งอยู่ริมหาด

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2547

47-7-1

สุทธิพงษ์ พงษ์วร

                    ในช่วงสุดสัปดาห์ได้มีโอกาสไปเที่ยวชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี กับครอบครัว และก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเดินสำรวจชายหาดเหมือนเคยๆ ก่อนออกเดินทาง น้องๆ ก็ได้ฝากไว้แล้วว่า ถ้าเจอแมงดาทะเลก็ถ่ายรูปกลับมาด้วยนะ ครั้งนี้ก็เหมือนอีกหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ที่การมาเที่ยวกับครอบครัวก็มักจะมีงานถ่ายภาพพ่วงมาด้วยเสมอ  

47-7-2    47-7-3

                    เดินชมทะเล ดูชาวเลคราดหาหอยอยู่ริมหาด วิ่งไล่จับปูลม ชมดอกผักบุ้งทะเล เดินไปได้ไม่นานก็ได้พบกองซากสัตว์ทะเลที่ชาวประมงกองทิ้งไว้ริมหาด ติดกับเรือประมงที่เกยตื้นอยู่นั่นเอง ซึ่งก็จะมีทั้งหอย ปู ปลา และก็เจ้าแมงดาทะเลที่มาของเรื่องเล่าประกอบภาพครั้งนี้ด้วย ในตอนแรกก็ดูเหมือนมาสัตว์ทั้งหมดจะตายหมดแล้ว เพราะทนแสงแดดแผดเผาไม่ไหว พอเอามือไปจับเข้า ก็ทำให้เกิดอาการตกใจ เพราะเจ้าแมงดาทะเล สัตว์ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการถ่ายภาพประกอบบทความและหนังสือเรียน กลับยังมีชีวิตอยู่ ดูเหมือนมันจะดีใจอยู่ไม่น้อยที่มีใครมาแตะตัวมัน หรือคิดในทางกลับกัน มันก็อาจจะตกใจและคิดว่าคงไม่รอดแน่แล้ววันนี้ 

                    ไม่ว่าแมงดาทะเล 6 ตัว ที่กองปนกับสัตว์อื่นๆ จะคิดยังไงก็แล้วแต่ ยังไงซะ วันนี้ก็ต้องถ่ายภาพกลับไปให้ได้เยอะที่สุด  พอเห็นเจ้าแมงดาทะเลขยับ ก็รีบจัดการหาไม้มาเขี่ย ช่วยกันจัดท่าจัดทางให้ได้ตามต้องการ คือ อยากจะได้ภาพนอนหงายเพื่อถ่ายทางด้านท้องสักหน่อย คิดว่าถ้าจับหงายท้อง เจ้าแมงดาทะเลก็ต้องนอนหงายท้องตามที่คิดไว้ พอลงมือจับเจ้าแมงดาทะเลหงายท้อง กลับไม่เหมือนที่คิดไว้ ก็เลยได้เห็นพฤติกรรมของแมงดาทะเลที่พยายามป้องกันตัว   

โดยการพยายามงอส่วนหางเข้ามาปกปิดส่วนท้องของตนเองเอาไว้ และจะนิ่งในท่านั้นอยู่นาน (รูปประกอบ) นานจนกว่าจะแน่ใจแล้วว่าไม่มีภัย จากนั้นมันก็จะพยายามพลิกตัวกลับ เพื่อเดินลงสู่ทะเล แต่กว่าจะพลิกตัวกลับได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ขั้นแรก แมงดาทะเลใช้หางชี้ไปด้านหลัง เพื่อเอาหางไปปักทราย ใช้เป็นหลักยึดสำหรับการพลิกตัวคว่ำลง 

                     จากนั้นก็จะแอ่นตัวขึ้นเหมือนการทำท่าสะพานโค้ง เมื่อแอ่นตัวได้ที่ก็จะพลิกลำตัวคว่ำลง ถ้าไม่สามารถพลิกตัวกลับมาได้ก็อาจจะต้องตายเพราะความร้อนจากแสงแดด ชาวประมงจะไม่ค่อยชอบเวลาที่แมงดาทะเลมาติดอวนลาก (แมงดาทะเลอาศัยอยู่ที่พื้นทรายจึงมีโอกาสติดอวนลากสูง) ขณะเดียวกันแมงดาทะเลก็คงจะไม่ค่อยชอบอวนลากของชาวประมงเช่นเดียวกัน เพราะตัวแมงดาทะเลจะเกี่ยวกับอวนทำให้อวนพันกัน และหลายครั้งก็ทำให้อวนขาดได้ ดังนั้นถ้าไม่ใช่แมงดาทะเลที่มีไข่ ก็จะถูกเหวี่ยงทิ้งไว้รวมๆ กับซากกุ้งหอยปูปลาที่ตายแล้วและขายไม่ได้ราคา ซึ่งเสียเวลาเอาไปทิ้ง 

47-7-4

47-7-5

47-7-6 47-7-7
 
47-7-8

                    แมงดาทะเลที่พบบนหาดชะอำ จ.เพชรบุรี ในอาทิตย์ต้นเดือนสิงหาคม 2547 เป็นแมงดาทะเลหางเหลี่ยม (หรือแมงดาจาน) ในประเทศไทยมีแมงดาทะเลอยู่ 2 ชนิด คือแมงดาจานหรือแมงดาหางเหลี่ยม (Tachypleus gigas ) และ แมงดาถ้วยหรือแมงดาหางกลม (Carcinoscorpius rotundicauda ) ทั้งสองชนิดมีความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน แมงดาจานอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย ส่วนแมงดาถ้วยอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามลำคลองในป่าชายเลน

47-7-9
 

 

                    ทั่วโลกมีแมงดาทะเลทั้งหมด 4 ชนิด ชนิดที่ 1 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Limulus polyphemus   พบอาศัยอยู่ตลอดชายฝั่งอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง ส่วนอีก 3 ชนิด คือ Carcinoscorpius rotundicauda   (2) – แมงดาหางกลม, Tachypleus tridentatus  (3), Tachypleus gigas   (4) – แมงดาหางเหลี่ยม ทั้ง 3 ชนิดจะพบอาศัยอยู่ตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก แมงดาทะเลจะหาอาหารกินในเวลากลางคืน อาหารของแมงดาทะเลส่วนใหญ่เป็นพวกหอย (Molluscs) และไส้เดือนทะเลชนิดต่างๆ (Polychaetes) 

 

                    นักวิทยาศาสตร์เรียกแมงดาทะเลว่าเป็น “Living Fossil” ก็เพราะว่ารูปร่างของแมงดาทะเลจากในอดีตจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ในช่วง 300 ล้านปีที่ผ่านมา และพบว่าแมงดาทะเลเป็นญาติทางสายวิวัฒนาการกับ Trilobite มาตั้งแต่ในมหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic มีอายุประมาณ 540-248 ล้านปีมาแล้ว) แต่ Trilobite ก็สูญพันธุ์ไปก่อนในตอนปลายของยุคนี้ ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคมีโซโซอิกซึ่งเป็นยุคของสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Age of Reptiles / Age of Amphibians – มีอายุประมาณ 248-65 ล้านปีมาแล้ว) และผ่านมาถึงยุคซีโนโซอิกซึ่งเป็นยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Cenozoic – ตั้งแต่ 65 ล้านปีมาแล้วมาถึงปัจจุบัน) ซึ่งแมงดาทะเลก็ยังคงมีชีวิตอยู่และทำหน้าที่ในห่วงโซ่อาหารอย่างต่อเนื่อง 
 

47-7-10
 

                    แมงดาทะเลมีความสำคัญอย่างไรต่อระบบนิเวศ 

                    มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่ดำรงชีวิตเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับแมงดาทะเล เช่น บริเวณชายฝั่งทะเลรัฐเดลาแวร์ (Delaware – ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแมงดาทะเลมาวางไข่เป็นจำนวนมาก และในช่วงเวลาเดียวกันก็จะมีนกอพยพเข้ามามากถึง 425,000 – 1,000,000 ตัวเพื่อมากินไข่แมงดาทะเลสำหรับใช้เป็นอาหารสะสมเพื่อบินอพยพขึ้นไปทางเหนือต่อไป มีนกอย่างน้อง 11 ชนิดที่กินไข่แมงดาทะเลเป็นอาหารหลักสำหรับเก็บสะสมไว้เป็นแหล่งพลังงานเพื่อใช้บินต่อไปทางเหนือ โดยจะพักหากินอยู่ที่นี่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ และนกเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อจำนวนแมงดาทะเลที่เกิดขึ้นใหม่เลย เป็นการควบคุมสมดุลของจำนวนประชากรซึ่งกันและกัน เพราะถ้าแมงดาทะเลลดลง ไข่น้อยลง จำนวนนกที่สมบูรณ์และสามารถบินอพยพขึ้นไปสืบพันธุ์และวางไข่ทางเหนือของทวีปก็จะลดลงไปด้วย

ปัจจัยที่มีผลต่อการลดจำนวนลงของแมงดาทะเล

  1. แมงดาทะเลต้องใช้เวลา 9-11 ปี ถึงจะเจริญเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ ดังนั้นจึงส่งผลโดยตรงต่อจำนวนประชากรของแมงดาทะเลอย่างแน่นอน
  2. การทำประมงชายฝั่งเพื่อจับแมงดาทะเลที่มีไข่มาเป็นอาหาร
  3. ลักษณะพฤติกรรมของแมงดาทะเลเองที่จะมารวมตัวกันบริเวณชายฝั่งในฤดูสืบพันธุ์ ทำให้ง่ายต่อการถูกจับกินจากสัตว์ต่างๆ รวมถึงมนุษย์ 
  4. การเพิ่มขึ้นและลดลงของจำนวนแมงดาทะเลไม่สามารถตรวจสอบได้ตลอดปี จะดูได้จากการนับจำนวนหรือความหนาแน่นของแมงดาทะเลที่บริเวณชายฝั่งในช่วงฤดูสืบพันธุ์เท่านั้น (ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น) ทำให้การประเมินสาถนการณ์ของประชากรแมงดาทะเลเพื่อการอนุรักษ์ทำได้ยาก 
  5. จากการสำรวจจำนวนประชากรของแมงดาทะเล พบว่าหลังจากที่แมงดาทะเลลดจำนวนลง และลดการจับแมงดาทะเลเพื่อการประมง พบว่าจำนวนแมงดาทะเลจะยังไม่เพิ่มขึ้นในปีถัดมา แต่จะส่งผลในอีก 10 ปีต่อไป ซึ่งสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่แมงดาทะเลเจริญจนมีอายุเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ 

                    ประเด็นต่อมา ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ไข่ และตัวอ่อนของแมงดาทะเลจะเป็นอาหารอันโอชะของปลาหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น striped bass, white perch, American eel, kingfish, killifish, silver perch เป็นต้น และยังรวมไปถึงเต่าทะเล (loggerhead sea turtles) ถือเป็นอาหารตามฤดูกาลเพราะมีแค่ช่วงนี้ในรอบปี                     

                     นอกจากนี้ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกหลายๆ ชนิดมาอาศัยร่วมกับแมงดาทะเลอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ฟองน้ำ (sponge) ทากทะเล หอย เพรียง ดอกไม้ทะเล กุ้ง เป็นต้น สำหรับภาพประกอบการอาศัยร่วมกันของแมงดาทะเลกับสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.horseshoecrab.org/nh/eco.html


                    ในสายใยอาหาร ถ้าสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งลดจำนวนลง ก็จะส่งผลต่อจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เป็นลูกโซ่ต่อไปเรื่อยๆ สิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอ และไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะทยอยกันสูญพันธุ์ไปก่อน เหมือนเช่นที่ Trilobite เพื่อนร่วมสายวิวัฒนาการของแมงดาทะเล ที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ เราจะปล่อยให้แมงดาทะเลดำรงชีวิตอยู่อย่างลำพังและรอวันที่จะจากโลกนี้ไปเหมือนเจ้า Trilobite หรือครับ 
 

เอกสารอ้างอิง 

1. R.S.K. Barnes and et al. The Invertebrates: A Synthesis. 2001. 3rd Edit. Blackwell Science 
    Ltd. 

เว็บไซต์สำหรับศึกษาเพิ่มเติม (search by spong@) 

1. http://pirun.ku.ac.th/~fscibpp/coursware/423113/Arthropoda.htm 
    “Phylum Arthropoda” รศ.นันทพร จารุพันธุ์ ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
2. http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_1_001c.asp?info_id=83 
    “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสิ่งเป็นพิษของศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา: สัตว์ทะเลมีพิษ และเป็นอันตราย” อดิสรณ์ มนต์วิเศษ 
    สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี 
3. http://update.se-ed.com/174/poision.htm 
    “สารพิษจากสัตว์ ภัยล้างโลก?” สารคดี ฉบับที่ 174 เดือนกุมภาพันธ์ 2545 
4. http://www.horseshoecrab.org/nh/hist.html 
    “Natural History: The Amazing Horseshoe” เป็นเว็บไซต์ที่มีภาพประกอบและเนื้อหาสมบูรณ์ สามารถใช้เป็น 
    แหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียนได้ ภาพประกอบแสดงอวัยวะส่วนต่างๆ รวมถึงการเจริญเติบโตในแต่ละระยะชัดเจน 
    โดยแบ่งหัวข้อของการนำเสนอออกเป็น 6 กลุ่ม คือ Natural History, Evolution, Anatomy, Medical Uses, 
    Conservation, และ Research 
5. http://www.beach-net.com/horseshoe/Bayhorsecrab.html 
    Horseshoe Crab Facts and Figures 
6. http://www.grisda.org/video/EvidencesII/evidences_ii.html 
    แสดงภาพซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของแมงดาทะเล 
7. http://www.teachingkate.org/lessons/fossil.pdf 
    “Teaching Kids About The Environment – Fossil Hunt” ชุดการสอนสิ่งแวดล้อม เรื่อง ตามล่าหาฟอสซิล 
    เหมาะสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถม 
8. http://www.geoclassics.com/fossils.html 
    “GEOCLASSICS – FOSSIL INDEX” – แสดงภาพของฟอสซิลสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ พร้อมคำบรรยาย 
    สามารถนำภาพมาสอนประกอบในชั้นเรียนได้ 
9. http://www.ocean.udel.edu/horseshoecrab/History/lifestages.html 
    Horseshoe crab life stages – การเจริญและการพัฒนาของแมงดาทะเลจากไข่ไปเป็นตัวอ่อน พร้อมภาพประกอบ 

 
Last updated 12/22/2009 13:42:18 

 6,913 total views,  2 views today