ชีวจริยธรรม (bioethics)

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2546

กัณหา พิริยะกุล 

  

ชีวจริยธรรม (bioethics) หมายถึงการปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอย่างมีคุณธรรม ไม่ทำร้าย หรือทำอันตรายต่อสัตว์หรือมนุษย์เพื่อการศึกษาหรือการวิจัย 



                    จรรยาบรรณในการใช้สัตว์ทดลอง 

                    สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ได้กำหนดจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานวิจัย งานสอน งานทดสอบ และงานผลิตชีววัตถุไว้ดังนี้ 

                    1. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์ 

                    2. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงความแม่นยำของผลงานโดยใช้สัตว์จำนวนน้อยที่สุด 

                    3. การใช้สัตว์ป่าต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและนโยบายการอนุรักษ์ป่า 

                    4. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ 

                    5. ผู้ใช้สัตว์ต้องบันทึกการปฏิบัติต่อสัตว์ไว้เป็นหลักฐานอย่างครบถ้วน 



                    การกำกับดูแลให้ผู้ใช้สัตว์ปฏิบัติตามจรรยาบรรณการใช้สัตว์ ทั้งระดับองค์กร และระดับชาติ ต้องจัดให้มีคณะกรรมการกำกับติดตามดูแลรับผิดชอบ เช่น ในระดับชาติได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ และกองบรรณาธิการของวารสารที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัย 



                    อาวุธชีวภาพ 

                    อ่านดูได้จากบทความ ที่ลงไปก่อนหน้านี้ 



                    การโคลนมนุษย์ 

                    โคลนนิ่ง (cloning) หรือการโคลน หมายถึงการคัดลอกหรือการทำซ้ำ (copy) ในทางชีววิทยา หมายถึง การสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนเดิมทุกประการ 



                    ประโยชน์ของการโคลน ช่วยให้สร้างสัตว์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมตามที่เราต้องการได้เป็นจำนวนมาก เช่น สัตว์ที่ให้น้ำนมมาก มีความต้านทานโรคสูง สัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ข้อเสียของการโคลนก็คือ สถิติความสำเร็จมีน้อยมาก ในการโคลนแกะดอลลี ใช้ไข่ถึง 277 เซลล์ แต่ประสบผลเพียง 1 เซลล์ คิดเป็นร้อยละ 0.4 แต่นักวิทยาศาสตร์และกลุ่มคนที่ชอบยังคงมีความหวัง บางกลุ่มสนใจที่จะให้โคลนมนุษย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก เพราะมนุษย์ที่เกิดจากการโคลนไม่มีพ่อและแม่ที่แท้จริง และอาจมีอุปนิสัยใจคอต่างไป แม้จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับบุคคลเจ้าของเซลล์ต้นกำเนิด อาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม แต่ในวงการแพทย์มีการวิจัยการโคลนเอ็มบริโอของคนโดยมีเป้าประสงค์เพื่อนำอวัยวะไปทดแทนผู้ป่วย เช่น ไต เป็นต้น แต่ก็เป็นการทำให้มนุษย์โคลนมีอวัยวะไม่ครบ บางประเทศจึงไม่สนับสนุน โดยเหตุนี้ทุกประเทศทั่วโลกจึงห้ามการโคลนมนุษย์ แต่บางประเทศได้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับชีวจริยศาสตร์เพื่อขออนุญาตให้ใช้ตัวอ่อนมนุษย์ในการทำวิจัย เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น 



                    การทำแท้ง 

                    ตามหลักศาสนา ถือว่าการทำแท้งเป็นสิ่งไม่ดี ผิดศีลธรรม เป็นบาป แต่เมื่อไม่นานในสหรัฐอเมริกามีบางกลุ่มถือว่าการท้องเป็นเรื่องส่วนตัว และกล่าวว่าเด็กในครรภ์เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะสตรี จึงมีสิทธิที่จะเลือกให้เด็กอยู่ในครรภ์หรือไม่ กลุ่มนี้เรียกว่า พวก pro-choice ส่วนกลุ่มตรงข้ามมีความเห็นว่าเด็กในครรภ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จะถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์ การทำแท้งถือเป็นฆาตกรรมอย่างหนึ่ง ความเห็นของกลุ่มนี้เรียกว่า pro-life ในประเทศไทยมีการอนุมัติให้ขายยา RU 486 ที่ทำให้เกิดการแท้ง และมีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ 2 กรณี คือ 



                    1. สุขภาพกาย สุขภาพจิตของหญิงผู้เป็นแม่ และสุขภาพของทารกในครรภ์ ไม่ดี เช่น ติดเชื้อ HIV เป็นโรคต่อมไร้ท่อ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคธาลัสซีเมีย มีภาวะปัญญาอ่อน 

                    2. การตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืน 

                    สิ่งมีชีวิต GMOs 

                    สิ่งมีชีวิต GMOs หรือสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม GMOs ย่อมาจากคำว่า genetically modified organisms หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่มีการตัดและต่อยีนด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) ทำให้มีลักษณะพันธุกรรมตามที่ต้องการ มีประโยชน์ ดังเช่น 



                    1. สารที่ผลิตโดยจุลินทรีย์แปลงพันธุ์ มีหลายชนิดมีประโยชน์ เช่น ช่วยขยายหลอดเลือด ฟื้นฟูกระดูกภายหลัง การปลูกถ่ายไขกระดูก ลดน้ำหนองในปอดของคนไข้ กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อที่เกิดจากบาดแผลไฟไหม้ กระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ช่วยแก้ความเป็นหมัน ช่วยในการดูดซึมกลูโคส ฯลฯ 

                    2. สารที่ผลิตโดยพืชแปลงพันธุ์ มีหลายชนิด เช่น แครอท ทำให้เนื้อเหนียวขึ้น มะเขือเทศ ช่วยควบคุมการสุกของผล มะละกอมีความทนทานต่อไวรัสโรคใบด่าง ผักกาดหอมต้านทานต่อโรค ทานตะวันทำให้เมล็ดมีโปรตีนเพิ่มขึ้น ข้าวโพดทนทานต่อยาปราบวัชพืช ฯลฯ 

                    3. สารที่ผลิตโดยสัตว์แปลงพันธุ์ มีหลายชนิด เช่น วัวผลิต GH ฮอร์โมนช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำนม หนูผลิต GH ของคนช่วยเพิ่มความสูงของคนเตี้ยแคระ กระต่ายผลิตสาร EPO กระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงสำหรับคนป่วยโรคโลหิตจางเนื่องจากไตวาย เป็นต้น 

                    อันตรายจากอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GE foods หรือ GM foods) แม้จะยังไม่มีข้อมูลรายงานชัดเจน แต่ก็ก่อให้เกิดความหวั่นวิตก และเกรงจะเกิดภัยอันตรายแก่มนุษย์

                    แม้ว่าศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้พยายามชี้แจงว่าผลิตภัณฑ์ GMO ยังไม่เกิดอันตรายอย่างเด่นชัด แต่เราในฐานะผู้บริโภคควรระวังตนไว้ก่อน สิ่งใดมีคุณอนันต์ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียอย่างมหันต์ได้ ถ้าไม่จำเป็นก็ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค หรือถ้าบริโภคก็ไม่ควรซ้ำ ๆ ต่อเนื่องกัน 

                    
                    ทัวร์อวสานชีวิต/กรุณพิฆาต 

                    ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีบริการให้ผู้ป่วยที่ไม่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ไปได้จบชีวิตลงอย่างสงบ ดำเนินการโดยมูลนิธิการกุศลแห่งหนึ่ง เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีทั้งชาวสวิตและชาวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการไปแล้วประมาณ 150 ราย กรณีนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับประเทศอื่น ๆ ถือเป็นปัญหาชีวจริยธรรมที่ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ 

 


เอกสารอ้างอิง 



1. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 2 เมษายน 2546 และ 18 เมษายน 2546 

2. วารสาร InsightBio ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 กุมภาพันธ์ 2544 

3. ชีวปริทรรศน์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2545 ของศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ 

4. เอกสารแนะนำสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ 

5. วิสุทธิ์ ใบไม้ การตัดต่อยีน : พันธุวิศวกรรม 



เว็บไซต์สำหรับศึกษาเพิ่มเติม 

1. http://www.greensociety.com/gmo.htm 

    ข้อมูลเกี่ยวกับ GMOs ในหัวข้อ GMOs Wars แบ่งเป็น 6 ภาค เนื้อหาเป็นภาษาไทย เหมาะที่จะนำมาใช้ในชั้นเรียน 

 

                 หมายถึงการปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอย่างมีคุณธรรม ไม่ทำร้าย หรือทำอันตรายต่อสัตว์หรือมนุษย์เพื่อการศึกษาหรือการวิจัย 


Copyright  © 2003  The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST). All rights reserved. 

Last updated 12/22/2009 12:19:36 Last updated 03/19/2007 15:43:20 

 

 208,263 total views,  1 views today