มันมากับความรัก

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2545

สุทธิพงษ์ พงษ์วร


                    คงจะต้องมีคนสงสัย และคิดว่า "แล้วมันอะไรกันหล่ะ… ที่จะมาพร้อมกับความรัก ถ้าไม่ใช่ความรักและคนที่ฉันรัก" "อืม…หรือว่าจะเป็นดอกกุหลาบราคาแพงๆ" เรามาลองดูคำตอบจากรูปด้านล่างดูนะครับ ค่อยๆ นำ mouse ไปวางที่รูป "?" ด้านล่างดูสิครับ แล้วรอสักแป๊บนะครับ จะมีตัวหนังสือซ้อนรูปขึ้นมา และดูว่า นั่นเป็นคำตอบที่คุณกำลังคิดอยู่หรือไม่ 
    

                    ในครั้งนี้เราคงจะยังไม่กล่าวถึงโรคเอดส์ แต่เราจะมาพูดกันถึงสิ่งที่หลายคนไม่เคยรู้จัก และหลายคนมองข้าม บางคนมีเจ้าสิ่งนี้อยู่กับตัว แต่กลับไม่เคยสังเกตเลยว่ามันคืออะไร หรือไม่ก็เนื่องจากความไม่รู้ทำให้เผลอคิดไปว่าเกิดจากสาเหตุอื่น เลยทำให้เจ้าเพื่อนตัวน้อยๆ นี้ยังลอยนวลอยู่ 

                    และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างมาก จนทำให้หนังสือพิมพ์บางฉบับกล่าวว่า วันวาเลนไทน์ คือ "วันเสียตัวแห่งชาติ" ซึ่งถ้าเป็นดังนั้น มันก็อาจจะมีผลทำให้เจ้าเพื่อนตัวน้อยนี้กลับมาปรากฎตัว และแพร่กระจายเพิ่มจำนวนได้อีกมากมายในวันวาเลนไทน์ได้ เจ้าเพื่อนตัวน้อยที่จะกล่าวถึงนี้ คือ "โลน" หรือตัวที่ฝรั่งเรียกว่า "crab louse" หรือ "crabs" ถ้าเป็นพหูพจน์เราก็จะเรียกว่า "lice" และเนื่องจากโลนมีแหล่งที่อยู่ที่เฉพาะ เลยมีชื่อเรียกเฉพาะอีกว่า "the pubic louse of humans" คำว่า pubic (–กระดูกหัวหน่าว) เป็นคำที่มีความหมายบอกถึงแหล่งที่อยู่ ของโลน ว่า อาศัยอยู่บริเวณอวัยวะเพศ และเพื่อให้ทำให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ก็ให้นึกถึงคำว่า pubic hair ซึ่งหมายถึงขนบริเวณอวัยวะเพศ 

                    เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณสงสัยต่อไหมว่า ทำไมต้องตั้งชื่อว่า pubic louse ทำไมไม่เรียกว่า louse หรือ lice เป็นชื่อรวมๆ ไปเลย


                    คำตอบ ก็คือ เนื่องจากว่าสัตว์ในกลุ่มเหาและโลนมีหลายชนิด แต่ละชนิดจะแบ่งที่อยู่อาศัยเพื่อทำมาหากินกันคนละที่ ทำให้ไม่ต้องแก่งแย่งชิงดีกันในเรื่องการหาอาหารมากนัก โดยชนิดที่อาศัยที่ศรีษะ คนไทยเรียกว่า "เหา" ส่วนฝรั่งเรียกว่า "head lice" และมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Pediculus humanus capitis 

                    ส่วนชนิดที่ชอบอาศัยตามตัวไม่ค่อยพบในคนไทย ก็เลยไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ แต่ในฝรั่งพบเยอะเลยมีชื่อเรียกว่า "body lice" และมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Pediculus humanus humanus     นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า body lice มีสายวิวัฒนาการมาจาก head lice ภายหลังจากที่มนุษย์เริ่มมีการสวมใส่เสื้อผ้า เราจะพบ body lice มากในเขตหนาว ส่วนในเขตร้อนมักจะพบ head lice มากกว่า ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสัตว์กลุ่มนี้ต้องการอาศัยอยู่ในช่วงอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังพบว่า body lice ยังทำหน้าที่เป็นพาหะนำโรค typhus (โรคไข้รากสาดใหญ่) ซึ่งเกิดจากเชื้อ Rickettsia  แต่สำหรับ head lice หรือเหา นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง กล่าวว่าไม่ได้เป็นพาหะนำโรคไข้รากสาดใหญ่ แต่ตัวของเหาจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเชื้อRickettsia  ได้ดี 

                    และชนิดที่สุดท้ายที่จะมากับวันแห่งความรัก ก็คือชนิดที่ชอบอาศัยอยู่ที่ขนบริเวณอวัยวะเพศ เรียกว่า "pubic lice" หรือโลน หรือ crabs หรือ crab louse มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phthirus pubis   และที่มีชื่อเรียกแปลความหมายได้ว่าเป็นปู ก็เพราะเจ้าตัวโลนมีโครงสร้างของขาหน้าเหมือนก้ามปูนั่นเอง (ดูภาพประกอบ)
 

      
Picture Ref.: "ระยางค์ที่มีลักษณะคล้ายก้ามปู"                 Picture Ref.: "ขนาดของโลนเมื่อเทียบกับเส้นขน" 
Suthipong Pongworn, Biology Dept., IPST                    Suthipong Pongworn, Biology Dept., IPST

   
           โดยทั่วไปแล้วโลนจะชอบอาศัยอยู่บริเวณขนที่อวัยวะเพศ แต่บางครั้งก็สามารถพบได้ตามขนรักแร้ หนวดเครา ขนคิ้ว หรือแม้แต่ที่ขนตา และเมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างของขา กับการเคลื่อนที่ระหว่างโลนกับเหา (Pediculus  spp.) ( Click เพื่อดูภาพเปรียบเทียบ) จะพบว่าโลนจะเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าเหา และโลนชอบที่จะอยู่กับที่เพื่อกินเลือดเหยื่อ ซึ่งผลจากการกัดกินเลือดเหยื่อจะทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง ขาของสัตว์ในกลุ่มนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เดิน แต่จะใช้ได้ดีสำหรับการทำหน้าที่จับยึดกับเส้นขน (ดังภาพ) ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมเวลาคุณพยายามจะดึงตัวเหาหรือโลนออกจากเส้นขน ถึงทำได้ยากเย็นนัก 

           โลนจะมีความยาวลำตัวประมาณ 1.5-2.0 มิลลิเมตร ส่วนความกว้างก็จะพอๆ กับความยาว และเนื่องจากการที่โลนตัวเล็กมาก เวลาที่มันอาศัยอยู่กับเรา เรามักจะมองไม่เห็น จะมีก็แต่อาการคันอันเนื่องมาจากกิจกกรรมการกินอาหารของโลนเท่านั้น ที่พอจะบอกให้เรารู้ว่า เรามีเพื่อนตัวน้อยอาศัยอยู่กับเราแล้ว 


           โลนจะวางไข่ (nit) โดยให้ไข่เชื่อมติดกับเส้นขน (Click เพื่อดูภาพประกอบ) โลนเพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 30 ฟอง ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และหลังจากวางไข่แล้วก็จะเจริญเป็นตัวเต็มวัยได้ภายในระยะเวลาที่น้อยกว่า 1 เดือน

 Picture Ref.: "Phthirus pubis  โลน" 
Suthipong Pongworn, Biology Dept., IPST


                    แล้วโลน สามารถติดต่อได้โดยวิธีใดบ้าง?

                    โลนเป็นปรสิตภายนอก (Ectoparasite) และอาศัยอยู่แถวขนบริเวณอวัยวะเพศ และจากโครงสร้างของขาซึ่งมีไว้จับเกาะกับขน มากกว่าที่จะใช้เดิน ทำให้การแพร่กระจายจะทำได้สะดวกก็โดยการสัมผัสเท่านั้น เช่น จากการร่วมเพศ หรือจากการใช้ของใช้ หรือเสื้อผ้าร่วมกัน

                    และเมื่อเป็นแล้วจะทำการรักษาและป้องกันได้อย่างไรบ้าง ?

                    เมื่อเป็นแล้วก็ไม่ต้องกังวลนะครับ โลนแค่สร้างความรำคาญให้คุณเท่านั้น แต่จะมีผลทำให้ บุคลิกภาพของคุณเสียไปชั่วคราวเนื่องจากการเกา อันเนื่องจากอาหารคันเฉพาะที่ในเวลากินอาหารของโลน วิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับการกำจัดโลน คือการโกนขนที่บริเวณนั้นออกให้หมด และทำความสะอาดโดยใช้ยาสำหรับกำจัดโลนหรือเหา นอกจากนี้ยังควรระวังเรื่องการแพร่กระจายไปยังบุคคลใกล้เคียงด้วย และเมื่อรู้เขารู้เรากันขนาดนี้แล้ว โลนก็คงไม่มีโอกาสที่จะแอบมาอาศัยอยู่กับเราได้อีกแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนั้น "มันคงไม่กล้ามาพร้อมกับความรักอีกต่อไป" 


เอกสารอ้างอิง และสำหรับการค้นคว้าเพิ่มเติม 

Larry S. Roberts & John Janovy,Jr. 2000. "Gerald S. Schmidt & Larry S. Roberts' Foundations of Parasitology". 
      6th Edit. McGraw-Hill Companies, Inc. 
http://www.microscopy-uk.org.uk/mag/articles/louse.html "MICROSCOPY UK – MICSCAPE ARTICLE: Human Lice, 
      louse", Anne Bruce. Date: October 1996 
http://www.microscopy-uk.org.uk/lice.html Lice at Microscopy UK, Vanessa Summers & Maurice Smith 1999 —> มี 
      ภาพโลน ขณะกำลังเกาะกับเส้นขนและห้อยตัวอยู่ 
http://www.extension.umn.edu/distribution/housingandclothing/DK1030.html, 
      Jeffrey Hahn, University of Minnesota Extension Service. "Head Lice: Control of Lice on Humans". 
http://tray.dermatology.uiowa.edu/Crabs-01.htm ภาพไข่ (สีเข้มๆ บริเวณขน) และตัวโลนบนผิวหนัง 
      Dept. of Dermatology – University of Iowa College of Medicine. 
http://www.cdfound.to.it/HTML/phthirus.htm ภาพโลนขณะเกาะที่เส้นขน 
http://www.ent.iastate.edu/imagegal/phthiraptera/phthirus-pubis.html "Crab Louse or Pubic Louse", 
      Iowa State University Entomology Department 
http://biodidac.bio.uottawa.ca/Thumbnails/PHTH001B-GIF.htm  ภาพวาดลายเส้นตัวโลน 
      —> – Animalia Arthropoda Insecta Phthirus pubis จากเว็บ BIODIDAC 
http://www.life.sci.qut.edu.au/LIFESCI/darben/insects.htm The Parasitology Images List – Insecta 
http://www.nature.com/nsu/000727/000727-3.html "The ancient art of nit-picking", Jessa Netting, 24 July 2000, 
      Nature Science Update. 
http://medent.usyd.edu.au/photos/lice__bedbug_photos.htm  Lice & Bedbug Photos, Department of Medical 
      Entomology, Sydney University 
 

 2,529 total views,  2 views today