ทำไมลำต้นพืชถึงต้องมีรู

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2545

ปัณรสี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา  

                 หลายๆ คนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า  ทั้งมนุษย์และสัตว์ที่เราคุ้นเคยและใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน เช่น แมวหรือสุนัขนั้นต่างก็มีจมูกเป็นอวัยวะที่ใช้ในการหายใจ ซึ่งพืชเองก็มีการหายใจเช่นกัน แต่กระบวนการหายใจของพืชหลายคนคงทราบว่าจะเกิดขึ้นที่ใบ

"คุณทราบหรือไม่ว่านอกจากใบพืชแล้วยังมีส่วนใดของพืชอีกบ้างที่สามารถหายใจได้?"


                    การหายใจของพืชเป็นกระบวนการที่ปลดปล่อยพลังงานออกมา เพื่อนำพลังงานที่ได้ไปใช้ในการเจริญเติบโตและกิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ เช่น การสร้างกรดอะมิโน การสร้างเอนไซม์ต่างๆ เป็นต้น กระบวนการหายใจของพืชจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นทุกๆ วัน ซึ่งจะต่างจากการสังเคราะห์ด้วยแสงที่จะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่ได้รับแสงเท่านั้น 

                    หลายๆ คนส่วนใหญ่คงทราบแล้วว่า รู (pore) ที่พืชใช้ในการหายใจซึ่งพบที่บริเวณใบ เรียกว่า ปากใบ (stomata) นอกจากนี้รูของพืชที่ใช้หายใจยังสามารถพบได้ที่ส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น ราก ดอก ผล และลำต้น โดยรูที่พบเหล่านั้นเรียกว่า เลนติเซล (lenticel) ซึ่งสามารถพบได้ในพืชหลายชนิดและบางชนิดสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น เหงือกปลาหมอ มะยม ชบา และชมพูพันธุ์ทิพย์ เป็นต้น 
 

          

          
Picture Ref.: "เลนติเซล" 

          ก.เหงือกปลาหมอ 

          ข.มะยม 

          ค.ชบา 

By   Banarasi S., Biology Dept., IPST
 

ถ้าพิจารณาจากภาพดังตัวอย่างข้างต้นคงสามารถตอบคำถามได้ว่า 
"เลนติเซล คืออะไรและอยู่ที่บริเวณใด?" ซึ่งคงจะได้คำตอบที่หลากหลาย แต่จะขออธิบายว่า 

                    เลนติเซล คือ รูที่สามารถพบได้บริเวณลำต้นหรือกิ่ง จะเห็นเป็นรอยแผลแตกเป็นทางยาวตามขวางหรือตามยาวของลำต้น มีขนาดตั้งแต่ไม่สามารถมองได้เห็นด้วยตาเปล่า จนถึงขนาด 1 เซนติเมตร หรือมากกว่านั้น พืชบางชนิดเมื่อมีอายุมากขึ้นขนาดของเลนติเซลก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเลนติเซลอาจเกิดขึ้นเดี่ยวๆ หรือเกิดเป็นแถวเรียงกันก็ได้ 
 

 

Picture Ref.: "ลำต้น Ivy ตัดตามขวาง" และ "เลนติเซลของต้น Ivy"
from "Ivy lenticel", Plant Anatomy Laboratory. James D. Mauseth, Integrative Biology, University of Texas

                    แล้วคงจะมีคำถามต่อว่า "เลนติเซล ทำหน้าที่อะไรแล้วมีประโยชน์ต่อพืชอย่างไร?" ลองตอบคำถามดูก่อนไหม ก่อนที่จะอ่านคำอธิบายต่อไป

 
                    เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณเลนติเซลจะแตกต่างจากเนื้อเยื่ออื่นๆ โดยเซลล์จะเรียงตัวอยู่หลวมๆ มีช่องว่างระหว่างระหว่างเซลล์มากและเซลล์มีผนังบางไม่มีซูเบอริน จึงสามารถทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแก๊สกับภายนอกได้อย่างสะดวกเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการหายใจของพืช แต่พืชบางชนิดอาจจะมีผนังหนาและเซลล์เรียงตัวกันแน่น เช่นสาลี่ แต่ก็ยังคงทำหน้าที่ได้เหมือนกับเลนติเซลในพืชชนิดอื่นๆ ความแตกต่างของเลนติเซลทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ด้วย 

                    "เลนติเซลเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?"
 
                    เลนติเซลอาจจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่การเจริญขั้นแรกของลำต้นหยุดการเจริญ หรืออาจจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเจริญในช่วงปลายของการเจริญขั้นแรกก็ได้ โดยเซลล์พาเรงคิมา (parenchyma) ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีผนังบางจะแบ่งตัวในแนวต่างๆ ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน คลอโรฟิลล์ที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ก็จะหายไป เซลล์จะเรียงตัวกันอย่างหลวมๆ เมื่อฝนตกน้ำจึงซึมเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายทำให้เซลล์ขยายตัวจนไปดันเซลล์ที่อยู่ติดกับเซลล์ในชั้นคอร์เทกซ์ และดันเซลล์ที่อยู่ในชั้นเอพิเดอร์มิสให้แตกออก จนกลายเป็นรอยแตก ซึ่งก็คือเลนติเซลนั่นเอง 

                    "ทำไมพืชถึงต้องมีเลนติเซลแล้วถ้าพืชไม่มีเลนติเซล จะมีชีวิตอยู่ได้ไหม?"
 
                    อย่างที่ทราบกันแล้วว่าหน้าที่ของเลนติเซลคือช่วยในการแลกเปลี่ยนแก๊ส ดังนั้นเนื้อไม้ของพืชที่ยังคงมีเซลล์ที่มีชีวิตอยู่ก็จะทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแก๊สได้เนื่องจากมีเลนติเซล ส่วนเนื้อไม้ที่มีเซลล์ที่ไม่มีชีวิตก็จะไม่สร้างเลนติเซลและนั้นไม่ได้หมายความว่าพืชที่ไม่มีเลนติเซลจะต้องตาย เช่นในพวกไม้เลื้อยถึงแม้ว่าจะไม่มีเลนติเซลแต่ก็ยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้เนื่องจากมีปากใบซึ่งทำหน้าที่ในการหายใจ ส่วนพืชที่มีเลนติเซลเราสามารถพบได้ในพืชที่มีการเจริญขั้นสองหรือพืชที่ลำต้นขยายขนาดทางด้านข้างได้ เพราะการที่มีเลนติเซลจะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนแก๊สบริเวณลำต้นให้มีมากขึ้น จากนี้ไปพวกเราลองสังเกตต้นไม้ที่อยู่ที่รอบๆ ตัวเราบ้างก็ได้ว่าต้นไม้อะไรบ้างที่มีเลนติเซล เพราะท่านอาจจะไม่เคยสังเกตต้นไม้เหล่านั้นมาก่อนเลยก็ได้ 

                    แล้วท่านเคยสังเกตผลแอปเปิลบ้างหรือไม่ว่า ผลแอปเปิลก็มีรูที่ใช้ในการหายใจเหมือนกับในลำต้นเช่นกัน แล้วท่านเคยเจอผลของพืชอะไรบ้างที่มีเลนติเซล ถ้าท่านเจอรูหายใจของพืชชนิดใดไม่ว่าจะเกิดที่ตำแหน่งใดก็ตาม ก็คงจะสามารถตอบคำถามที่เคยสงสัยได้อย่างแน่นอน แต่ต้องระวังนะว่าบริเวณลำต้นก็มีรูชนิดอื่นที่ไม่ใช่เลนติเซลเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นรอยแผลที่เกิดจากการหลุดร่วงของใบ (leaf scar) ก็ได้ เนื่องจากรอยแผลที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะคล้ายกับเลนติเซล ดังนั้นก่อนตัดสินใจว่าเป็นอะไรต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อน

 
Picture Ref.: "เลนติเซลที่ผลแอปเปิล" 
Banarasi S., Biology Dept., IPST




เอกสารอ้างอิง 

เทียมใจ คมกฤส. 2539. กายวิภาคของพฤกษ์. ภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.268 น. 
Esau, K. 1964. Plant Anatomy. Toppan Printing Company, Ltd. Japan. 344-602 pp. 

ว็บไซต์สำหรับการศึกษาเพิ่มเติม 

http://www.esb.utexas.edu/mauseth/weblab/webchap17bark/17.3-1.htm 
     เป็นเว็บไซต์ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับภายวิภาคของเนื้อไม้ รวมทั้งอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับเลนติเซล แถมมีภาพประกอบให้ดูด้วย 
http://www.microscopyu.com./galleries/confocal/index.html 
     ให้รายละเอียดของเลนติเซล 
http://saburchill.com/chapters/chap0025.html 
     อธิบายว่าพืชหายใจได้อย่างไร 
http://botany.ru.ac.za/virtual%20plant/glossary/lenticel.htm 
     ให้ความหมายของเลนติเซล 
http://www.botgard.ucla.edu/html/botanytextbooks/generalbotany/barkfeatures/lenticels.html 
     อธิบายลักษณะของเลนติเซล และยกตัวอย่างประกอบ 

                    หลายๆ คนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า  ทั้งมนุษย์และสัตว์ที่เราคุ้นเคยและใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน เช่น แมวหรือสุนัขนั้นต่างก็มีจมูกเป็นอวัยวะที่ใช้ในการหายใจ ซึ่งพืชเองก็มีการหายใจเช่นกัน แต่กระบวนการหายใจของพืชหลายคนคงทราบว่าจะเกิดขึ้นที่ใบ แล้วคงจะมีคำถามต่อว่า ลองตอบคำถามดูก่อนไหม ก่อนที่จะอ่านคำอธิบายต่อไป 

 24,328 total views,  2 views today