ต้นไม้สลัดใบ

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2545

ปัณรสี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา


                    ก่อนอื่นต้องขอโทษบรรดาท่านสมาชิกนักอ่านทั้งหลายที่บทความเรื่อง "ต้นไม้สลัดใบ" ฉบับนี้กว่าจะคลอดออกมาได้ ช่างยากช่างเย็นเสียจริงๆ จนเพื่อนๆ ทั้งในและนอกสาขาชีววิทยาต่างพากันล้อดิฉันว่า ต้นไม้ต้นนี้สลัดอย่างไรใบก็ไม่หลุดเสียที ซึ่ง ณ เวลานี้ และตรงนี้ ต้องขอโทษท่านนักอ่านทุกท่านด้วยค่ะ ที่ต้องรอกันนานสักนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะขอป่าวประกาศสักหน่อยนะคะว่าตอนนี้ต้นไม้ต้นนี้สลัดใบหลุดเรียบร้อยแล้วค่ะ ไม่ต้องรอกันอีกต่อไปแล้ว ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านต่างก็คงพากันโล่งใจกันเสียที ถ้าอย่างนั้นดิฉันขอเข้าเรื่องเลยนะคะ 

                  
   
oldleft      oldleft2
Picture Ref.: "ใบแก่ของต้นหูกวาง" by B. Sanitwong na-ayuthya, Biology Dept., IPST


                    ในกรุงเทพฯ ช่วงหน้าหนาวที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะมีช่วงระยะเวลาที่สั้น แต่หลายคนคงจะสัมผัสได้ถึงไอเย็นนั้น และคงจะสังเกตเห็นว่าต้นไม้เองก็มีปรากฏการณ์ตอบสนองต่อความเย็นเช่นเดียวกัน แล้วเมื่อดิฉันได้ทอดสายตาออกไปนอกหน้าต่าง ก็พบว่าต้นหูกวางที่ยืนต้นอยู่ฝั่งตรงข้ามก็เริ่มที่จะทิ้งใบ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น หลายคนคงจะตอบคำถามนี้ได้ แต่คงมีอีกหลายคนที่กำลังหาคำตอบนี้อยู่ ซึ่งตัวดิฉันเองต้องยอมรับว่าเป็นประเภทหลังและเมื่อได้รับคำตอบแล้ว ก็เลยอยากที่จะให้หลายๆ คนที่สนใจเรื่องพืชได้ทราบไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นเรามาเริ่มทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันนะคะ 

                    ก่อนอื่นต้องขอนำเสนอคำศัพท์บางคำที่เกี่ยวกับเรื่องการหลุดร่วงของใบเพื่อเป็นการทบทวน ท่านใดที่เคยคุ้นๆ กับคำศัพท์เหล่านี้ เมื่อได้อ่านแล้วก็คงจะต้องร้องอ๋อกันอย่างแน่นอน 
 

                    การเสื่อมตามอายุ (senescence) หมายถึง ภาวะที่เมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช เช่น ใบ ผล หรือ ดอก มีอายุแก่เต็มที่และพร้อมที่จะหลุดร่วงจากกิ่งหรือลำต้น

 

                    บริเวณการร่วง (abscission zone) หมายถึง บริเวณส่วนโคนของใบ ผล ดอก หรืออาจจะเป็นส่วนอื่นๆ ของพืช ซึ่งในบริเวณที่มีการหลุดร่วงนี้จะประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อ abscission layer (คือชั้นของเซลล์ที่เกิดการหลุดร่วง) และ protective layer (คือชั้นของเซลล์ที่ช่วยในการป้องกันบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการร่วงของใบหรือส่วนอื่นๆ)

 

                    รอยแผลใบ (leaf scar) หมายถึง ร่องรอยของบาดแผลจากการหลุดร่วงของใบบริเวณลำต้นหรือกิ่ง โดยปกติใบจะติดอยู่ที่ต้นประมาณ 1-5 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช เมื่อใบหลุดร่วงก็จะเห็นเป็นร่องรอยของแผลนั้น เราสามารถเห็นรอยแผลนั้นได้ตามบริเวณข้อ และภายในของรอยแผลก็จะเห็นเป็นเนื้อเยื่อลำเลียง


                    หลังจากที่ได้รู้จักคำศัพท์บางคำแล้ว ต่อไปดิฉันก็จะขออธิบายเกี่ยวกับการหลุดร่วงของใบสักเล็กน้อย ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถนึกภาพตามไปด้วยก็ได้นะคะ แต่ถ้านึกไม่ออกเนื่องจากอากาศในช่วงนี้กำลังย่างเข้าหน้าฝนก็ขอแนะนำให้ดูภาพประกอบการบรรยายก็ได้คะ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น 
 

                    การร่วงของใบ  จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชั้นของ abscission layer จะเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีการเปลี่ยนจากแคลเซียมเพกเทดเป็นเพกทิน ซึ่งเป็นสารที่ละลายน้ำได้ทำให้มีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้คล้ายพวกเจลาทิน เซลล์จึงแยกออกจากกันและหลุดจากกันได้ ขั้นต่อไปเซลล์จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีสารบางชนิด เช่นแคลโลสมาสะสมในเซลล์ท่อลำเลียงอาหาร ส่วนในชั้นของ protective layer จะมีสารหลายชนิดเกิดขึ้นในผนังเซลล์ เช่นสารพวกออกซิน ช่วยให้การร่วงของใบอาจเกิดขึ้นช้าหรือเร็วก็ได้ สารเอทีลีนทำให้ใบหลุดร่วง และอีกประการหนึ่งคือใบที่ร่วงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีเอนไซม์บางชนิดที่ช่วยในการสลายผนังเซลล์ออก จนใบหลุดร่วงไปในที่สุด

1-3         

Picture Ref.: "abscission zone" from:http://www.lima.ohio-state.edu/biology/images/leafabs1.jpg
                    บริเวณที่เกิดการชราภาพและมีการหลุดร่วงนั้น สามารถจำแนกได้เป็น 4 แบบ ดังนี้


 

1-4

                                                                                                                      แก่ทั้งต้น                         ร่วงบริเวณปลาย                ร่วงเฉพาะใบและผล                   ร่วงเป็นลำดับขั้น

                                                                                                                        บริเวณที่แก่ชราและหลุดร่วง
                                                                                                                        บริเวณที่เริ่มแก่ลำดับถัดไป 
                                                                                                                        บริเวณที่แก่ลำดับต่อๆ ไป
                                                                                                                        บริเวณที่มีชีวิตและยังคงอยู่
                                                                                                                        บริเวณส่วนของผล


                    หลังจากใบเก่าร่วงหล่นไปได้ไม่นาน หลายๆ ท่านก็คงทราบว่าในไม่ช้าก็จะมีใบใหม่เกิดขึ้นมา ซึ่งการเกิดใบใหม่นั้นเป็นผลเนื่องมาจากสารออกซินที่ส่งไปกระตุ้นเซลล์ที่อยู่บริเวณปลายยอดแบ่งตัวและขยายขนาดทำให้เกิดเซลล์ใหม่ๆ เกิดขึ้นทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไป ดังภาพใบที่เกิดขึ้นใหม่ของต้นหูกวางด้านล่างนี้ 

 

1-5

 

Picture Ref.: "ใบใหม่ของต้นหูกวาง และรอยแผลใบ" by B. Sanitwong na-ayuthya, Biology Dept., IPST

 

 1-6

 

Picture Ref.: "ต้นหูกวางที่มีใบใหม่เกิดขึ้นเต็มต้น" by B. Sanitwong na-ayuthya, Biology Dept., IPST


                    หลังจากที่ดิฉันได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของต้นหูกวางอย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆไป ก็พบว่าเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานประมาณ 7 วัน ปรากฏว่าทั่วทั้งต้นหูกวางก็มีใบใหม่เกิดขึ้นเต็มทั่วทั้งต้น ดิฉันเลยเก็บภาพสวยๆ มาฝากค่ะ และหลังจากนี้ไปใบใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ก็จะหลุดร่วงและมีใบใหม่รุ่นต่อๆ ไปเกิดขึ้นทดแทนหมุนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไป ก่อให้เกิดภาพที่สวยงามที่ชวนให้เราสนใจใคร่รู้ธรรมชาติสืบไปอย่างไม่มีวันเบื่อ 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. เทียมใจ คมกฤส. 2539. กายวิภาคของพฤกษ์. ภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 268 น.
  2. Moore, R., W.D. Clark, K.R. Stern and D. Vodopich. 1995. Botany. Wm. C. Brown      Publishers, America. 495- 496 pp.


เว็บไซต์สำหรับศึกษาเพิ่มเติม 

  1. http://www.worc.ac.uk/departs/envman/courses/BIO/L2/BIO206/scen.html 
    เรื่อง Senescence and Abscission ของ University College Worcester
  2. http://www.puc.edu/Faculty/Gilbert_Muth/botglosl.htm รวมภาพวาดและภาพถ่าย
  3. http://www.lima.ohio-state.edu/biology/images/leafabs1.jpg

 13,734 total views,  4 views today