พลานาเรียกับการกินอาหาร

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ

พลานาเรียกับการกินอาหาร

วิลาส รัตนานุกูล

          พลานาเรียเป็นสัตว์จำพวกหนอนตัวแบนชนิดหนึ่ง อยู่ใน Phylum Platyhelminthes ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน อาศัยอยู่ในน้ำจืดตามแหล่งน้ำในธรรมชาติที่มีน้ำค่อนข้างสะอาด เช่น คู คลอง หนอง บึง หรือสระน้ำในสวนสาธารณะ เป็นต้น   พลานาเรียมีสมมาตรด้านข้าง (bilateral symmetry)  ไม่มีโพรงลำตัว (noncoelom) บริเวณหัวมีตา 2 ตา เรียกว่า eyespot โดยส่วนตานี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนสีขาวใสมีเซลล์ประสาท และส่วนสีดำมีสารสีอัดกันแน่น ดังภาพที่ 1 ตาของพลานาเรียไม่ได้ใช้สำหรับรับภาพ แต่มีไว้สำหรับรับแสงและบอกความเข้มของแสงเท่านั้น ซึ่งเป็นผลทำให้พลานาเรียเคลื่อนที่หนีแสง  บริเวณด้านข้างส่วนหัวของพลานาเรียทั้ง 2 ด้านมีลักษณะคล้ายหู เรียกว่า auricle ทำหน้าที่รับความรู้สึกเกี่ยวกับการสัมผัสและสารเคมี ทำให้สามารถเคลื่อนที่เข้าหาหรือเคลื่อนที่ออกจากสิ่งเร้าได้ เช่น สามารถเลือกกินอาหารได้ หรือเคลื่อนที่หนีสารเคมีต่างๆ ได้ เป็นต้น

ภาพที่ 1 ลักษณะภายนอกของพลานาเรีย

          พลานาเรียมีระบบทางเดินอาหารที่ไม่สมบูรณ์ มีปาก (mouth) ซึ่งเป็นช่องเปิดออกสู่ภายนอกเพียงช่องเดียว อยู่บริเวณกึ่งกลางของลำตัวด้านล่าง (ventral) และมีคอหอย (pharynx) ที่มีลักษณะเป็นท่อยาวสามารถยืดและหดได้  ถัดจากคอหอยเป็นส่วนทางเดินอาหาร  เรียกว่าช่องแกสโทรวาสคิวลาร์ (gastrovascular cavity) ซึ่งมีลักษณะแตกแขนงคล้ายรูปตัว Y โดยส่วนของช่อง แกสโทรวาสคิวลาร์ที่ไปยังส่วนหัวเริ่มจากบริเวณที่เป็นคอหอยจนถึงบริเวณกึ่งกลางระหว่างตาทั้ง 2 ข้างจะมีเพียงแขนงเดียว ในขณะที่ช่องแกสโทรวาสคิวลาร์ที่ไปยังบริเวณส่วนหางจะมี 2 แขนงตามด้านข้างของลำตัว   ดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2 ทางเดินอาหารของพลานาเรีย

การศึกษาการกินอาหารของพลานาเรีย

          ในการศึกษาการกินอาหารของพลานาเรียเป็นการศึกษาเพื่อสังเกตทางเดินอาหารของพลานาเรีย สามารถทำได้โดยการให้พลานาเรียที่จะใช้ศึกษาอดอาหารประมาณ 2-3 วัน จากนั้นนำตับไก่สดมาสับละเอียดผสมกับผงถ่านคาร์บอนซึ่งมีสีดำเพื่อให้พลานาเรียกินเป็นอาหาร (ผงถ่านคาร์บอนมีขายตามร้านขายยาทั่วไป โดยมีชื่อทางการค้าว่า ผงถ่านคาร์บอน หรืออุลตราคาร์บอน (Ultracarbon) มีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ สีดำ ส่วนใหญ่จะขายเป็นแผง ดังภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 ผงถ่านคาร์บอน

          ใช้หลอดหยดดูดพลานาเรียใส่ในสไลด์หลุม ศึกษาการกินอาหารภายใต้กล้องจุลทรรศน์ใช้แสงแบบธรรมดา โดยนำตับบดที่ผสมผงถ่านคาร์บอนแล้วใส่ลงไปในสไลด์หลุมที่มีพลานาเรียอยู่ จะสังเกตเห็นพลานาเรียกินอาหารโดยการยื่นอวัยวะส่วนที่เรียกว่า คอหอย ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อยาวออกมาจากส่วนปากไปยังอาหาร ดังภาพที่ 4 จากนั้นพลานาเรียจะดูดอาหารเข้าสู่ทางเดินอาหารหรือช่องแกสโทรวาสคิวลาร์ผ่านทางช่องเปิดของคอหอย เมื่อกินอาหารเสร็จแล้วส่วนของคอหอยจะหดกลับเข้าไปในปาก

ภาพที่ 4 พลานาเรียยื่นส่วนคอหอยออกมากินอาหาร

          เมื่อพลานาเรียกินอาหารที่เป็นตับไก่ผสมผงถ่านคาร์บอนเข้าไปแล้วจะทำให้สามารถสังเกตทางเดินอาหารหรือส่วนของช่องแกสโทรวาสคิวลาร์ของพลานาเรียได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากการติดสีดำของผงถ่านคาร์บอนใน     ช่องแกสโทรวาสคิวลาร์ ซึ่งมีลักษณะแตกเป็นแขนงอยู่เต็มลำตัวของพลานาเรีย ดังภาพที่ 5

                                ก.                                                                       ข.

ภาพที่ 5 ทางเดินอาหารของพลานาเรียที่ติดสีดำจากผงถ่านคาร์บอน

                         ก. ก่อนกินตับไก่ผสมผงถ่านคาร์บอน                          ข. หลังกินตับไก่ผสมผงถ่านคาร์บอนทำให้เห็นทางเดินอาหารติดสีดำชัดเจน

          ในการหาตัวอย่างพลานาเรียมาศึกษา อาจหาได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ค่อนข้างใส สะอาด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หากครูผู้สอนต้องการเพาะเลี้ยงพลานาเรียไว้สำหรับศึกษาก็สามารถทำได้โดยหาภาชนะสำหรับเพาะเลี้ยง เช่น อ่างดินเผา โหลแก้ว เติมน้ำประปาที่ปราศจากคลอรีน (น้ำประปาที่ปล่อยทิ้งไว้อย่างน้อย 5-6 วัน) หรือน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แล้วใส่เศษกระถางแตก ก้อนหินหรือก้อนกรวดจากแม่น้ำ เพื่อใช้เป็นวัสดุเกาะหรือเป็นที่กำบังของพลานาเรีย จากนั้นใส่พลานาเรียลงไปเลี้ยง อาหารสำหรับเลี้ยงพลานาเรียคือ ไรแดง หรือลูกน้ำยุงขนาดเล็กที่ยังมีชีวิตใส่พอประมาณ หากใส่มากเกินไปจะทำให้ พลานาเรียกินไม่หมด และไรแดงมีอายุสั้นจะตายทำให้น้ำเน่าเสียได้ ให้อาหารสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หากไม่สามารถหาไรแดงได้ อาจทำได้โดยใช้ตับไก่สดสับพอแหลกแต่อย่าให้ขาดจากกัน ใช้ปากคีบคีบหย่อนลงไปบริเวณที่มีพลานาเรียอยู่ เมื่อพลานาเรียมากินแล้วให้คีบตับออกทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้น้ำเน่า  พลานาเรียจะตายได้

          ปัจจุบัน สาขาชีววิทยา สสวท. ได้มีการเพาะเลี้ยงพลานาเรีย และให้บริการแก่ครูผู้สอนรวมทั้งนักเรียน เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนชีววิทยา โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดใด โดยสามารถขอรับบริการได้ในวัน และเวลาราชการ (8.30 น.-16.30 น.) หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

          ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถขอรับตัวอย่างพลานาเรียได้ฟรี ที่สาขาชีววิทยา สสวท. เลขที่ 924 ถ.สุขมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กทม. 10110 โทร.02-3924021 ต่อ 1405-6

อ้างอิง 1.       ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน. กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของ สกสค., 2553. 2.       ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน. กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5. พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของ สกสค., 2554. 3.        Manuel del Cerro and Marilu DeCoste. Planaria : The day We Invited Them For Lunch. (Online) Available : http://www.microscopy-uk.org.uk/mag/indexmag.html?http://www.microscopy-uk.org.uk/mag/artsep09/mdc-planaria.html (Retrieved 14/01/2013) 4.       Bridgette Jenne. WHAT IS A PLANARIAN. (Online) Available :http://people.westminstercollege.edu/faculty/tharrison/emigration/planaria.htm (Retrieved 21/01/2013) 5.       Waste Extraction, the Invertebrate Way. (Online) Available :http://reefkeeping.com/issues/2005-08/rs/index.php (Retrieved 24/01/2013) 6.       Platyhelminthes. (Online) Available :http://skeletalphylum.weebly.com/platyhelminthes.html (Retrieved 24/01/2013) 7.       Flatworms: phylum Platyhelminthes. (Online) Available :http://www.deanza.edu/faculty/mccauley/6a-labs-flatworms-01.htm (Retrieved 25/01/2012)

 1,200 total views,  1 views today