เครื่องสำอาง สวยอย่างปลอดภัย

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ Uncategorized, กลุ่มเป้าหมาย, ครู, คลังความรู้, นักเรียน, บทความปี 2560, บุคคลทั่วไป

เครื่องสำอาง สวยอย่างปลอดภัย

ดร.สุนัดดา โยมญาติ

ผู้ชำนาญสาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษาตอนปลาย

                     ความสนใจในเรื่องความสวยงามนั้นมีมานานแล้วรวมทั้งความเชื่อที่ว่าความสวยงามนั้นสามารถเพิ่มขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากสุภาษิตที่ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” ซึ่งกล่าวถึงความสวยงามที่ได้จากการปรุงแต่ง ซึ่งการปรุงแต่งนั้นอาจจะเป็นการใช้เครื่องสำอางเพื่อเพิ่มสีสันให้ใบหน้าหรือการเลือกใส่เสื้อผ้าที่สวยงาม

                     ในปัจจุบัน การดูแลความงามมีเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับความงามและต้องการที่จะดูดีขึ้น ผู้ชายก็นิยมดูแลตัวเองให้ดูดีเช่นกัน จะเห็นว่ามีการผลิตเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายออกมาจำหน่ายมากขึ้น ความสนใจในเรื่องความสวยงาม สุขภาพ และการเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูดีนั้นเพิ่มมากขึ้นจากอดีต ทำให้ตลาดเครื่องสำอางของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) พบว่า ธุรกิจเครื่องสำอางไทยมีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท เฉพาะตลาดในประเทศมีมูลค่า 1.2 แสนล้านบาทและส่งออก 8 หมื่นล้านบาท (หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 – 9 มกราคม พ.ศ. 2559) ซึ่งนอกจากเครื่องสำอางจะช่วยเสริมแต่งให้ดูดีขึ้นแล้วยังต้องปลอดภัยต่อผู้ใช้ด้วย

                           เมื่อกล่าวถึงเครื่องสำอาง คนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีสีสันสำหรับใช้กับใบหน้าเพื่อความสวยงาม เช่น ลิปสติกสำหรับทาปาก อายแชโดว์สำหรับทาตา และบลัชออนสำหรับทาแก้ม ดังภาพที่ 1แต่จริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อทำความสะอาดร่างกาย เช่น สบู่ แชมพูสระผม และครีมนวดผม รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้กับส่วนภายนอกของร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น แป้ง ครีมทาผิว ยาสีฟัน และน้ำยาระงับกลิ่นกายก็จัดเป็นเครื่องสำอางเช่นเดียวกัน

ภาพที่ 1 เครื่องสำอางเพื่อความสวยงามเพิ่มสีสัน

เครื่องสำอางคืออะไร

   ผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายเป็นเครื่องสําอาง จะต้องเป็นไปตามคําจํากัดความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ เครื่องสําอาง พ.ศ. 2558 ซึ่งกําหนดไว้ว่า“เครื่องสําอาง” หมายความว่า

       1. วัตถุที่มุ่งหมายสําหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทําด้วยวิธีอื่นใด กับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ และให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏ หรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ นั้น ให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทิ่นต่างๆ สําหรับผิวด้วย ดังภาพที่ 2 แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย

       2. วัตถุที่มุ่งหมายสําหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสําอางโดยเฉพาะ หรือ

       3. วัตถุอื่นที่กําหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสําอาง

ภาพที่ 2 เครื่องสำอางชนิดต่างๆ

          เครื่องสำอางอาจมีได้หลายลักษณะ เช่น ครีม ของเหลว โฟม หรือผง ดังภาพที่ 3 และฉลากของเครื่องสำอางต้องมีลักษณะตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด เช่น ใช้ข้อความที่ตรงต่อความจริง ใช้ข้อความภาษาไทยและมีขนาดที่สามารถอ่านได้ชัดเจน รวมทั้งต้องระบุข้อความดังต่อไปนี้

– ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้า

– ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต กรณีที่ผลิตในประเทศ ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้า และชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต กรณีนำเข้า

– ปริมาณ วิธีใช้ ข้อแนะนำ คำเตือน เดือน ปีที่ผลิตและที่หมดอายุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต และชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิต

– ข้อความอื่นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ภาพที่ 3 เครื่องสำอางลักษณะต่างๆ

เครื่องสำอางปลอดภัยแค่ไหน

                         ในปัจจุบันมีเครื่องสำอางวางจำหน่ายจำนวนมาก แต่ก็มีข่าวว่าพบเครื่องสำอางปลอม เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ และเครื่องสำอางไม่ได้มาตรฐานจำนวนมากเช่นกัน อันตรายจากเครื่องสำอางอาจแบ่งได้เป็นอันตรายจากสารเคมีที่เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง อันตรายจากจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนทั้งจากกระบวนการผลิตและปนเปื้อนภายหลัง การระคายเคืองหรือการแพ้เครื่องสำอางที่อาจเกิดจากการใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานหรืออาจเกิดจากภาวะภูมิแพ้ที่เกิดจากการแพ้สารเคมีบางชนิดที่อยู่ในเครื่องสำอางซึ่งเกิดเฉพาะบางคนแม้ว่าเครื่องสำอางนั้นจะผลิตได้มาตรฐานก็ตาม

                         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสําอาง ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 114 ง ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ซึ่งประกาศวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางและมีบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขนั้น

              สารบางชนิดห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสําอาง เช่น ยาปฏิชีวนะ (ลำดับที่ 39) คลอรีน (ลำดับที่ 78) สารกัมมันตรังสี (ลำดับที่ 293) สารบางชนิดห้ามใช้ แต่มีข้อยกเว้น เช่น

             – ปรอท (ลำดับที่ 221) Mercury (CAS No. 7439-97-6) and its compounds ยกเว้น

               (1) วัตถุที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามความในมาตรา 6 (3) เกี่ยวกับชื่อปริมาณ และเงื่อนไขของวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง

               (2) การปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้ไม่เกิน 1 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก (1 ppm หรือ 1 mg/kg)

             – ไฮโดรควิโนน (ลำดับที่ 1243X Hydroquinone (CAS No. 123-31-9) ยกเว้น วัตถุที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามความในมาตรา 6 (3) เกี่ยวกับชื่อ ปริมาณ และเงื่อนไขของวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง

              สารบางชนิดไม่อยู่ในรายชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสําอาง ซึ่งสามารถใช้ได้แต่ต้องไม่เกินปริมาณและเงื่อนไขที่กำหนด เช่น กรดบอริก ที่ใช้เป็นสารกันเสียผสมในแป้งฝุ่นโรยตัว กำหนดให้ต้องใช้ไม่เกินร้อยละ 3 โดยน้ำหนัก แต่ห้ามใช้ในแป้งฝุ่นโรยตัวสำหรับเด็ก

             อย. ได้กำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดที่จะผลิตหรือนำเข้าเพื่อขาย ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องจดแจ้ง ซึ่งเป็นการยื่นรายละเอียดต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ อย. ตรวจสอบ ได้แก่

        – ชื่อการค้าของผลิตภัณฑ์

        – ชื่อสินค้า

        – ประเภทของเครื่องสำอางและวัตถุประสงค์ในการใช้

        – ส่วนผสมทั้งหมด เรียงลำดับจากความเข้มข้นมากไปน้อย และระบุเปอร์เซ็นสำหรับส่วนผสมที่ อย. กำหนดให้เป็นสารควบคุมปริมาณ (สารที่ อย. จำกัดเปอร์เซ็นที่อนุญาตให้ใส่

           เมื่อผ่านการตรวจสอบข้อมูลที่ยื่นแล้ว อย.จะอนุมัติเลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก ให้แก่ผลิตภัณฑ์นั้นๆ อย่างไรก็ตามการจดแจ้งสูตรนั้น อย. ไม่ได้ตรวจส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ เป็นเพียงการยื่นข้อมูลส่วนประกอบ และปริมาณที่ใส่เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ ดังนั้นครีมที่ผ่านการจดแจ้งและมีเลขที่จดแจ้ง ก็อาจจะไม่ปลอดภัยทั้งหมด หรืออาจมีการใส่สารต้องห้ามในภายหลัง ดังนั้นถ้าใช้ผลิตภัณฑ์ใดแล้วมีอาการแพ้ก็ควรหยุดใช้ทันที หรือถ้าไม่มั่นใจในสินค้าว่าเป็นของจริงหรือไม่ สามารถโทรสอบถามได้ที่กองเครื่องสำอาง นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีเลขจดแจ้ง ก็ไม่ใช่การรับรองว่าจะไม่เกิดการแพ้เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์นั้น เนื่องจากภาวะภูมิแพ้อาจจะขึ้นกับแต่ละบุคคล

จุลินทรีย์ปนเปื้อนในเครื่องสำอางได้อย่างไร

                          การปนเปื้อนด้วยจุลินทรีย์ในเครื่องสำอางอาจเกิดขึ้นก่อนวางจำหน่าย เช่น จากวัตถุดิบ ระหว่างกระบวนการผลิต จากภาชนะบรรจุ จุลินทรีย์สามารถเจริญได้ในเครื่องสำอางโดยเฉพาะเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำและน้ำมัน ซึ่งจุลินทรีย์สามารถเจริญเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตามในกระบวนการผลิตเครื่องสำอางจะมีการตรวจสอบปริมาณจุลินทรีย์เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กําหนดลักษณะของเครื่องสําอางที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือขาย พ.ศ.2559 ให้ห้ามผลิต นําเข้า หรือขายเครื่องสําอางที่มีคุณสมบัติทางจุลชีววิทยาดังต่อไปนี้

                    – เครื่องสําอางที่ตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ดังต่อไปนี้ Pseudomonas aeruginosa , Staphylococcus aureus, Candida albicans และกรณีที่เป็นเครื่องสำอางผสมสมุนไพรจะต้องไม่พบ Clostridium spp.

                   – เครื่องสําอางที่ใช้บริเวณรอบดวงตา เครื่องสําอางที่สัมผัสเยื่อบุอ่อน และเครื่องสําอางสําหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ที่ตรวจพบจํานวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์ และรา ที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศ (total aerobic plate count) มากกว่า 500 โคโลนีต่อกรัมหรือลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป

                   – เครื่องสําอางอื่นนอกเหนือจากที่กําหนดไว้ด้านบนที่ตรวจพบจํานวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์ และรา ที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศ (total aerobic plate count) มากกว่า 1,000 โคโลนีต่อกรัมหรือลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป

                     เมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้วจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติทางจุลชีววิทยาให้เป็นไปตามข้อกำหนด ก่อนจะวางจำหน่าย ภาชนะบรรจุที่ใช้ใส่เครื่องสำอางต้องห่อหุ้มเครื่องสำอางอย่างมิดชิด สามารถปกป้องการปนเปื้อนจุลินทรีย์จากภายนอกได้ นอกจากนี้อาจมีการปิดผนึกภาชนะบรรจุเครื่องสำอางเพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีการเปิดก่อนที่ถึงมือผู้บริโภค เช่น การหุ้มด้วยพลาสติกและการใช้วัสดุต่างๆ ปิดปากหลอดหรือปากกระปุก ดังภาพที่ 4

ภาพที่ 4 เครื่องสำอางที่ปิดผนึกภาชนะบรรจุแบบต่างๆ

                 โดยทั่วไปเครื่องสำอางที่ยังไม่เปิดใช้จะมีอายุหลังผลิต 2 – 3 ปี เรียกว่าอายุผลิตภัณฑ์ (shelf life) ซึ่งฉลากเครื่องสําอางต้องระบุเดือนและปีที่ผลิต (MFG. ; manufacture date) และเดือนปีที่หมดอายุ (EXP. ; expiration date) หรือบางผลิตภัณฑ์อาจจะระบุเป็นวัน เดือน ปี และครั้งที่ผลิตด้วย ดังภาพที่ 5

ภาพที่ 5 ฉลากเครื่องสำอางที่ระบุเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ

                        เครื่องสำอางที่ผ่านมาตรฐานการผลิตและยังไม่หมดอายุเมื่อเปิดใช้แล้วจะมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ที่เกิดจากผู้ใช้เครื่องสำอางนั้น ทำให้จุลินทรีย์จากภายนอกปนเปื้อนลงไปในเครื่องสำอางได้ ทั้งจากอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แปรง ฟองน้ำ รวมทั้งการใช้นิ้วมือสัมผัสกับเครื่องสำอาง การใช้เครื่องสำอางสัมผัสกับส่วนต่างๆ เช่น ลิปสติกทาปาก มาสคาราปัดขนตา คอนซิลเลอร์แตะที่ผิวหนัง แม้แต่การเปิดภาชนะบรรจุก็ทำให้จุลินทรีย์จากอากาศลงไปปนเปื้อนในเครื่องสำอางได้เช่นกัน ดังภาพที่ 6 เมื่อเวลาผ่านไปจุลินทรีย์ที่เข้าไปปนเปื้อนเหล่านั้นก็จะเพิ่มจำนวนขึ้น

ภาพที่ 6 การปนเปื้อนจุลินทรีย์ในเครื่องสำอางด้วยวิธีการต่างๆ

                          ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่บรรจุในภาชนะที่มีปริมาณมาก เมื่อเปิดใช้แล้วจะใช้เวลานานกว่าจะหมดทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนระหว่างการใช้งาน เมื่อมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์จะทำให้ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพเร็วและมีลักษณะที่แตกต่างไปจากเดิมทั้งสมบัติด้านเคมีและกายภาพ เช่น เหลวหรือเหนียวกว่าเดิม สีหรือกลิ่นเปลี่ยน เกิดการตกตะกอน หรือมีการแยกส่วนของน้ำและน้ำมัน การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เสื่อมสภาพนั้นอาจทำให้ได้รับอันตรายจากจุลินทรีย์ได้

                         จากพฤติกรรมต่างๆ ดังที่กล่าวมา จึงเป็นไปได้ยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้จุลินทรีย์ลงไปปนเปื้อนในเครื่องสำอาง จึงต้องมีการใส่สารกันเสียลงไปเพื่อทำลายและควบคุมไม่ให้จุลินทรีย์เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอายุการเก็บได้นาน

ควบคุมไม่ให้จุลินทรีย์เพิ่มจำนวนมากได้อย่างไร

                           ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ได้ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ การปนเปื้อนเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนจำหน่ายในขั้นตอนการผลิตและบรรจุและปนเปื้อนหลังจำหน่ายเมื่อมีการเปิดใช้ เพื่อควบคุมไม่ให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตมากเกินจนเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ จึงมีการใส่สารกันเสียลงในเครื่องสำอางเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ สารกันเสียที่ใช้มีหลายชนิดซึ่งมีการกําหนดวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสําอาง เช่น Butylparaben (อัตราส่วนสูงสุดที่ให้ใช้ร้อยละ 0.14 ซึ่งห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วไม่ต้องล้างออก สําหรับการใช้ในบริเวณที่สัมผัสผ้าอ้อมสําหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี) 4-Hydroxybenzoic acid (อัตราส่วนสูงสุดที่ให้ใช้ร้อยละ 0.4) และ Methylparaben (อัตราส่วนสูงสุดที่ให้ใช้ร้อยละ 0.8)

                          ในประกาศวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางและมีบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขนั้น มีรายชื่อสาร paraben จำนวน 5 รายการ ได้แก่ Isopropylparaben Isobutylparaben Phenylparaben Benzylparaben และ Pentylparaben (ลำดับที่ 1383 -1387) เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่ามีผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนเอสโตรเจนในสัตว์ทดลอง รวมถึงไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินความปลอดภัยของการใช้สารกลุ่มนี้ในมนุษย์ จึงห้ามใช้เป็นสารกันเสียในการผลิตเครื่องสําอาง

                          แม้ว่าในเครื่องสำอางจะใส่สารกันเสียแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ควรเพิ่มการปนเปื้อนจุลินทรีย์ลงไปในเครื่องสำอางจากพฤติกรรมต่างๆ เช่น การใส่น้ำลงไปในมาสคาราหรือเครื่องสำอางอื่นๆ การเก็บเครื่องสำอางไว้ในที่ร้อน เนื่องจากจุลินทรีย์บางชนิดจะเจริญได้ดีในที่ร้อนทำให้เจริญได้เร็วเกินกว่าที่สารกันเสียจะควบคุมปริมาณได้ รวมทั้งความร้อนอาจทำให้สารกันเสียเสื่อมสภาพทำให้จุลินทรีย์เจริญได้ดีขึ้น นอกจากนี้การใช้มือสัมผัสกับเครื่องสำอาง เช่น การใช้นิ้วมือป้ายครีมที่อยู่ในกระปุกก็เป็นการเพิ่มการปนเปื้อนเช่นกัน จึงควรจะล้างมือก่อนหรือใช้ไม้พายขนาดเล็กตักครีม ดังภาพที่ 7 นอกจากนี้เมื่อนำครีมหรือของเหลวออกมาจากภาชนะบรรจุแล้ว ไม่ควรใส่ส่วนที่เหลือจากการใช้ใส่กลับลงไปในกระปุก

ภาพที่ 7 พฤติกรรมที่ควรทำและไม่ควรทำเพื่อลดการปนเปื้อนด้วยจุลินทรีย์

เมื่อเปิดเครื่องสำอางใช้แล้ว สามารถใช้ไปจนถึงวันหมดอายุได้หรือไม่

                                ดังที่ทราบมาแล้วว่า เมื่อเปิดใช้แล้วจุลินทรีย์จากภายนอกสามารถปนเปื้อนลงไปในเครื่องสำอางได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้นจึงมีสัญลักษณ์เพื่อบอกระยะเวลาว่าหลังจากเปิดแล้วจะสามารถใช้เครื่องสำอางนั้นได้นานเท่าใด เรียกว่าสัญลักษณ์ period-after-opening หรือ PAO เป็นตัวเลขหน้าตัวอักษร M และอยู่ภายในลัญลักษณ์กระปุกเปิดฝา เป็นตัวระบุอายุเครื่องสำอางหลังเปิดใช้ครั้งแรก เช่น ถ้าเป็น 12M หมายถึง หลังจากเปิดแล้วสามารถใช้เครื่องสำอางนี้ภายในระยะเวลา 12 เดือน ในผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอาจมีระยะเวลาหลังเปิดใช้ที่แตกต่างกัน จึงอาจเห็นตัวเลขเป็น 6M 18M หรือ 24M ก็ได้ ซึ่งตัวเลขหน้าตัว M หมายถึงจำนวนเดือนที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์หลังเปิดใช้ ดังภาพที่ 8

ภาพที่ 8 สัญลักษณ์ PAO ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ

                              ถ้าเปิดภาชนะบรรจุแล้วควรใช้เครื่องสำอางให้หมดภายในระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตามถ้าบนฉลากไม่มี สัญลักษณ์ PAO ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเปิดใช้แล้วจะสามารถใช้ได้จนถึงวันหมดอายุ เครื่องสำอางต่างๆ จะมีระยะเวลาหลังเปิดใช้โดยประมาณ ดังภาพที่ 9 เช่น

ภาพที่ 9 ระยะเวลาหลังเปิดใช้โดยประมาณของเครื่องสำอางต่างๆ

                      หลังจากเปิดแล้วควรใช้เครื่องสำอางให้หมดภายในระยะเวลาที่กำหนด แม้ว่าจะยังไม่ถึงวันหมดอายุที่อยู่บนฉลากก็ตาม เช่น เครื่องสำอางผลิตเดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 อายุผลิตภัณฑ์ 3 ปี จึงหมดอายุเดือนตุลาคม ค.ศ. 2016 แต่มีสัญลักษณ์ PAO ที่บอกว่าผลิตภัณฑ์มีอายุหลังเปิดใช้ 12 เดือน ดังภาพที่ 10 ก. ดังนั้นถ้าเปิดใช้เดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 ก็สามารถใช้ได้ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2014 หลังจากนั้นไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วแม้ว่าจะยังไม่หมดอายุก็ตาม สามารถเขียนแผนภาพได้ดังภาพที่ 10 ข. แต่ถ้าวันหมดอายุมาถึงก่อนระยะเวลาที่กำหนด เช่น เปิดใช้เดือนมีนาคม ค.ศ. 2016 แต่เมื่อถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 2016 ก็ควรทิ้งเครื่องสำอางเช่นกัน แม้ว่าจะมีอายุหลังเปิดใช้แค่ 8 เดือน ไม่ควรใช้ต่อไปเนื่องจากเครื่องสำอางนั้นหมดอายุแล้ว สามารถเขียนแผนภาพได้ดังภาพที่ 10 ค.

ภาพที่ 10 ระยะเวลาการใช้เครื่องสำอางเมื่อพิจารณาจากอายุผลิตภัณฑ์และอายุหลังเปิดใช้ครั้งแรก

ที่มาภาพ : ดัดแปลงจาก http://checkcosmetic.net/cosmetic-and-perfume-shelf-life-faq

นอกจากสารเคมีและจุลินทรีย์แล้วต้องมีการตรวจสอบอะไรอีกบ้าง

                           เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายจะต้องมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้จึงต้องมีการทดสอบกับสัตว์ทดลองมาก่อนที่จะนำมาใช้กับมนุษย์ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 4462 พ.ศ. 2555 ได้กำหนดคุณลักษณะที่ต้องการของเครื่องสำอาง เมื่อทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนังต้องมีดัชนีการระคายเคืองต่อผิวหนังต้องไม่เกิน 1 โดยการใช้สัตว์ทดลองเป็นกระต่ายขาวสุขภาพดี สายพันธุ์นิวซีแลนด์ไวต์ เพศผู้หรือเพศเมีย น้ำหนักไม่น้อยกว่า 2 กิโลกรัม จำนวน 3 ตัว ต่อการทดสอบ 1 ตัวอย่าง การใช้สัตว์ทดลองเป็นกระต่ายเนื่องจากมีผิวหนังที่ค่อนข้างตอบสนองไวกว่าสัตว์ชนิดอื่น และมีผิวหนังที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด

                            เครื่องสำอางบางชนิดอาจมีการใช้สัตว์ทดลองอื่นๆ เช่น หนู แมว หรือสุนัข หรืออาจจะมีการทดสอบอื่นๆ นอกจากทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น เครื่องสำอางที่ใช้กับดวงตาจะต้องมีการทดสอบการระคายเคืองต่อดวงตา โดยด้วยการทาหรือหยอดสารเข้าไปในตาของกระต่าย อย่างไรก็ตามมีเครื่องสำอางบางยี่ห้อที่ไม่ทดลองในสัตว์ เนื่องจากใช้สารที่เคยผ่านการทดสอบกับสัตว์มาก่อนแล้วและมีการยอมรับแล้วว่าส่วนผสมเหล่านี้ปลอดภัยสำหรับมนุษย์ จึงไม่จำเป็นต้องทดสอบอีก โดยที่ฉลากของเครื่องสำอางจะมีรูปกระต่ายที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนี้ไม่ได้ใช้สัตว์ในการทดสอบ ซึ่งอาจมีรูปแบบสัญลักษณ์ได้หลายแบบขึ้นกับองค์กรที่รับรอง ดังภาพที่ 11

ภาพที่ 11 สัญลักษณ์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ได้ใช้สัตว์ในการทดลอง

                              อย่างไรก็ตามแม้ว่าเครื่องสำอางนั้นจะผลิตได้มาตรฐานไม่มีสารอันตราย  ไม่พบจุลินทรีย์ก่อโรค และผ่านการทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนัง แต่ผู้ใช้ก็อาจแพ้สารบางอย่างที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางซึ่งเป็นภาวะภูมิแพ้ที่เกิดเฉพาะบางคน เมื่อจะใช้เครื่องสำอางชนิดใหม่จึงควรทดสอบก่อนโดยอาจใช้วิธีง่ายๆ เช่น ทาเครื่องสำอางปริมาณเล็กน้อยที่บริเวณท้องแขน ทิ้งไว้ 24 – 48 ชั่วโมง ถ้ามีอาการบวมแดงหรือคันก็ไม่ควรใช้เครื่องสำอางนั้น หรือถ้าทดสอบแล้วไม่แพ้ แต่เมื่อใช้แล้วมีอาการผิดปกติก็ต้องหยุดใช้เครื่องสำอางนั้นทันที อย่างไรก็ตามแม้ว่าเครื่องสำอางนั้นจะผลิตได้มาตรฐานไม่มีสารอันตราย  ไม่พบจุลินทรีย์ก่อโรค และผ่านการทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนัง แต่ผู้ใช้ก็อาจแพ้สารบางอย่างที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางซึ่งเป็นภาวะภูมิแพ้ที่เกิดเฉพาะบางคน เมื่อจะใช้เครื่องสำอางชนิดใหม่จึงควรทดสอบก่อนโดยอาจใช้วิธีง่ายๆ เช่น ทาเครื่องสำอางปริมาณเล็กน้อยที่บริเวณท้องแขน ทิ้งไว้ 24 – 48 ชั่วโมง ถ้ามีอาการบวมแดงหรือคันก็ไม่ควรใช้เครื่องสำอางนั้น หรือถ้าทดสอบแล้วไม่แพ้ แต่เมื่อใช้แล้วมีอาการผิดปกติก็ต้องหยุดใช้เครื่องสำอางนั้นทันที  นอกจากนี้ในการเลือกซื้อเครื่องสำอางทุกครั้งควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้และต้องแน่ใจว่ามีการผลิตที่ได้มาตรฐานโดยพิจารณาจากฉลากของเครื่องสำอางที่มีลักษณะตามที่กำหนดดังที่เขียนไว้ข้างต้นแล้ว  และมีภาชนะบรรจุที่สมบูรณ์ไม่แตกหักหรือมีการเปิดใช้มาก่อน

รายการอ้างอิง

เครื่องสำอางบนความเจ็บปวดของกระต่าย. (online). Avaiable: http://www.jr-rsu.net/article/957. (Retrieved 05/08/2016).

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสําอาง. (online). Avaiable: http://e-cosmetic.fda.moph.go.th/frontend/theme_4/view_ information.php?Submit=Clear&ID_Inf_Nw_Manager=00000006500. (Retrieved 01/08/2016).

พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 86ก วันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2558. (online). Avaiable: http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ nla2557/ law86-080958-5.pdf. (Retrieved 05/08/2016).

รายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์(online). Avaiable: http://www.dmsc.moph.go.th/userfiles/files/cosmetics.pdf. (Retrieved 05/08/2016).

หลักเกณฑ์การพิจารณาการจดแจ้งเครื่องสำอาง. (online). Avaiable: http://www.fda.moph.go.th/News59/Cosmetic/cosmeticmanual151058.pdf. (Retrieved 01/08/2016).

อันตรายจากการใช้เครื่องสำอาง. (online). Avaiable: http://webnotes.fda.moph.go.th/consumer/csmb/csmb2544.nsf/e6dc9e4bbeacd7ba47256e60003a76c6/4a104ee373c04e5ec7256a1e0017885c?OpenDocument

อันตรายจากสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง. (online). Avaiable: http://med.mahidol.ac.th/ramapharmacy/th/knowledge/general/04072016-2055-th

Cosmetics shelf life. (online). Avaiable:  http://checkcosmetic.net/cosmetic-and-perfume-shelf-life-faq/. (Retrieved 05/08/2016).

Testing the Physical Characteristics of Cosmetics. (online). Avaiable: http://www.azom.com/ article.aspx? ArticleID=12477. (Retrieved 05/08/2016).

     

 40,333 total views,  4 views today