พืชวงศ์กล้วยไม้

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ ครู, ชีววิทยา, นักเรียน, บทความปี 2560, บุคคลทั่วไป, วิทยาศาสตร์, สิ่งมีชีวิต (Living things)

พืชวงศ์กล้วยไม้

นายชรินทร์ เกษตรลักษมี
นักวิชาการประจำหอพฤกษศาสตร์ มูลนิธิสวนหลวง ร.๙

                    กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ Orchidaceae ทั่วโลกพบประมาณ 796 สกุล 19,000 ชนิด ในประเทศไทยพบกล้วยไม้พื้นเมืองประมาณ 167 สกุล 1,140 ชนิด (อบฉันท์, 2549) โดยกล้วยไม้มีลักษณะทางสัญฐานวิทยา คือ
– ลำต้น กล้วยไม้มีการเจริญเติบโตสองแบบคือ กลุ่มที่มีการเจริญด้านปลาย (monopodial) เช่น สกุลกุหลาบ (Aerides) สกุลสามปอย (Vanda) เป็นต้น และกลุ่มที่มีการเจริญด้านข้าง (sympodial) ลำต้นจะมีลักษณะคล้ายเหง้า เจริญทอดขนานไปกับพื้นหรือตามกิ่งไม้ เช่น สกุลหวาย (Dendrobium) เป็นต้น
– ราก เกิดที่โคนต้นหรือตามข้อ มีหน้าที่ยึดเกาะหรือช่วยสังเคราะห์ด้วยแสง มักมีเนื้อเยื่อสีขาวคล้ายฟองน้ำเรียกว่า วีลาเมน (velamen) ห่อหุ้มไว้ หรือบางชนิดมีรากสะสมอาหารแบบมันฝรั่ง (tuberous root)
– ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงแบบสลับ เรียงแบบเวียน หรือบางชนิดมีใบเดียว และในบางชนิดใบอาจลดรูปไป
– ช่อดอก เป็นช่อเชิงหลั่น (corymb) ช่อกระจะ (raceme) ช่อแยกแขนง (panicle) หรือดอกเดี่ยว ออกที่ด้านข้างลำต้น ทั้งจากส่วนเหง้า หัว ข้อของลำลูกกล้วย หรือออกที่ปลายยอด
– ดอก สมบูรณ์เพศ สมมาตรด้านข้าง ขณะที่ดอกกำลังเจริญก้านดอกและรังไข่จะบิดตัวประมาณ 180 องศา (resupinate) ทำให้กลีบปากอยู่ด้านล่างของดอก ยกเว้นกล้วยไม้บางชนิดที่ก้านดอกและรังไข่ไม่บิดตัวโดยทั่วไปกล้วยไม้มี 6 กลีบ ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบดอก 3 กลีบ และมีเส้าเกสร เป็นแท่งตรงกลางดอก เป็นส่วนรวมของเกสรเพศผู้และเพศเมีย (ยกเว้นในวงศ์ย่อย Apostasioideae ที่เกสรเพศผู้และเพศเมียแยกจากกัน) ที่ปลายเส้าเกสรมีกลุ่มเรณู (pollinia) ซึ่งมีตั้งแต่ 2 ถึง 8 กลุ่ม ในบางสกุลกลุ่มเรณูจะมีกลุ่มเรณูย่อย ซึ่งแต่ละสกุลจะมีความแตกต่างกัน และบางสกุลกลุ่มเรณูอาจจะมีก้านกลุ่มเรณูด้วย (วรชาติ, 2558)
ที่มา: Vermeulen (1991)
               กล้วยไม้แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันเกี่ยวกับกลุ่มเรณู รูปร่างลักษณะ ขนาดและสีของดอก รูปร่างลักษณะของใบและลำต้น ซึ่งลักษณะทางสัณฐานวิทยาเหล่านี้ นำมาใช้ในการจำแนกวงศ์กล้วยไม้ออกเป็นวงศ์ย่อย (subfamily) ที่แตกต่างกัน ซึ่งในที่นี้ใช้ตามระบบการจำแนกของ Dressler (1993) แบ่งพืชวงศ์กล้วยไม้เป็น 5 วงศ์ย่อย ตามรูปวิธานระบุวงศ์ย่อย ดังนี้
วงศ์ย่อย Apostasioideae
               เป็นกล้วยไม้ขึ้นบนดิน มีรากค้ำ ป่อง ลำต้นตั้ง ใบเรียงเวียน แผ่นใบพับจีบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอด ช่อตั้ง ดอกสมมาตรด้านข้าง กลีบเลี้ยง 3 กลีบ แยกกัน กลีบดอก 2 กลีบ แยกกัน กลีบปากเหมือนกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เส้าเกสรตั้งหรือโค้งงอ เกสรเพศผู้ 3 หรือ 2 เกสร ก้านชูอับเรณู เชื่อมติดกับก้านยอด
เกสรเพศเมีย และส่วนปลายติดทางด้านหลังหรือติดที่โคนอับเรณู อับเรณูหันเข้า มี 2 ช่อง เรณูเป็นผง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มหรือรูปพีระมิด ผลแบบผลแห้งแตก มี 2-3 พู ผนังบาง ในประเทศไทยพบ 2 สกุล คือ สกุลตานขโมย (Apostasia) และสกุล Neuwiedia
วงศ์ย่อย Cypripedioideae
เป็นกล้วยไม้ขึ้นบนดิน ขึ้นบนหิน หรืออิงอาศัยอยู่บนต้นไม้ ลำต้นสั้น ใบ 2-7 ใบ อวบน้ำ เรียงสลับ ช่อดอกออกที่ยอด ดอกใหญ่ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบเลี้ยงบนใหญ่ กลีบเลี้ยงข้างเชื่อมติดกันเป็นกลีบเดียว กลีบดอก ยาวกว่ากลีบเลี้ยง กลีบปากส่วนปลายเป็นถุงคล้ายรองเท้าแตะ เกสรเพศผู้ 3 เกสร มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์เพศ 2 เกสร เชื่อมติดกับโคนเกสรเพศเมีย เกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์เพศ 1 เกสร เป็นแผ่นรูปค่อนข้างกลมหรือรูปคล้ายไต โค้งลงมาบังเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์เพศทั้ง 2 เกสรและเกสรเพศเมีย เกสรเพศเมียอยู่ด้านหน้าเส้าเกสร เป็นแผ่นรูปกลม หนา ผลมีเมล็ดจำนวนมาก ในประเทศไทยพบ 1 สกุล คือ สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum)
วงศ์ย่อย Orchidoideae
เป็นกล้วยไม้ขึ้นบนดิน พบน้อยมากที่เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย บางชนิดเป็นกล้วยไม้กินซาก ลำต้นใต้ดินเป็นหัวหรือเหง้า ออกเดี่ยวหรือออกเป็นกลุ่ม อาจมีขนหรือเกลี้ยง อวบน้ำ ใบ 1 ถึงหลายใบ เรียงเวียนที่โคนหัวเทียมหรือตามลำต้น ร่วงง่าย ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือช่อดอกแบบช่อกระจะ ตั้งหรือโค้งลง ก้านดอกสั้นหรือไม่มี กลีบเลี้ยงบนแยกหรือเชื่อมติดกับกลีบดอกเป็นถุงอยู่เหนือเส้าเกสร กลีบเลี้ยงข้างแยกกัน หรือเชื่อมติดกัน โคนเชื่อมติดกับคางเส้าเกสร กลีบดอกปลายเรียบหรือเป็น 2 แฉก ส่วนมากเชื่อมติดกับกลีบเลี้ยงบน กลีบปากโค้งลง เป็นแฉก 3 หรือ 5 แฉก ปลายเรียบ โคนมีต่อม 2 ต่อม และยื่นเป็นเดือย เส้าเกสรสั้นมาก ตั้งหรือทอดนอน อับเรณูมี 2 ช่อง ยาวมากกว่าหรือเท่ากับความยาวของจะงอย กลุ่มเรณู 2 หรือ 4 กลุ่ม เชื่อมติดกันอยู่บนแป้นก้านกลุ่มเรณู อาจมีหรือไม่มีก้าน รังไข่เกลี้ยง ในประเทศไทยพบ 30 สกุล ตัวอย่างเช่น สกุลนางอั้ว (Habenaria), สกุล Goodyera, สกุล Siridhornia, สกุล Zeuxine เป็นต้น
วงศ์ย่อย Vanilloideae
เป็นกล้วยไม้ขึ้นบนดินหรือกล้วยไม้กินซาก อายุหลายปี เจริญทางด้านข้างหรือเจริญทางยอด ลำต้นตั้งหรือทอดเลื้อย ใบ 1 ถึงหลายใบ เรียงสลับหรือเรียงเวียน แผ่นใบหนาและอวบน้ำ อาจลดรูปขนาดเล็กหรือไม่มี ดอกเป็นดอกเดี่ยว หรือช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงแยกกันและกางออก กลีบดอกแยกกันและกางออกหรือโค้งไปด้านหลัง บางชนิดเชื่อมติดกันคล้ายหลอด กลีบดอกมีลักษณะคล้ายกลีบเลี้ยง กลีบปากส่วนปลายเชื่อมรวมกับเส้าเกสรเป็นหลอด ปลายกลีบปากไม่เป็นแฉกหรือเป็น 3 แฉก มีขนหรือเกล็ด เส้าเกสรเรียวยาวและโค้งลง อับเรณูอยู่ที่ปลายเส้าเกสร บางชนิดออกเป็นคู่ เรณูคล้ายผงแป้ง อับเรณูเป็นแบบกลุ่มละหนึ่ง (monads) หรือกลุ่มละสี่ (tetrads) รังไข่มี 1 หรือ 3 ช่อง ในประเทศไทยพบ 5 สกุล ตัวอย่างเช่น สกุล Vanilla, สกุล Galeola เป็นต้น
วงศ์ย่อย Epidendroideae
เป็นกล้วยไม้ขึ้นบนดิน ขึ้นบนหิน หรือกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอดหรือเจริญทางด้านข้าง รากแตกแขนงสั้น ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า มีข้อจำนวนมาก รูปทรงกระบอก ลำต้นเหนือดินเป็นหัวเทียม ใบเรียงสลับ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังหรือบางคล้ายกระดาษ เรียบหรือพับจีบ บางชนิดใบลดรูปเป็นเกล็ด หรือไม่มีใบ ดอกเดี่ยว ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามข้อ พบน้อยที่ออกที่ยอด กลีบเลี้ยงและกลีบดอกแยกกัน รูปร่างคล้ายกัน กลีบปากใหญ่ มีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละสกุล เส้าเกสร ส่วนมากเกลี้ยง บางครั้งเส้าเกสรมีปีก ฝาปิดกลุ่มเรณูเมื่อแก่ร่วงง่าย อับเรณูประกับหลัง (incumbent) กลุ่มเรณูมี 2, 4 หรือ 8 กลุ่ม เป็นก้อนแข็ง ผิวเป็นมันคล้ายขี้ผึ้งเคลือบ แต่ในบางสกุลกลุ่มเรณูนิ่มเป็นผงคล้ายแป้ง กลุ่มเรณูแต่ละกลุ่มติดกันบนแป้นก้านกลุ่มเรณู ในประเทศไทยพบประมาณ 120 สกุล ตัวอย่างเช่น สกุลหวาย (Dendrobium), สกุลสิงโต (Bulbophyllum), สกุลช้างงาเดียว (Thunia) เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
1. ก่องกานดา ชยามฤต. 2541. คู่มือจำแนกพรรณไม้. บริษัทไดมอนด์พริ้นติ้ง จำกัด, กรุงเทพฯ
2. วรชาติ โตแก้ว, ประนอม จันทรโณทัย และ พงษ์ศักดิ์ พลเสนา. 2558. กล้วยไม้ในอุทยานแห่งชาติ น้ำหนาว. ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
3. อบฉันท์ ไทยทอง. 2549. กล้วยไม้เมืองไทย. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด, กรุงเทพฯ.
4. Chan, C. L., A. Lamb, P. S. Shim and J. J. Wood. 1994. Orchids of Borneo Vol. 1. Royal Botanic Gardens, Kew, England.
5. Dressler, R. L. 1993. Phylogeny and Classification of the Orchid Family. Cambridge University Press, England.
6. Pedersen, H. A., H. Kurzwell, S. Suddee and P. J. Cribb. 2011. Orchidaceae 1 (Cypripedioideae, Orchidoideae, Vanilloideae). In T. Santisuk and K. Larsen, eds. Flora of Thailand Vol. 12(1). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
7. Pridgeon, A.M., P.J. Cribb, M.W. Chase and F.N. Rasmussen. 1999. Genera Orchidacearum. Vol. 1. Oxford University Press Inc., New York.
8. Seidenfaden, G. and J. J. Wood. 1992. The Orchids of Peninsular Malaysia and Singapore. Olsen & Olsen, Fredensborg.
9. Vermeulen, J. J. 1991. Orchids of Borneo Vol. 2 Bulbophyllum. Royal Botanic Gardens, Kew, England.

 

 

 

 

 

 24,560 total views,  3 views today

Tags: , ,