พยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็กในประเทศไทย

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2558, โครงสร้างและหน้าที่ของสัตว์ (Animal structure and function)

    พยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็กในประเทศไทย

(Minute intestinal trematode In Thailand)

โดย ดร. ฐาปนา ชลธนานารถ

             พยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็ก (minute intestinal trematode) ที่มีรายงานการระบาดในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์ Heterophyidae มี 5 ชนิด คือ Haplorchis taichui   H. pumilio   Centrocestus  formosanus Stellantchasmus falcatus และ Haplorchoides sp.  ซึ่งติดต่อถึงคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมได้โดยการรับประทานปลาปรุงไม่สุก พยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็กในลำไส้กลุ่มนี้  มีลักษณะที่สำคัญคือ ลำตัวแบนเป็นรูปหยดน้ำ (pyriform) มีหนามปกคลุมตลอดลำตัว มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร อวัยวะยึดเกาะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1)  oral sucker อยู่ปลายสุดทางด้านหน้าของลำตัว (2) ventral sucker อยู่กลางลำตัว  ลำไส้มีผนังหนา แยกออกเป็น 2 ทาง (bifurcate)  มีโครงสร้างพิเศษ เรียกว่า ventrogenital sac ซึ่งเป็นช่องเปิดรวมของระบบสืบพันธุ์ร่วมกับ ventral sucker (ภาพ 1)      

              

          พยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็กมีวงชีวิตที่ซับซ้อน เนื่องจากต้องใช้โฮสต์ หรือ เจ้าบ้านอย่างน้อย 2 ชนิดในการเจริญเติบโตจนเป็นระยะตัวเต็มวัย ได้แก่ (1) “โฮสต์กึ่งกลาง (intermediate host)” หมายถึง  โฮสต์ที่มีปรสิตระยะตัวอ่อนอาศัยอยู่ และเป็นระยะที่มีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ  และ (2) “โฮสต์เฉพาะ (definitive host)” หมายถึง โฮสต์ที่มีปรสิตระยะตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ และเป็นระยะที่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (ภาพ 2)

           เมื่อไข่ (egg) ของพยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็กในโฮสต์เฉพาะ (ส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก รวมทั้งมนุษย์) ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว จะหลุดปนออกมาพร้อมอุจจาระของโฮสต์เฉพาะ หากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนระยะไมราซิเดียม (miracidium) มีรูปร่างขนาดเล็กคล้ายโพรโทซัว ซึ่งมีลักษณะส่วนหน้าลำตัวกว้าง ส่วนท้ายแคบ มีซิเลียปกคลุมตลอดลำตัวใช้ในการเคลื่อนที่  ไมราซิเดียมจะดำรงชีวิตอิสระในน้ำระยะหนึ่ง  แล้วจึงเคลื่อนที่ไปหาโฮสต์กึ่งกลางตัวที่หนึ่ง (primary intermediate host) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหอยเจดีย์ในวงศ์ Thiaridae แล้วจึงพัฒนาต่อเป็นระยะสปอโรซีสต์ (sporocyst) อย่างรวดเร็ว ตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในระยะนี้มีลักษณะเป็นถุง ภายในมีเซลล์ขนาดเล็กที่เรียกว่า germ ball ที่แบ่งตัวได้หลายครั้ง จากนั้นจึงพัฒนาเป็นระยะเรเดีย (redia)  มีลักษณะเป็นถุงหรือกระสวยที่ประกอบด้วยอวัยวะยึดเกาะอยู่บริเวณปากซึ่งเชื่อมต่อกับะบบทางเดินอาหาร ภายในลำตัวของเรเดียจะแบ่งตัวเป็นตัวอ่อนพยาธิใบไม้ระยะต่อไป คือ ระยะเซอร์คาเรีย (cercaria)  (ภาพ 3 )

        

               เมื่อเซอร์คาเรียเจริญเต็มที่  จะออกจากเรเดียทาง birth pore  และอยู่ในตัวหอยระยะหนึ่ง  ขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิใบไม้  แล้วจึงไชออกจากหอยไปหาโฮสต์กึ่งกลางตัวที่สอง (secondary intermediate host) ซึ่งมักเป็นปลาเกล็ดขาววงศ์ Cyprinidae  โดยเซอร์คาเรียจะสลัดหางทิ้งแล้วสร้างผนังหุ้มตัวเกาะอยู่ตามอวัยวะของปลา เช่น เหงือก เกล็ด ครีบ และกล้ามเนื้อ เรียกระยะนี้ว่า ระยะเมตาเซอร์คาเรีย (metacercaria) ซึ่งเป็นระยะติดต่อ (infective stage)   (ภาพ 4)  เมื่อโฮสต์เฉพาะเข้ามากินปลาที่มีระยะเมตาเซอร์คาเรียอยู่จะทำให้พยาธิใบไม้กลุ่มนี้พัฒนาเป็นระยะตัวเต็มวัย  โดยการออกจากผนังหุ้มตัวไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของโฮสต์  และพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยในที่สุด 

          

             

                 จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า โฮสต์กึ่งกลางอย่างหอยน้ำจืดและปลาเกล็ดขาวมีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายของพยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็ก ซึ่งจากการศึกษาการติดเชื้อตัวอ่อนระยะเซอร์คาเรียของพยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็กวงศ์ Heterophyidae ในหอยฝาเดียวในประเทศไทยช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา  พบว่ามีค่าความชุกของการติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง และภาคอีสาน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีระบบนิเวศหลากหลาย ประกอบกับมีแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทยอยู่จำนวนมาก เช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ในภาคเหนือ แม่น้ำมูล และโขง ในภาคอีสาน และแม่น้ำเจ้าพระยา ในภาคกลาง พื้นที่ทางการเกษตรในบริเวณเหล่านี้จึงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีความหลากหลายทางชีวภาพของโฮสต์กึ่งกลางมากยิ่งขึ้น และประชากรมนุษย์ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขอย่างเพียงพอ ทั้งยังนิยมบริโภคอาหารปรุงไม่สุก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็กเจริญเติบโต และส่งผ่านระหว่างโฮสต์กึ่งกลางไปยังโฮสต์เฉพาะได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  ทั้งนี้ การติดเชื้อตัวอ่อนพยาธิใบไม้ระยะเซอร์คาเรียขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระบบนิเวศที่หอยอาศัยอยู่  ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยกายภาพ ได้แก่ ความเร็วของกระแสน้ำ (velocity)  ความเป็นกรด-เบส (pH) ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (dissolve oxygen: DO)  ค่าการนำไฟฟ้า (conductivity) และปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ ชนิดและจำนวนของหอยฝาเดียว พฤติกรรมการบริโภคอาหาร  

              อย่างไรก็ตาม  โฮสต์กึ่งกลางแต่ละชนิดมีความเหมาะสมต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็กที่แตกต่างกัน ดังตารางที่ 1

              จะเห็นได้ว่า โฮสต์กึ่งกลางตัวที่หนึ่งและสอง อย่างหอยฝาเดียวและปลาน้ำจืดมีความสำคัญทางสาธารณสุขเป็นอย่างมาก เนื่องจากหอยฝาเดียว และปลาน้ำจืดมีบทบาทสำคัญในการเป็นโฮสต์กึ่งกลาง และนำพยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็กสู่โฮสต์เฉพาะ เช่น สัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจ รวมถึงมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ปศุสัตว์  หรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งมีโอกาสได้รับพยาธิชนิดต่างๆ ผ่านโฮสต์กึ่งกลางได้ง่าย เพราะการติดพยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็กจำนวนมากในมนุษย์ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่าง ๆ สามารถก่อให้เกิดโรค heterophyiasis ซึ่งเกิดจากการที่พยาธิฝังตัวลึกลงไปในส่วน villi ของลำไส้เล็ก ก่อให้เกิดการอักเสบและการระคายเคือง ท้องร่วง  รวมทั้งเกิดการบวมน้ำ (edema) ที่บริเวณส่วนปลายของ villi ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการคั่งของเลือด และทำให้ความยาวของ  villi ลดลง สำหรับพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นจะแปรผันตามจำนวนของพยาธิ   นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพยาธิใบไม้ในกลุ่มนี้  อาจสามารถไชและหลุดเข้าไปในกระแสเลือดแล้วเข้าสู่ระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น สมอง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ อวัยวะภายใน เช่น ตับ ปอด ม้าม เป็นต้น ซึ่งสามารถก่อให้เกิดพยาธิสภาพอย่างรุนแรงได้

                 ดังนั้น การป้องกันการระบาดของพยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็กในหอยฝาเดียวและปลาเกล็ดขาว จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ชุมชนเรื่องวงชีวิตของพยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็ก พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ  และขอความร่วมมือจากชุมชน ให้ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ สำหรับผู้ถูกพบว่าติดพยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็ก หรือมีโอกาสเสี่ยงในการติดพยาธินั้นควรได้รับการแนะนำให้พบแพทย์  เพื่อป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง ที่เกิดจากพยาธิใบไม้ในลำไส้ขนาดเล็ก  และรณรงค์ให้สร้างห้องสุขาอย่างถูกหลักสุขาภิบาลเป็นอันดับต่อไป

 

รายการอ้างอิง

 ชโลบล วงศ์สวัสดิ์. 2552. ปรสิตวิทยา. ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ชมพูการพิมพ์. เชียงใหม่.

นิมิตร มรกต และ เกตุรัตน์ สุขวัจน์. 2546.  ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ โปรโตซัวและหนอนพยาธิ. ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่.

ประยงค์ ระดมยศ, อัญชลี ตั้งตรงจิตร, ศรีวิชา ครุฑสูตร, พลรัตน์ วิไลรัตน์ และ ศรชัย หลูอารีย์สุวรรณ. 2547. Atlas of Medical Parasitology. พิมพ์ครั้งที่ 7. หจก. ภาพพิมพ์. กรุงเทพฯ.

สุลักษณ์ อยู่คง, ดวงเดือน ไกรลาศ, ธัญญารัตน์ แดงประเสริฐ และ สมโภช สัจจธรรมธวัช. 2546. การศึกษารูปร่างลักษณะตัวอ่อนระยะเซอร์คาเรียของพยาธิใบไม้ที่ได้จากหอยน้ำจืด บริเวณน้ำตกเอราวัณ อุทธยานแห่งชาติน้ำตกเอราวัณ. สถาวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร. นครปฐม.

วิวิชชุตา เดชรักษา. 2549. การติดเชื้อตัวอ่อนพยาธิใบไม้ระยะเซอร์คาเรียของหอยน้ำจืดวงศ์ Thairidae ในภาคเหนือของประเทศไทย. วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์. นครปฐม.

Bogéa T. Corddeiro F. M. and Gouveia J. S. 2005. Melanoides tuberculata (Gastropoda: Thiaridae) as intermediate host of Heterophyidae (Trematoda: Digenea) in Rio de Janeiro Metropolitan Area, Brazil. Rev Ins Med Trop S Paulo., 47(2): 87-90.

Boonchot K. and Wongsawad C. 2005. A survey of helminthes in cyprinoid fish from the Mae Ngad Somboonchon reservoir, Chiang Mai province, Thailand. Southeast Asian J Trop Med Public Health., 36(1): 103-107.

Chai J.Y. and Lee S.Y. 2002. Food-borne Intestinal Trematode Infections in the Republic of Korea. Parasitol International. 51(1): 129-154.

Chontananarth T. and Wongsawad C. 2010a. Prevalence of Haplorchis taichui in field-collected snails : A molecular approach. Korean J Parasitol. 48(1):343-6.

Chontananarth T. and Wongsawad C. 2010b. Haplorchis taichui infection of the freshwater snails and molecular identification. Trend Res Sci & Tec., 2(1): 7-12.

Chontananarth T. 2013. Geographic distribution of Thrematodes, Haplorchis taichui and H. pumilio in intermediate host snail from northern Thailand and development of specific primers for Cytochrome c oxidase gene. Ph.D. dissertation, Chiang Mai University, Chiang Mai. Thailand.    

Chontananarth T. and Wongsawad C. 2013. Epidemiology of cercarial stage of trematodes in freshwater snails  from Chiang Mai Province, Thailand. Asian Pac J Tropmed., 3(3): 237-243.

Chuboon S. and Wongsawad C. 2009. Molecular identification of  larval trematode in intermediate hosts from Chiang Mai, Thailand. Southeast Asian J Trop Med Public Health., 40(6): 1216-1220.

Dechruksa W., Krailas D., Ukong S., Inkapatanakul W. and Koonchornboon T. 2007. Trematode infections of the freshwater snail family Thiaridae in the Khek river, Thailand.  Southeast Asian J Trop Med Public Health., 38(6): 1016-1028.

Krailas D.,  Namchote  S. and Rattanathai P. 2011. Human intestinal flukes Haplorchris taichui and Haplorchris pumilio in their intermediate hosts, freshwater snails of the families Thiaridae and Pachychilidae, in southern Thailand. Zoosyst Evol., 87: 349-60.

Krailas D., Chotesaengsri S., Dechruksa W., Namchote S. Chuanprasit  C.,Veeraveebsakij N., Boonmekam D. and Koonchornboon T. 2012. Species diversity of aquatic mollusks and their cercarial infections; Khao Yai National Park, Thailand. J Trop Med Parasitol., 35: 37-43.

Kumchoo K., Wongsawad C., Chai J.Y., Vanittanakom P. and Rojanapaibul A. 2005. High prevalence of Haplorchis taichui metacercariae in cyprinoid fish from Chiang Mai Province, Thailand. Southeast Asian J Trop Med Public Health., 36(2): 451-455.

Mard-arhin N., Prawang T. and Wongsawad C. 2001. Helminths of freshwater animals from five provinces in northern Thailand. Southeast Asian J Trop Med Public Health., 32(2): 206-214.

Wongsawad C., Wongsawad P., AnuntalBHOCHAI s. AND Chai JY. 2013. Occurrence and molecular identification of liver and minute intestinal flukes metacercariae in freshwater fish form Fanf-Mae Ai agricultural basin, Chiang Mai province, Thailand. Asian Biomedicine., 7(1): 97-104.

 

 31,036 total views,  12 views today

Tags: , , , ,