การตอบสนองทางสรีรวิทยาต่อความเครียด

เขียนโดย pwein เมื่อ . หัวข้อ frontpage, คลังความรู้, ชีววิทยา, บทความ, บทความปี 2558, บุคคลทั่วไป, วิทยาศาสตร์

เรื่อง การตอบสนองทางสรีรวิทยาต่อความเครียด

นางสาวปาณิก เวียงชัย

          การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ  ล้วนมาจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากประสบ สำหรับการแก้ไขปัญหาก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่จะเลือกใช้วิธีการจัดการกับปัญหาต่างๆ ซึ่งอาจมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป

          ปัญหาต่างๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขแต่เก็บสะสมกันเป็นเวลานาน ก็จะทำให้เกิดความเครียด (stress) ขึ้นได้ ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ความเครียดเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเหตุใดปัญหาความเครียดจึงจัดเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต

           ความหมายของความเครียด (stress)

          Hans Selye ได้ให้คำจำกัดความว่า “ความเครียดเป็นกลุ่มอาการตอบสนองของร่างกายที่เกิดขึ้นอย่างไม่จำเพาะเจาะจงต่อสิ่งที่มาคุกคามหรืออันตราย โดยสิ่งนั้นมีสาเหตุหรือผลมาจากสิ่งที่พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์ก็ตาม”

          อีกความหมายหนึ่งคือ ความเครียด คือการตอบสนองทางสรีรวิทยา (physiological) และทางจิตวิทยา (psychological) ต่อการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญหรือสิ่งที่ไม่คาดคิดในการดำรงชีวิต ซึ่งเกิดได้จากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในร่างกาย

          ประเภทของความเครียด แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1)   ความเครียดเฉียบพลัน (acute stress) เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นกระทันหัน เช่น การตกใจจากเสียงดัง ร่างกายพบสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ได้แก่ ความร้อน ความเย็น ความเครียดประเภทนี้ร่างกายจะค่อยๆ ปรับให้เข้าสู่ภาวะปกติได้เอง ซึ่งเป็นการรักษาดุลยภาพ (homeostasis) ของร่างกายมนุษย์ให้อยู่ในภาวะปกติ

2)   ความเครียดเรื้อรัง (chronic stress) เป็นความเครียดที่สะสมเป็นระยะเวลานาน เช่น ปัญหาในครอบครัว ปัญหาในการทำงาน ความเครียดประเภทนี้ขจัดออกได้ยากหากปล่อยทิ้งไว้นานมักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เนื่องจากร่างกายไม่สามารถรักษาดุลยภาพให้อยู่ในภาวะปกติเองได้ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และบุคลิกภาพ อาการของความเครียดนี้จะรุนแรงกว่าความเครียดชนิดที่ 1 หากเป็นมากต้องเข้าพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา

สาเหตุของความเครียด

สาเหตุของความเครียดมีได้หลากหลาย แต่สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

    1) ด้านร่างกาย เช่น การเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ

        2) ด้านจิตใจ เช่น ความกลัวต่อสิ่งต่างๆ ความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด

        3) ด้านสังคม เช่น ปัญหาการปรับตัวในสังใหม่ ความขัดแย้งในครอบครัว การเปลี่ยนงาน

เมื่อมีความเครียดไม่ว่าจะเป็นความเครียดเฉียบพลันหรือความเครียดเรื้อรังเกิดขึ้น จะส่งผลให้ร่างกายมีการตอบสนองต่อความเครียดทางสรีรวิทยา (physiological stress response) ในแบบต่างๆ ซึ่งกลไกการตอบสนองนี้ถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนวัติ (autonomic nervous system) และฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland hormone)  แสดงได้ดังภาพที่ 1


ภาพที่ 1 กลไกการตอบสนองต่อความเครียดทางสรีรวิทยา

ที่มา : ดัดแปลงจาก Shier, David., et al.  Hole’s essentials of Human Anatomy &Physiology. 10Th

         

            การตอบสนองทางสรีรวิทยาต่อความเครียดเกิดจากปฏิกิริยาที่เรียกว่า “การตอบสนองต่อความเครียด (stress response)”หรือ “การปรับตัว (general adaptation syndrome)” ปฏิกิริยาดังกล่าวประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 

          1. ระยะเตรียมพร้อม (alarm stage) เกิดร่างกายรับรู้ถึงอันตรายนั้น โดยร่างกายจะเตรียมพร้อมสำหรับจัดการกับอันตรายแบบอัตโนมัติ ทำให้ร่างกายเกิดอาการที่เรียกว่า“สู้ หรือ หนี (fight or flight)” ซึ่งควบคุมด้วยฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อและระบบประสาท

          2. ระยะต่อต้าน (resistance stage) ร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาเพื่อพยายามต่อต้านกับความเครียดเพื่อให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล

          3. ขั้นหยุดการทำงาน (exhaustion stage) ถ้าร่างกายตกอยู่ภายใต้ภาวะความเครียดเป็นระยะเวลานาน การปรับสมดุลในขั้นตอนที่ 2 ไม่สามารถทำให้ร่างกายรักษาภาวะสมดุลได้ ระบบต่างๆในร่างกายจะทำงานหนักอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีการพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้าได้

เมื่อเกิดความเครียดขึ้น สมองส่วนไฮโพทาลามัสจะกระตุ้นประสาทซิมพาเทติกทำให้ต่อมหมวกไตส่วนใน (adrenal medulla) หลั่งเอพิเนฟริน (epinephrine) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ออกมา ทั้งนี้ปลายเส้นใยประสาทซิมพาเทติกเองยังหลั่งนอร์เอพิเนฟรินด้วย ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น หายใจเร็วขึ้น ม่านตาขยาย อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น แรงดันเลือดสูงขึ้น เลือดไปเลี้ยงที่กล้ามเนื้อลายมากขึ้น เป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมที่จะสู้หรือหนี

แต่หากความเครียดนั้นเกิดสะสมอยู่เป็นระยะเวลานานสมองส่วนไฮโพทาลามัสจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคโทรพิน รีลีสซิ่ง (corticotropin-releasing hormone (CRH)) ไปกระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้หลั่งฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรพิก (adrenocorticotropic hormone (ACTH)) ออกมา โดยฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นต่อมหมวกไตส่วนนอก (adrenal cortex) ให้หลั่งคอร์ติซอล (cortisol) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายค่อยๆ ปรับตัวเพื่อรักษาสภาพของร่างกายให้เป็นปกติโดยต่อต้านต่อความเครียด ส่งผลให้ร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่น มีความดันเลือดสูงขึ้น  กรดอะมิโนในเลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น ร่างกายปล่อยกรดไขมันเพิ่มขึ้น สร้างกลูโคสจากสารที่ไม่ใช่กลุ่มคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้น ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลงจึงเจ็บป่วยได้ง่าย และหากมีคอร์ติซอลในปริมาณมากจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดตีบ และเกิดแผลในทางเดินอาหารหรือโรคอื่นๆ ได้

          ผลกระทบของความเครียด ส่งผล 3 ด้าน ได้แก่

     1) ด้านร่างกาย ทำให้ความดันเลือดสูง หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน เกิดการหลั่ง HCl ในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ  เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย หากความเครียดสะสมเป็นระยะเวลานาน จะทำให้สุขภาพแย่ลง เนื่องจากคอร์ติซอลที่หลั่งออกมาปริมาณมาก ซึ่งคนที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นผิดปกติ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

        2) ด้านจิตใจและอารมณ์ ทำให้ขาดสมาธิและความระมัดระวัง หลงลืม ไม่สนใจสิ่งรอบตัว  สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง หากเครียดเป็นระยะเวลานาน จะทำให้หลั่งคอร์ติซอลเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เซลล์ประสาทที่สมองฝ่อและลดจำนวนลง ส่งผลต่อสติปัญญาและความจำ หรือมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวลมากกว่าปกติ

        3) ด้านพฤติกรรม อาจมีพฤติกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น มีอาการหิวตลอดเวลา  เบื่ออาหารนอนหลับยากหรือนอนไม่หลับหลายคืนติดต่อกัน บางคนอาจเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ผิด เช่น ดื่มเหล้า ติดยา เล่นการพนัน ก้าวร้าว ทำร้ายตนเองและผู้อื่น

วิธีการป้องกันหรือการจัดการกับความเครียด

เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด เราต้องปรับตัวและเผชิญกับความเครียดนั้นให้ได้ วิธีการจัดการกับความเครียดนั้นมีหลายวิธี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ

      – ต้องรู้ตัวว่าตนเองกำลังเครียด

           – พยายามทบทวนและหาสาเหตุของความเครียด

 – เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด

โดยวิธีการจัดการกับความเครียด ตามเอกสารคู่มือการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงาน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำไว้ว่า

1. เมื่อมีความเครียด ให้หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ ออกกำลังกาย ฟังดนตรีคลายเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ คิดในแง่บวก ยอมรับการเปลี่ยนแปลง หรือหาคนปรับทุกข์

2. ฝึกปฏิบัติผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เพราะในขณะที่เกิดความเครียด กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายจะหดเกร็งและจิตใจจะวุ่นวายสับสน เช่น การฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ การฝึกการหายใจ การนั่งสมาธิ การใช้เทคนิคความเงียบ (การหาที่สงบนั่งหรือนอนให้สบายหลับตาและทำใจให้เป็นสมาธิ) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ wwwnpo.moph.go.th/hpdnb/word/Tumngan.doc)

          แม้ว่าความเครียดจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจ แต่ความเครียดก็ยังมีข้อดีอยู่อีกอย่างคือ ทำให้เราเกิดความมุ่งมั่นในการเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้น ช่วยในการทำงานต่างๆ ดังกฎของเยอร์คส-ด็อดสัน (Yerkes-Dodson Law) ที่อธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเครียด (stress level) กับสมรรถภาพ (performance) ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ โดยแสดงให้เห็นว่าหากบุคคลที่มีระดับความเครียดในระดับที่เหมาะสมจะช่วยกระตุ้นสมรรถภาพในการทำงานออกมาได้สูงที่สุด แต่หากมีความเครียดในระดับต่ำก็จะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีความกระตือรือร้น ทำให้มีสมรรถภาพการทำงานต่ำ หรือหากมีความเครียดในระดับที่สูงเกินไปก็จะทำให้สมรรถภาพในการทำงานลดลงได้ เกิดผลเสียต่อการทำงาน ส่งผลเสียต่อสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ (ภาพที่ 2)

 

ภาพที่ 2 กราฟแสดงกฏของ เยอร์คส-ด็อดสัน (Yerkes-Dodson Law)

ที่มา : ดัดแปลงจาก http://slideplayer.us/slide/273297 ; Slide no.27

         

            เราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเครียดได้ เพราะในชีวิตประจำวันแต่ละคนต่างประสบปัญหาที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเครียดแตกต่างกัน อาจจะเครียดมากหรือเครียดน้อยไม่เท่ากัน แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นแล้ว เราควรรู้ว่าจะปรับตัวและเผชิญหน้ากับความเครียดนั้นอย่างไร เพื่อให้ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติและมีความสุข

 

เอกสารอ้างอิง

1. Campbell, N.A. and et al.  Biology.  9 th ed. Pearson Benjamin Cummings Publishing. San Francisco.  2011.  

2. Hahn, Dale B.  Payne, Wayne A.  Lucas, Ellen B.  Focus on Health.  10th ed. McGraw-

    Hill Companies, Inc.  New York.  2011.

3. Shier, David., Butler Jackie., Lewis Ricki.  Hole’s essentials of Human Anatomy 

   &Physiology.  10Th ed. McGraw-Hill Companies, New York.  2009.

4. คู่มือการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงาน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ความเครียด. (Online) Available:

    wwwnpo.moph.go.th/hpdnb/word/Tumngan.doc. (Retrieve April 28, 2014)

5. ไม่ปรากฏชื่อเรื่อง.  (Online) Available: http://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2010/6793/9/

    Chapter2.pdf. (Retrieve April 28, 2014)

6. ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์. ความเครียดและวิธีแก้ความเครียด. (Online) Available:

    http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=47. (Retrieve April 28,

     2014)

7. สุดสบาย  จุลกทัพพะ.  ความเครียด(Online) Available:http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-     

    pl/articledetail.asp?id=50 (Retrieve April 28, 2014)

8. Corticotropin-releasing hormone.  (Online) Available:http://en.wikipedia.org/wiki/

    Corticotropin-releasing_hormone. (Retrieve April 28, 2014)

9. Emotion and Motivation Chapter 12;Slide no.27 . (Online) Available:

    http://slideplayer.us/slide/273297/.  (Retrieve October 13, 2014).

 109,905 total views,  10 views today